เมื่อวานนี้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 ปี ที่ค่าเงินบาทไทย (THB) อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ดอลล่าร์สหรัฐฯ (USD) ไปถึง 36 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ
ถ้าลองย้อนกลับไปตอนต้นปี ใครซักคนกระซิบบอกนักลงทุนว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามาขนาดนี้ ผมเชื่อว่า ทุกคนก็คงคิดว่า ไม่ช้าก็เร็ว เศรษฐกิจไทยคงจะฟื้นแน่นอน เพราะ ค่าเงินบาทอ่อน น่าจะแปลว่าส่งออกของเราอยู่ในทิศทางดีขึ้นแน่ๆ
แต่จนถึงวันนี้ กลายเป็นว่า ค่าเงินบาทเราอ่อนค่าในอัตราใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆในตลาดเกิดใหม่ ความได้เปรียบด้านราคาจึงไม่ได้มีมากมายขนาดนั้น ดังนั้นตัวเลขส่งออกที่เป็นความหวังของ GDP Growth ในปีนี้ จึงยังไม่มาซักที
จริงๆแล้ว ผมเขียนบทความนี้ เพื่อจะกางดู ปัจจัยบวก ปัจจัยลบ ส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทของไทยในอนาคต ไม่ใช่มานั่งเดาว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นยังไงต่อนะครับ เพราะแชร์มาหลายบทความแล้วว่าผมมองยังไง เพื่อไม่ให้เสียเวลา ไปดูปัจจัยหลักๆ (ที่ผมคิดได้) ดูนะครับ
ปัจจัยหนุนให้ค่าเงินบาทไหลออกนอกประเทศ (อ่อนค่าต่อเนื่อง)
1. ต่างชาติยังกระหน่ำขายหุ้นใน Emerging Markets และหุ้นไทยมาต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าจะหยุดในวันสองวันนี้
2. ดอกเบี้ยของไทย อยู่ในจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หากจะลด ก็ลดได้อีกไม่มาก แปลว่า การที่ต่างชาติจะเข้ามาซื้อตราสารหนี้ในไทยแล้วหวังกำไรจากการ Mark to Market ถ้ามีการลดดอกเบี้ยอีกซักครั้งนั้นดูจะเสี่ยงเกินไป ไม่คุ้มเอาเงินเข้ามา
3. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย เมื่อไหร่ที่ขึ้น Bond Yield จะปรับตัวขึ้น หนุนให้เหล่ากองทุนที่เคยกู้ดอลล่าร์ออกมาลงทุนต่างประเทศ (Dollar Carry Trade) ทำการปิดความเสี่ยง (Unwind Position) ขายสินทรัพย์สกุลอื่น เพื่อกลับไปใช้หนี้สกุล USD ทำให้ความต้องการเงิน USD จะเร่งตัวขึ้นอีกบนสมมติฐานที่ว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยจริงๆ
4. เศรษฐกิจไทยที่ดูมีความเสี่ยงชะลอตัวไปอีก ล่าสุด โบรกฯต่างชาติอย่าง Credit Suisse ออกมาปรับเป้า GDP Growth ปี 2015 ของไทยเหลือ 2.0% และมีแนวโน้มที่โบรกฯอื่นอาจจะปรับลดตาม ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุน (เชิง Relative Valuation) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจลดลง ยกเว้นแต่ว่า ประเทศอื่นแย่กว่าเรามากๆ แบบนี้ ข้อ 3. ก็อาจจะตกไป
5. ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่อนปรนกฎเกณฑ์หลายอย่างเอื้อให้นักลงทุนรายย่อย และผู้ประกอบการ สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ซึ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เหล่าผู้ประกอบการอาจเลือกที่จะหาช่องทางกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศบางส่วน
ลมอาจเปลี่ยนทิศ และค่าเงินบาทอาจเป็นที่ต้องการ (กลับมาแข็งค่า) ถ้า…
1. อยู่ดีๆ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยฟื้นแบบที่ผิดจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เยอะๆ เช่น ตัวเลขส่งออกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
2. ค่าเงินหยวนของจีน มีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หยุดปรับตัวลดลง และการทำ QT ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ สามารถหยุดเงินไหลออกได้
3. สหรัฐฯ บอกว่า เศรษฐกิจตัวเองยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง และเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน หรือถ้าจะให้เงินบาทกลับมาแข็งจริงๆจังๆ เริ่มมีสาย Contrarian หวังว่า จะเห็น QE4 ด้วยซ้ำ แบบนี้ บาทแข็งแน่นอนครับ (หุ้นไทยก็อาจขึ้นด้วย หึหึ)
4. ถ้าดูมุมมองทางเทคนิคในกราฟรายสัปดาห์ระยะยาวหน่อย จะเห็นว่า THB/USD เคยทำจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2009 ที่ 36.31 THB/USD จุดนี้จึงน่าสนใจ เนื่องจาก เมื่อพิจารณาประกอบกับ RSI จะพบว่า RSI ขึ้นมาที่ Overbought Zone ระดับ 85.9 สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1998 ทีเดียว ดังนั้น มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะกลับทิศได้ทุกเมื่อครับ ซึ่งผมเองก็จินตนาการไม่ออกว่ามันจะกลับทิศได้อย่างไร
ให้มันกลับทิศจริงๆ เด๋วเหล่านักวิเคราะห์จะหาเหตุผลมาบอกเราเองครับว่าเพราะอะไร ตอนนี้ รู้แล้วนะ ว่ามีจุด 36.31 THB/USD ที่ต้องจับตา (อาจเผื่อ Error ไปที่ 36.50 THB/USD ก็ได้ เพราะถ้าอ่อนทะลุโซนนี้ไปจริงๆ โอกาสไปถึง 38 – 40 THB/USD ก็ไม่ยากครับ
Mr.Messenger