ย้อนกลับไปในช่วง 15 ปีที่แล้วผมมีโอกาสได้รู้จักกับเรื่องราวของ Gordon Gekko เจ้าของวลี Greed is good จากหนังยอดนิยมสุดคลาสสิกเรื่อง “Wallstreet” แม้ว่าชายคนนี้จะไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงบนโลก เขาเป็นเพียงตัวละครเอกที่นำแสดงโดยคุณ Michael Douglas แต่บทบาทที่โดดเด่นและเรื่องราวที่น่าสนใจก็ทำให้ได้เรียนรู้อะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับตลาดหุ้นไม่น้อย

Wall Street เป็นหนังด้านการเงินที่ถ่ายทอดเรื่องราวการชิงไหวชิงพริบ จ้องเอาชนะกันของนักล่ากำไรรายใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เกมส์การเงินในการสร้างผลประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นด้วยข้อมูลวงใน (insider) รวมถึงการเข้าครอบครองกิจการเพื่อชำแหละขายสินทรัพย์มีค่าของบริษัทเพื่อทำกำไร โดยในภาคแรกนี้ เราจะได้เห็นวิธีการทำเงินของ Gordon Gekko ที่ใช้เงินสร้างอิทธิพล หาข้อมูลเชิงลึกวงในสำหรับ insider trading แม้แต่การหลอกล่อ หว่านล้อมให้คนอื่นยอมทำทุจริตผิดกฏหมายเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายหรือความเดือนร้อนของคนอื่นๆ

Gordon Gekko เจ้าพ่อตลาดหุ้น ผู้ทรงอิทธิพลใน wall street

ในหนังเรื่องนี้ Bud Fox (นำแสดงโดยคุณ Charlie Sheen) นายหน้าค้าหุ้นหนุ่ม ที่ต้องการสร้างเงินสร้างฐานะ เพื่อมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงและการต้องเอาตัวรอดในตลาดวอลสตรีท ความโลภก็บังตาทำให้เข้าเลือกรวยทางลัด แล้วต้องตกเป็นเครื่องมือของ Gordon Gekko ทำให้ต้องยอมทำความผิดยอมทรยศคนรอบข้าง สูญเสียตัวตนตกเป็นทาสของเงิน แต่แล้วจุดสุดยอดของหนังก็บังมาเกิดเมื่อ Bud Fox ผู้หลงผิดได้สติแล้วหันมาหาทางแก้สิ่งที่ตนทำผิด หวังเอาคืนด้วยการล้มเจ้าพ่อตลาดหุ้นผู้มีทั้งเงินและอิทธิพลอย่าง Gordon Gekko

Wall Street เป็นหนังเป็นหนังระดับตำนานที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ด้วยตัวเรื่องที่ดูสนุกในแบบการลุ้นชิงไหวชิงพริบในสงครามการเงิน บวกกับแง่คิดที่แฝงให้เห็นถึงจุดจบของความโลภ ตัวร้ายที่ค่อยบ่อนทำลายบุคคลผู้หลงผิดได้เสมอ

ผมคงไม่ได้มาสปอยหรือรีวิวตัวหนัง Wall Street ทั้งสองภาคในบทความ เพียงแต่อยากมาแนะนำให้พวกเราลองหามาชม และที่สำคัญอยากจะแบ่งปันแนวคิดดีๆที่ผมสกัดได้จากการดูหนังเรื่อง Wallstreet หลายรอบเพราะความชอบส่วนตัว ขอย่อยเป็น 5 ข้อสำคัญดังนี้

1. ความโลภเป็นแรงขับดัน

คนส่วนใหญ่ 99% ไม่พึงพอใจสิ่งที่มี ถ้ายังมีกิเลส ก็ย่อมมีความโลภ การใช้ความโลภเป็นแรงขับดันไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนจะเป็นใจความที่ Gordon Gekko ยึดถือและนำเสนอมันออกมาต่อสาธารณะ ในฉากหนึ่งของหนังเป็นเหตุการณ์ตอนที่ Gordon Gekko ไปพูดในงานประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทหนึ่ง เขากล่าวว่า “Greed, for lack of a better word, is good.” สรุปนัยยะคือ ความโลภ มันคือแก่น จิตวิญญาณในวิวัฒนาการของมนุษย์ ความโลภจะเป็นแรงชับดันให้เกิดการพัฒนา หาหนทางในการทำให้ดีขึ้น มีมากขึ้นไปกว่าเดิม โลภทั้งเรื่องความรัก เรื่องเงิน เรื่องธุรกิจ ไม่ยอมจำนนให้กับชะตาชีวิตเท่าที่มี และเขากล่าวว่า ความโลภ(Greed) จะไม่ได้ช่วยแค่การรักษากิจการของบริษัทที่กำลังล้าหลัง แต่มันช่วยรักษาประเทศอเมริกาในระบบทุนนิยมให้ก้าวต่อไป

2. โลภมาก คือ หนทางสู่หายนะ

Gordon Gekko เชื่อสุดโต่งในความโลภของคน แต่เช่นเดียวกัน ความโลภที่ขับดันทำให้เกิดการแข่งขัน การวิ่งหาเงินหาประโยชน์แบบเกินพอดี จนไม่คำนึงถึงศีลธรรมความถูกผิด มันก็นำให้ไปสู่หายนะ ในหนัง Wallstreet ทำให้เราเห็นว่า ถ้าไม่อยากได้เกินตัว จนยอมตกเป็นทาสของเงินแลกทุกอย่างกับมันไม่สนใจผิดถูกแล้วนั้น ชีวิตจะพบกับความสุขที่แท้จริง แต่เมื่ออยู่ในโลกการเงิน อย่างตลาดหุ้น ถ้าปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำอารมณ์ การตัดสินใจผิดพลาด หรือการเดินในเส้นทางที่ผิด ก็ย่อมทำให้เราเสียหาย หรือพบกับจุดจบที่ไม่สวยได้เสมอ

3. ผู้แข็งแกร่งคือผู้อยู่รอด

ตลาดหุ้นคือการแข่งขัน ไม่ว่าจะระดับไหนการแย่งชิงความได้เปรียบกันทุกวิถีทาง เพราะการได้มาซึ่งกำไรหรือผลตอบแทนที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ผมชอบตอนที่ Gekko สอน เด็กหนุ่มอย่าง Bud Fox ให้เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ ให้ศึกษา ตำราพิชัยสงครามของซุนวู (Sun-tzu The Art of War) เพื่อให้เข้าใจภาวการณ์ เข้าใจคู่แข่ง และมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง สิ่งเหล่านี้มันคือเรื่องของการเตรียมความพร้อม เมื่อโอกาสมาถึง บวกกับการกล้าตัดสินใจจะทำให้ได้คว้าเอาชัยชนะมาสู่ตัวเอง

Bud fox นายหน้าค้าหุ้นหนุ่ม

4. เงิน ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าที่สุดในโลก

การเข้ามาในตลาดหุ้น เชื่อว่าทุกคนล้วนต้องการแสวงหาเงิน แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องพยายามระมัดระวังไม่ให้เงินมามีอำนาจเหนือตัวเรา ต้องตระหนักรู้ตลอดว่าเงินไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต และเงินซื้อความสุขทางจิตใจที่ยั่งยืนไม่ได้ ในเรื่องเราจะเห็น Bud fox พยายามแสวงหาเงิน พยายามขยับฐานะและความเป็นอยู่เพราะเขามาจากครอบครัวที่ยากจน แต่เมื่อมาถึงจุดมืดบอด จุดที่ไม่พอต้องการอยากได้เพิ่มไม่สิ้นสุด เขาจึงยอมให้เงินกลายเป็นตัวชี้นำชีวิต ไม่สนใจถูกผิดทำทุกทางเพื่อให้ได้มา

ฉากที่สะเทือนใจสุดคงเป็นฉากที่เขาเลือกหันหลังให้ พ่อและครอบครัวที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนเขามาตลอดหลายปี โดยเลือกที่จะแสวงหาเงินต่อไป โดยคิดว่าการทีเงินมาก ที่รถหรู มีอพาร์ตเมนต์ราคาแพง ทำให้เขาพบกับความสุขความสงบในชีวิต สุดท้ายเมื่อคิดได้ก็สายเกินไป

5. จงฝึกควบคุมอารมณ์

ในตลาดหุ้น เกมส์การเงินจะมีผู้ที่ได้เงินและเสียเงินเกิดขึ้นตลอดเวลา แน่นอนว่าทุกคนล้วนอยากจะได้เงิน ทำเงินทำกำไร แต่บางครั้งสิ่งที่ไม่อาจจะคาดเดาหรือผลการตัดสินใจที่ผิดพลาดก็นำมาซึ่งการชาดทุน การสูญเสียเงินได้ หัวใจคือการรับมือกับภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในกรณีสำคัญอย่างการขาดทุน ที่ต้องเผชิญกับความโกรธ ความผิดหวังเสียใจ หรือกรณีอารมณ์ความโลภ ความอยากได้กำไรแบบคนอื่น จุดนี้กลายเป็นหลุมพรางที่ทำให้ นักลงทุน นักเก็งกำไรในตลาดหุ้นถูกชี้นำ ถูกทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ตามอารมณ์ ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้ต้องขาดทุน ดังนั้นการฝึกฝนหาสติเพื่อเท่าทันและควบคุมอารมณ์ที่เกิดจากสิ่งเล้าในตลาด พิจารณาวิเคราะห์ด้วยปัญญาก่อนลงมือกระทำตอบสนอง จะช่วยทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นต่อไป

ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นแนวคิดเกี่ยวกับความโลภ ที่เราจะสามารถเห็นได้จากหนังเรื่อง Wallstreet แนวคิดดีๆที่สอดแทรกพร้อมกับความสนุก ความมันส์ของหนังคลาสิกยอดนิยมในอดีต ที่คมทั้งบทและการแสดงของตัวละครหลัก ถ้ามีโอกาสผมอยากแนะนำให้พวกเราลองไปหามาชมครับ จะได้รับประโยชน์และความบันเทิงไม่น้อยทีเดียว

-Mr.Chaipat-