ถือว่าเป็นคำถามยอดฮิตที่หลายคนพยายามหาคำตอบมานานแสนนาน

วันนี้ขออนุญาตเขียนตอบคำถามนี้ไว้ และให้หลักการง่ายๆเพื่อให้เข้าใจวิธีการเลือกที่ถูกต้อง

ถามใหม่อีกรอบนะ

Q : เลือกกองทุนทั้งที่ เอาของธนาคารไหนดีเอ่ย?

คำถามนี้ มีประเด็นที่ต้องแก้ไขความเข้าใจอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ที่เราเห็นพนักงานสาขา ขายกองทุนพ่วงประกันอยู่งกๆ โปรดจงรู้ว่า ทั้งสองผลิตภัณฑ์ มันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของธนาคารนะครับ ธนาคารแต่ละแห่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนขาย ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะขายของบริษัทลูกเป็นหลักอยู่แล้ว เช่น ธนาคารกสิกร ก็จะขายกองทุนของ บลจ.กสิกร หรือ ธนาคารกรุงศรี ก็ย่อมแนะนำกองทุนของ บลจ. กรงศรี เป็นหลัก แต่ถ้ากองทุนนั้นๆมันเจ๊ง หรือขาดทุนขึ้นมา ธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดทางกฎหมายนะครับ เพราะเป็นแค่ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ใช่บริษัทผู้ออกผลิตภัณฑ์ ประเด็นนี้ หลายคนยังสบสันอยู่เยอะ

ประเด็นที่ 2 การเลือกกองทุน ควรพิจารณา 2 เรื่องใหญ่ๆก่อน นั้นก็คือ 1) คุณภาพการให้บริการ+ความน่าเชื่อถือของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และ 2) ประสิทธิภาพของกองทุนรวม ว่าดีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น คำถามที่ถามว่า มีเงินก้อนเนิง จะซื้อกองทุนของที่ไหนดี คำตอบที่อาจได้ไปก็คือ ของที่นี่สิ… ของที่โน้นดีกว่า ….. มันคือคำถามที่ผิดครับ เพราะว่าคำตอบที่คุณได้ไป มันไม่ได้ตรงตามความต้องการลึกๆของคุณเองจริงๆ

คำถามที่ถูกต้องก็คือ

Q : จะเลือกกองทุนยังไงให้เหมาะกับตัวเองดี?

เพราะแต่ละ บลจ. มีจุดดี จุดด้อย มีทั้งกองทุนที่ควรถือ และกองทุนที่ไม่ควรเอามาเข้าพอร์ต แตกต่างกันไป ผมจึงแนะนำว่า อย่ายึดติดกับกองทุนที่ใดที่หนึ่ง แต่จงเลือกกองทุนที่ดีที่สุดของแต่ละที่จะดีกว่า สำหรับบทความนี้ ผมขอแนะนำกองทุนเด็ดๆในความเห็นของผม ของแต่ละ บลจ. ที่มีบริษัทแม่คือธนาคารใหญ่ๆนะครับ (ความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งมันอาจแตกต่างจากพวกคุณก็ได้นะ)

บลจ. กสิกรไทย

K-CHINA พาคุณไปลงทุนในหุ้นจีนผ่านกองแม่ Fidelity China Focus เลือกได้ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่หรือในฮ่องกง ถือว่าเป็นกองทุนจีนที่นักลงทุนนิยมในช่วงนี้ ขณะที่ผลตอบแทนระยะยาว ก็จัดว่าไม่เลวทีเดียว

K-FIXED เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง ที่เหมาะกับช่วงดอกเบี้ยขาลง มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ในขณะที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ กองนี้ ได้ 4 ดาวจาก Morningstar ด้วยนะ

บลจ.ไทยพาณิชย์

SCBSE เป็นกองทุนหุ้นไทย ที่เน้นลงทุนในหุ้น Mid Cap. ผลการดำเนินงานย้อนหลังที่ผ่านมาถือว่าเกาะกลุ่มบนของตาราง จากกองทุนหุ้นไทย 88 กอง SCBSE ติดอันดับ Top 1st quartile ในผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี 5 ปี และได้ดาวจาก Morningstar 4 ดาวอีกต่างหาก

บลจ.กรุงศรี

KF-HEALTHD เป็น FIF ลงทุนในกองแม่ที่ชื่อ JP Morgan Global Healthcare Fund เน้นลงทุนธุรกิจสุขภาพซึ่งเป็น Megatrend ยาวๆในอีก 10 ปีข้างหน้า
อ่านบทความเกี่ยวกับกองนี้อย่างละเอียดได้ที่ http://www.iammrmessenger.com/?p=647

KFLTFDIV ถือเป็นกองทุน LTF เรือธงของ บลจ. ที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวน่าสนใจ และมีเงินปันผลให้ทุกปี เป็นกองทุนที่ใครเป็นมนุษย์เงินเดือนและลงทุนกับกรุงศรี เป็นต้องรู้จักกันทุกคน แต่ผลการดำเนินงานในปีหลังนี่ ถือว่าน่าเป็นห่วงหน่อย เพราะยังถือกลุ่ม ICT ค่อนข้างหนัก ใครเชื่อว่าผ่านเรื่องประมูล 4G แล้วจะดีขึ้น กองนี้เลยครับสำหรับ LTF

บลจ.บัวหลวง

BKA หรือ กองทุนบัวแก้ว ผลการดำเนินงานย้อนหลังที่สม่ำเสมอ คงเส้นคงวา ไม่เน้นอุตสาหกรรมใดเป็นหลัก เปิดกองทุนมานานตั้งแต่ปี 2536 ทำให้ได้รับความไว้ใจจากนักลงทุนในการเป็นกองทุนหุ้นเพื่อการออมมาอย่างยาวนาน

BTP หรือกองทุนบัวหลวงทศพล เรียกได้ว่า น่าจะเป็นกองทุนหุ้นไทยที่เสี่ยงที่สุดในประเทศก็ว่าได้ เพราะถือหุ้นแค่ 10 ตัวไปตลอด แปลว่า เมื่อไหร่เลือกหุ้นถูกตัว ก็วิ่งแบบแซงเพื่อนในกลุ่มทิ้งไม่เห็นฝุ่น แต่ในทางกลับกัน หาก 1 ใน 10 ตัวที่เลือกดันพลาด หรือตลาดหุ้นกลายเป็นขาลง ก็ต้องยอมรับนะครับ High Risk High Return

บลจ.อื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในตัวอย่างข้างบนไม่ต้องน้อยใจนะครับ ไว้มีโอกาส จะพาไปรีวิวเรื่อยๆก็แล้วกัน

ประเด็นที่จะบอกก็คือ แต่ละ บลจ. มันอาจจะมีกองทุนที่เหมาะกับเรา หรือที่ตรงกับสไตล์การลงทุนขอบเราไม่เหมือนกัน มันไม่จำเป็นที่เราจะไปผูกปิ่นโตไว้กับ บลจ.ใด บลจ.หนึ่งตลอดชีวิต แล้วลงทุนกับเค้าทุกกองทุนครับ (คุณอยากทำอย่างนั้น จริงๆก็ไม่มีใครว่า แต่มันเสียโอกาสแค่นั้นเอง)

อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาก็คือ พอเราซื้อกับเค้าไป เค้าดูแลเราดีไหม คอยอัพเดทสถานการณ์ และอธิบายกองทุนให้เราเข้าใจอย่างจริงๆ หรือว่าแค่ขายของให้ได้ตามที่โดนเป้าโยนลงมา? อันนี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนเหมือนกัน บางครั้งเราอาจจะเจอที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำดีเหลือเกิน แต่ Performance กองทุนมันสู้เพื่อนไม่ไหว เราก็อาจจะยอมลงทุนกับเค้า เพราะได้ความรู้ และมีเพื่อนคู่คิดที่ดี อันนี้ก็ไม่ผิดแค่อย่างใดครับ

สรุป ถามคำถามให้ตรงจุด หลักการลงทุนคืออะไร และไม่ยึดติดกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง รวมถึง ขอให้คุณโชคดี เจอที่ปรึกษาที่ให้คำปรึกษาคุณอย่างจริงใจ เท่านี้ การลงทุนของคุณก็ประสบความสำเร็จไม่ยากครับ