การรับมือกับความเครียดในช่วงตลาดผันผวน

การซื้อขายหุ้นที่เทรดเดอร์จะต้องติดตามราคาหุ้น ต้องคิดและตัดสินใจในแต่ละวัน ในสายตาคนภายนอกทั่วไปอาจจะดูเหมือนเป็นงานที่สบาย แท้จริงแล้วมันไม่ง่ายเช่นนั้น โดยเฉพาะในยามภาวะตลาดผันผวนสูง พฤติกรรมราคาไม่มีแนวโน้มที่แน่นอน โมเดลหรือกระบวนการเทรดที่เคยใช้ อาจจะเกิดภาวะผิดพลาด เกิดการขาดทุน นอกจากตัวเลข ขาดทุนสีแดงแปร๊ด แสบหัวใจในพอร์ตแล้วนั้น สิ่งที่เข้ามากระทบเต็มๆ คือเรื่องของ “ความเครียด”

ยิ่งขาดทุนบ่อย ขาดทุนมาก ความกดดัน ความเครียดย่อมเกิดมากตาม ยังไม่นับรวมการต้องแก้เกมส์ ทำกำไรชดเชยการขาดทุน เทรดเดอร์ต้องตัดสินใจซื้อขายหุ้นในช่วงเวลาที่จิตใจรับความกดดันจากผลก่อนหน้า ถ้ายิ่งเครียดและรับมือกับความเครียดไม่ดี สุดท้ายก็ไปไม่รอด ผลงานยิ่งแย่ สุขภาพจิต สุขภาพกายจะยิ่งเสียไปใหญ่

บทความนี้ผมจะมาแนะนำเคล็ดลับในการบริหารอารมณ์ทำจิตใจให้สงบ เพื่อรับมือกับความเครียดที่อาจจะเกิด ให้พวกเราได้ลองเรียนรู้กัน ผมเองได้เรียนรู้แนวคิดนี้มาจาก Dr. Daniel Levitin ซึ่งเขาเป็นนักประสาทวิทยา ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสมองและการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งคุณ Levitin ได้ถ่ายทอดความรู้นี้ในการบรรยาย TED Talk ในหัวข้อ How to stay calm when you know you’ll be stressed โดยมีประเด็นหลักที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังนี้

1. ตรวจสอบตัวเอง รับรู้ว่าเรากำลังเครียด

เมื่อตกในภาวะกดดันสมองสร้างสาร cortisol ออกมา ซึ่งเป็นพิษ และส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาเช่น ภาวะจิตใจที่สับสน ความวิตกกังวล ยับยั้งการคิดแบบเป็นเหตุผล ขาดการเรียบเรียงและคิดเป็นตรรกะ ไม่รอบคอบ ดังนั้นการตัดสินใจในสถานการณ์กดดันคับขัน (stressful situation) บนความเครียด ส่วนใหญ่ 80% จะทำให้ผลที่ออกมาผิดพลาด หรือเลวร้ายแย่ไปกว่าเดิม ตามมาด้วยอารมณ์โดยเฉพาะความโกรธ ความหงุดหงิด ดังนั้นเริ่มต้นควรจะพิจารณาตัวเรา ถึงระดับความเครียด (อาจจะมีระดับสเกล 1 ถึง 10) ถ้าความเครียดมาพร้อมกับอารมณ์โทสะ ฉุนเฉียว ไม่พอใจ ให้หยุด ละมือจากสิ่งที่ทำ แล้วตั้งสติทันที

2. The pre-mortem

คุณ Levitin อธิบายถึงทางแก้ปัญหากับการรับมือกับภาวะความเครียดไว้ด้วยวิธี The pre mortem หรือ การวางแผน ตรวจสอบสิ่งผิดพลาดที่อาจจะเกิดเพื่อรับมือล่วงหน้า ตรงนี้สำคัญเพราะถ้าเรามองโลกในมุมที่เปิด เข้าใจหลักของความน่าจะเป็น ตระหนักว่าผลการตัดสินใจของเรา อาจจะออกมาเป็นได้ทั้งผิดและถูก การวางแผนรับมือกับผลกระทบที่ตามมาจากผลของการตัดสินใจ โดยเฉพาะที่เกิดความผิดพลาด ล้มเหลวไว้ก่อนนั้นมันก็จะช่วยทำให้เรา ป้องกันความผิดพลาด หรือผ่านพ้นภาวะสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปได้ด้วยการตัดสินใจที่ดี ลดผลกระทบจากความสูญเสียที่เกิด

ตรงนี้ผมขอยกตัวอย่างในด้านการเทรดหุ้น แทนจะรอไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือพาตัวเองให้ต้องไปตัดสินใจในภาวะตลาดผันผวน ผจญกับความเครียด ลองใช้วิธีการวางแผนล่วงหน้าแบบหลักการเบื้องต้นคือการสร้างระบบเทรด (Trading System) เขียนมันลงในกระดาษ มีแผนการปฏิบัติที่แน่นอนว่าเราจะเข้าซื้อขายด้วยเงื่อนไขอะไร

ตามมาด้วย แผนการรับมือกรณีที่ได้กำไร (จะขายออกทำกำไรแค่ไหน) และแผนการรับมือกรณีที่เกิดความผิดพลาดขาดทุน ตรงนี้ใช้การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ประกอบ ออกแบบขนาดของการขาดทุนที่เรารับได้ไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นขนาดความเสี่ยงจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินทุนทั้งหมดหนักจนไม่มีโอกาสแก้ตัว สิ่งสำคัญวางขอบเขตการเทรดเอาไว้ด้วย เช่น ถ้าตลาดผันผวนหนัก พบว่าเกิดขาดทุนติดกันมากกว่า 2-3 ครั้ง เราอาจจะต้องหยุดเทรด หันมาทบทวนแผนการเทรด หรือการวิเคราะห์ราคาของเราเสียใหม่ ก่อนจะเริ่มเข้าไปเทรดต่อ

การทำการวางแผนล่วงหน้าแบบนี้ โดยเฉพาะคิดถึงการรับมือความผิดพลาดและการขาดทุนไว้เมื่อเกิดภาวะตลาดผันผวน หรือเกิดภาวะไม่ปกติ มันจะช่วยลดความเสียหายจากการตัดสินใจในภาวะความเครียดสูงซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดและการขาดทุนหนักไปได้

3. ทบทวนสิ่งที่เกิด

การรับมือกับความเครียด เป็นเหมือนทักษะ ยิ่งฝึกยิ่งทำก็จะยิ่งเก่ง นั้นหมายความว่าเราจะมีสติรู้ตัวเรา ระงับอารมณ์ความเครียดด้วยความสงบได้เร็ว รับมือและตอบสนองมันได้อย่างอัตโนมัติ ทุกครั้งเกิดภาวะคับขัน หรืออาจจะเผชิญช่วงตลาดผันผวน ถ้าเราจดบันทึกสิ่งที่เกิด โดยเฉพาะผลกระทบและความผิดพลาดที่เกิดมาทบทวน เพื่อปรับปรุงแผนรับมือล่วงหน้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ เราก็จะสามารถมีระบบสนับสนุนการตัดสินใจ และมีขั้นตอนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ

สรุปสุดท้ายจากคำแนะนำของ คุณ Daniel Levitin การรับมือกับความเครียดนั้น ทำได้ด้วยการวางแผนรับมือสิ่งที่จะเกิดล่วงหน้า ทั้งดีแล้วเลวร้าย แน่นอนว่าคนทั่วไปอาจจะไม่ต้องการคิดถึงภาพลบ คิดถึงการขาดทุนที่จะเกิด แต่การมองโลกตามความเป็นจริง ตระหนักถึงความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดได้ทุกทางนั้น ก็น่าจะช่วยทำให้เราสามารถผ่านพ้นภาวะคับขันและเอาตัวรอดในตลาดหุ้นที่ผันผวนไปได้ ด้วยการตัดสินใจที่ดีที่สุดครับ

โดย Mr.Chaipat

SaveSave