“เจ้ามือ” คนที่เล่นหุ้นเกือบทุกคนย่อมคุ้นกับคำๆนี้แน่นอน โดยเฉพาะเวลาที่หุ้นวิ่งแรงๆหรือโดนทุบหนักๆ ทุกคนจะต้องถามว่าใครเป็นเจ้ามือหุ้นตัวนี้? เจ้ามือ ส่วนมากจะถูกมองในแง่ลบอยู่เสมอ
แล้วหุ้นที่มีเจ้ามือมันดีหรือไม่ดี?
ถ้าจะตอบง่ายๆก็คงต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเจ้ามือว่าจงใจเข้ามาสถิตย์ในหุ้นตัวนั้นเพื่ออะไร ส่วนตัวผมมองว่าถ้าไม่ตั้งใจเข้ามาฉ้อโกงนักลงทุนแบบดื้อๆ อย่างในกรณีของหุ้นอื้อฉาวในอดีตอย่าง SECC ,CAWOW,PICNI ฯลฯ ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเพราะเจ้ามือนี่แหละที่ทำให้หุ้นมีสภาพคล่อง และทำให้ทุกคนในวงมีผลตอบแทนกัน ลองคิดถึงตลาดหุ้นที่มีแต่นักลงทุนแนวพื้นฐาน กว่าราคาหุ้นจะถึงมูลค่าที่แท้จริงต้องรอกันนานแค่ไหน
เจ้ามือ หรือ Market Maker จึงเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในตลาดหุ้น ที่ขาดไม่ได้ แต่ถ้าใครเป็นตัวร้ายที่มีเจตนาไม่ดีก็ควรต้องกำจัดทิ้ง
เราไปดูกันว่า “ใคร” บ้าง ที่ได้ชื่อว่าอาจจะเป็นเจ้ามือ
เจ้าของหุ้น
นี่คือเจ้ามือตัวจริงในหุ้นนั้นๆ แต่ต้องมีหุ้นในมือมากพอ ขั้นต่ำต้องมากกว่า 50% เพราะเขาคือคนที่มีทั้งหุ้นในราคาที่ “ต่ำ” ที่สุดหรือแทบจะไม่มีต้นทุน และมีจำนวนหุ้นในมือที่ “มาก” ที่สุด เรียกได้ว่าถ้าจะมีการ “ทำราคา” ในหุ้นตัวหนึ่ง ปฎิเสธไม่ได้ว่าเจ้าของหุ้นจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เอาเป็นว่าไปดูในเวบไซท์ของกลต.หัวข้อรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้บริหาร จะรู้เองว่าเจ้าของหุ้นแต่ละรายมีนิสัยอย่างไร
เซียนหุ้นรายใหญ่
ปฎิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนรายใหญ่หรือเซียนหุ้นที่เรามักเรียกกันว่า “เสี่ย” ต่างๆ ได้กลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลในตลาดหุ้นไปแล้ว และมักถูกยกชื่อขึ้นมาพูดถึงในสื่อต่างๆว่าอยู่เบื้องหลังหุ้นตัวนั้นตัวนี้บ้าง แต่อยากจะบอกความจริงว่าอย่าไปเชื่อข่าวอะไรพวกนี้มากนัก เพราะถ้าพวกเขาคิดจะทำราคาจริง เขาไม่มานั่งประกาศให้ใครเขารู้กันหรอก (ยกเว้นมีรายชื่อขึ้นในลิสต์ผู้ถือหุ้น) เอาเวลาไปศึกษาพื้นฐานกิจการและกราฟเทคนิคเอาดีกว่า เวลาซื้อขายก็ว่ากันไปตามราคา
Prop Trade
ที่อยู่ประจำการโบรกเกอร์ทั้งหลาย ก็มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเช่นกัน เนื่องจากกฎเกณฑ์ในการลงทุนที่คล้ายกันคือ ต้องเล่นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงในวันเท่านั้น เท่ากับว่า Prop Trade ส่วนใหญ่จะเล่นหุ้นตัวเดียวกันเกือบทั้งหมดในภาวะที่ตลาดซึมๆ(เผลอๆทั้งวันเล่นกันอยู่แค่ตัวเดียว) เป็นที่มาของคำว่า “แก็งค์สี่โมงเย็น” นั่นเอง ด้วยเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยและต้นทุนการเทรดที่แทบจะไม่มี Prop Trade จึงถือได้ว่าเป็นเจ้ามือคนหนึ่งในตลาดหุ้น
นักลงทุนสถาบัน
อย่าสงสัยว่าทำไมนักลงทุนสถาบันอย่างพวกกองทุนหรือ บลจ. ต่างๆจะเข้าข่ายการเป็นเจ้ามือด้วย หากศึกษาแนวทางการลงทุนของกองทุนขนาดใหญ่จะพบว่าจะเลือกลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัวเท่านั้น โดยเฉพาะพวก BlueChip ทั้งหลาย ที่มีเพียงไม่กี่ตัว หากเกิดเหตุการณ์สำคัญ อย่างข่าวร้ายต่างๆ นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ก็พร้อมจะเทขายพร้อมกัน
ส่วนทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าสมัยนี้ผู้จัดการกองทุนทุกค่ายจะคุยกันเพื่อเลือกหุ้นที่จะซื้อหรือขายให้เหมือนกันและพร้อมกัน อันนี้ไม่มีคำตอบหรือการออกมายอมรับกันตรงๆก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของวิจารณญาณของแต่ละคนไป
นักลงทุนต่างชาติ
นี่ก็เป็นหนึ่งในเจ้ามือตัวพ่อเช่นกัน และน่าจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของตลาดหุ้นไทยได้เลยทีเดียว เพราะด้วยขนาดตลาดหุ้นไทยที่ยังไม่ใหญ่มาก เม็ดเงินเพียงเล็กน้อยของต่างชาติก็สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของตลาดได้เลยทีเดียว ส่วนมากแล้วต่างชาติจะไม่มีอิทธิพลต่อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่จะมีอิทธิพลต่อภาพรวมของตลาดมากกว่า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ต่างๆอย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยนทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ
กับคำถามว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกมีเจ้ามือหรือไม่? ส่วนตัวผมมองว่าไม่ว่าจะตลาดอะไรล้วนแล้วแต่มีเจ้ามือทั้งสิ้น (อ้างอิงทฤษฎีสมคบคิด) แม้แต่ตลาดที่พัฒนาแล้วก็ยังมีเจ้ามือ ไม่ว่าจะขาใหญ่อย่าง โกลด์แมนแซค มอร์แกนสแตนเลย์ ไปจนถึงผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่างจอร์จ โซรอส ฯลฯอะไรพวกนี้ ผมมองว่าเป็นเจ้ามือระดับโลก เพราะคุมทุกอย่างทั้งบทวิจัย (ที่ชี้นำราคาได้) ไปจนถึงนโยบายภาครัฐ เพราะอย่าลืมว่าพวกนี้เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของธนาคารกลางสหรัฐฯนะ
แต่ใช่ว่าเจ้ามือพวกนี้จะชนะเป็นอย่างเดียว เพราะตลาดหุ้นโลกมันใหญ่และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสร้างการแข่งขันเสรีในตลาดได้ ส่วนตลาดหุ้นไทยที่เล็กและยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ คนที่เงินเยอะก็พอที่จะควบคุมตลาดได้ รายย่อยอย่างเราคงทำได้อย่างเดียวคือเล่นไปตามโมเมนตัมของรายใหญ่นั่นเอง
บทสรุปคือ อย่าไปสนใจมากนักว่าใครเป็นเจ้ามือ แต่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์พื้นฐาน ส่วนราคาก็ว่ากันไปตามกราฟเทคนิค ขาขึ้นก็ซื้อ ขาลงก็ขาย แบบนี้ดีกว่าครับ