บราซิล ถูกปรับลดอันดับเป็น ขยะ !!
แล้วมันหมายความว่าอัลไล??
ขยายความนะครับ วันนี้ Credit Rating Agency (CRA) เจ้าใหญ่ของโลกที่มีนามว่า S&P (ไม่ใช่ ร้านอาหารในไทย หรือ S&P500 ที่เป็นดัชนีตลาดหุ้นของอเมริกานะฮะ ทำไมต้องตั้งชื่อให้มันคล้ากันด้วยก็ไม่รู้เนอะ) ได้ประกาศ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศบราซิลลง จากเดิม BBB- เป็น BB+ ซึ่งในทางเทคนิค ถือว่า สูญเสียการเป็น Investment Grade เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบราซิล จะถือว่าเป็น “Junk Bond” หรือตราสารหนี้ขยะละครับ
ถึงแม้ว่า CRA อีกสองเจ้า อย่าง Moody’s และ Fitch ยังไม่ได้ประกาศอะไรออกมา แต่ลำพังแค่ S&P ประกาศออกมาก็ไม่ค่อยดีแล้วครับ เพราะกลายเป็นว่า หนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และพันธมิตรใหญ่ของจีน ที่อยู่ในกลุ่ม BRICs นั้น ปัญหาเศรษฐกิจดูจะฟื้นยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อสูญเสียความเป็น Investment Grade ไป ก็มีความเสี่ยงทันทีที่จะถูกเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยแพงขึ้น ต้นทุนทางการเงินของทั้งระบบจะสูงขึ้น แปลว่า ฟื้นยากขึ้นด้วย
สำหรับคนที่สงสัยว่าบราซิลมีปัญหาอะไร
อธิบายแบบนี้นะครับ บราซิลเอง ลงทุนกับฟุตบอลโลกไปเยอะ (แพ้คาบ้านรอบรอง) แล้วก็มีการโกงเรื่องบประมาณลงทุน ถึงแม้ Debt/GDP ของบราซิลจะไม่สูงเหมือนอย่างกรีซ แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในระดับ 10-12%ต่อปีนั้น มันช่างต่างจากกรีซที่กู้เป็นสกุล EUR และดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน
อีกเรื่องคือ ค่าเงินเรียล ของบราซิลอ่อนค่าอย่างหนัก ราวๆ 25% เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ มีเงินไหลออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤตราคาน้ำมัน และทำให้สินค้าโภคภัณฑ์อันเป็นกลไกสำคัญของบราซิลหยุดชะงักลงทุกอย่าง
ฝั่งการบริโภคภายในประเทศ พอราคาสินค้าหลักของประเทศตกต่ำ ก็มีการปลดคนงาน (อัตราว่างงานอยู่ที่ 7.5%) เดินออกมาประท้วงกันเป็นล้านๆ ไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย ที่มีงานทำก็ค่าแรงไม่ขึ้น เพราะกำไรบริษัทลดลง แต่ตัวเลขเงินเฟ้อก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
สิ่งที่ทำให้บราซิลดูแย่ลงไปอีกก็คือ การแฉกันเรื่องกรณีทุจริตใน “Petrobras” รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ (เหมือนๆ PTT บ้านเรา) มันทำให้นักลงทุนต่างชาติหมดความไว้ใจต่อการแก้ไขปัญหา และไร้ซึ่งความหวังไปอีกเยอะพอควร
วิกฤตที่บราซิลเจอ ณ วันนี้ นักเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่า รุนแรงสุดในรอบ 85 ปีทีเดียวนะครับ ฯ GDP Growth 2Q2015 ที่ผ่านมา ประกาศติดลบ -1.9% Recession ไปแล้วนะ
———————————————-
จริงๆเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในบราซิลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงนักลงทุนนะครับ แต่เพราะผลกระทบของเศรษฐกิจชะลอตัวในบราซิลมันไม่กระเทือนคนอื่นอย่างที่จีนเป็นอยู่ตอนนี้ (เนื่องจากจีนเป็นตลาดนำเข้าขนาดใหญ่ของโลก แต่บราซิลไม่ใช่)
ส่วนวิกฤตที่กรีซ ถึงแม้ขนาดเศรษฐกิจจะเล็ก แต่มันกระทบต่อเสถียรภาพ และการคงอยู่ของกลุ่มสมาชิกยูโรโซน และค่าเงิน EUR ที่เป็นสกุลสำคัญของโลกครับ
เวลาดูภาพรวมเศรษฐกิจ เราต้องอ่านผลกระทบกว้างๆให้ออกนะครับ ไม่งั้นเครียดแย่เลย แต่… นักลงทุนในตราสารหนี้ ตอนนี้ อาจจะเริ่มเสียวๆหนาวๆแล้วเหมือนกัน เพราะเหล่ากองทุนตราสารหนี้แบบล็อคผลตอบแทนในไทย พานักลงทุนไปเสี่ยงที่บราซิลไม่น้อยทีเดียว
———————————————-
ผมพาไปมองอีกมุมอีกกว่า การที่พันธมิตรจีน ยังไม่แข็งแรงเช่นนี้ เปิดโอกาสให้จีนมีอำนาจการต่อรองในกลุ่มสมาชิกเพิ่มขึ้น เช่น อาจจะให้ Finance บราซิลเป็นสกุลหยวน ไปเลยก็ได้ผ่าน New Development Bank (NDB) หรือ เราจะรู้จักกันในนาม BRICS Bank บวกกับการที่ หลี เค่อเฉียง ออกมาบอกว่า ไม่อยากเข้าร่วม Currency War (แปลว่า จะไม่พยายามทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า) นั้น เราต้องจับตาครับว่า จีนจะเล่นเกมส์ลดเงินทุนสำรอง (ทำ QT) ต่อไปหรือเปล่า หรือแค่พูดให้ตลาดเชื่อ แต่จริงๆอยากให้หยวนอ่อน? ก็คงต้องดูต่อไป
อีกมุมหนึ่งนะครับ การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ เราเห็นผลกระทบแล้วว่า ไม่น้อยทีเดียว
บางคนอาจคิดว่า เอ้ยยย สินค้าในท้องตลาดไม่เห็นมีใครลดราคา ถ้าต้นทุนมันถูกลง แสดงว่าเหล่าบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายควรมีแนวโน้มกำไรโตขึ้นสิ?
มันก็จริงส่วนใหญ่ครับ แต่ระบบทุนนิยมที่เอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มเดียว แล้วธุรกิจต้นน้ำเขาลำบาก และไปไม่รอด สุดท้าย มันก็แค่กำไรชั่วคราว เพราะอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจมันชะลอตัวลง
ถึงตรงนี้นะ ผมกลายเป็นยิ่งเชื่อกว่าเดิมว่า เศรษฐกิจโลกจะดูดีขึ้น ต้องเห็นราคาน้ำมันสูงขึ้น สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ดีขึ้น กลัวแต่จะว่า กว่าจะขึ้นได้ จะมีประเทศที่กลายเป็น ขยะ (Junk) ตามบราซิลไปอีกนี่สิ แล้วจะฟื้นกันยากนะขอบอก
ไทยเรา ก็ Credit Rating อยู่ตรง BBB+ (มากกว่า Invesent Grade 2 ระดับ) ถ้าภายในปีสองปีนี้ อะไรๆยังไม่ดีขึ้น ไม่รู้เหมือนกันว่า S&P เขาจะคิดกับประเทศเรายังไง แต่ยังไงซะ ผมก็ยังมีความหวังว่า เราจะไม่เดินตามรอยบราซิลครับ เรายังดีกว่าเขาในหลายมิติ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ
Mr.Messenger