สรุปเนื้อหางานสัมมนา "การลงทุนในยุค Big Data" ในงาน Unlock Day III (ฉบับ Remixed)

มาตามสัญญาครับ สัมมนาในช่วง การลงทุนในยุค Big Data นั้น เป็นการเตรียมความพร้อมให้นักลงทุน ก่อนเข้าสู่ช่วง The Battle สงครามหุ้นเทคโนโลยี ระหว่างจีนและอเมริกา

เนื้อหาหลัก ๆ จะเน้นที่ สร้างความเข้าใจว่า มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ที่จะกระทบการลงทุน และการใช้ Data ที่ยุค 90s ทำไม่ได้ เช่น Google Search เพื่อใช้เป็นสัญญาณ ในการซื้อขาย

และขอใช้โอกาสนี้ เพิ่มรายละเอียดในบางจุดนะครับ โดยเฉพาะเรื่องของ Millennials ที่ใช้เงินฟุ่มเฟือย ว่ากระทบอะไรบ้าง (จะบิดเนื้อหาไปจากสัมมนาบ้าง เพื่อให้ท่านที่เข้าร่วมสัมมนาได้รับข้อมูลใหม่ ๆ มีประโยชน์ต่อการอ่านเพิ่มขึ้น)

เรื่องที่ 1 ลงทุนอย่างไรให้กำไรในยุค Big Data เมื่อตลาดหุ้นโลกตอบรับการเปลี่ยนแปลง

สรุปใน 8 บรรทัด

โลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
Demographics ที่คนเคยฝังใจว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ
มันไม่ใช่อีกแล้ว เปลี่ยนไป
กลุ่มคนรุ่นใหม่ เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและความสบาย ได้กลายเป็นกลุ่มหลักของโลก
และเริ่มมี Spending Power ที่สูงขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ
บริษัทที่ใช้ Data เป็น และเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย จะเป็นผู้ชนะ
เพราะ Brand Loyalty ไม่มีอีกต่อไป
Super Stock ได้เปลี่ยนเป็นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างชัดเจน

เนื้อหา

หากเราย้อนไปดูในอดีต จนถึงปัจจุบัน จะพบว่า บุคคลที่ร่ำรวย มีแค่ไม่กี่แบบ คือเป็นเจ้าของที่ดิน อสังหาฯ หรือพ่อค้า หรือเจ้าของทรัพย์สิน (แต่เจ้าของทรัพย์สินเช่น ทอง เหล็ก มักจะเป็นแค่ชั่วคราว ไม่เหมือนที่ดิน อสังหาฯ) จนทุกวันนี้ก็ไม่เปลี่ยน

บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ยุค 90s คือ Sam Walton เจ้าของ Walmart บริษัทค้าปลีกขนาดยักษ์

บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดโลกในยุคปัจจุบัน คือ Jeff Bezos เจ้าของ Amazon บริษัท E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นบริษัทค้าปลีกเช่นกัน

ความร่ำรวยของ Jeff Bezos ได้เบียดเอาชนะ Walmart ไปได้อย่างชัดเจน เมื่อต้นปี 2018 หลังตลาดหุ้นถล่ม และหุ้น Walmart ปรับตัวลง ตามตลาดพร้อมหุ้น Sure Thing ตัวอื่น ๆ (ในงานยกตัวอย่าง Coca Cola, Nestle, P&G, J&J, Kraft Heinz) โดยมีหลาย ๆ ตัวลงมากกว่าตลาด แต่ Amazon กลับวิ่งสวนขึ้นไปพร้อมหุ้นเทคโนโลยี (Sam Walton แบ่งทรัพย์สินให้ลูกหลาย ๆ คน หากนำมารวม ๆ กัน จะติดแท่นเบอร์ 1 ของโลกแข่งกับ Bill Gates ครับ)

ข้อมูลถึงวันที่ 2 ก.ค. 61 คือ ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีของ หุ้น Walmart ลง -13.3% ในขณะที่ Amazon วิ่งไป 45.3%

เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นหลาย ๆ อย่างคือ

  1. Walmart และ หุ้น Sure Thing ซึ่งตลาดมักมองเป็นหุ้น Defensive ที่ควรจะลงน้อยกว่าตลาด แต่กลับตกแรงกว่าตลาด (Sure thing คืออะไร อ่านได้ในบทความ อวสาน หุ้น Sure Thing)
  2. Walmart ทำ E-commerce มีสินค้าขายกว่าล้านชิ้น ไม่ได้ต่างกับ Amazon แต่หุ้นกลับวิ่งคนละทาง Amazon หุ้นวิ่งขึ้นต่อไปพร้อมกับกลุ่มเทคโนโลยีอื่น ๆ แสดงว่ามันมีอย่างอื่นซ่อนใน Amazon อีก

มาดูที่ข้อแรกกันก่อน หุ้นเหล่านี้ ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นหุ้นโปรดของ Warren Buffett เนื่องจากมีสินค้าหรือบริการที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ มีธุรกิจที่แข็งแกร่ง Market Share สูง ได้เปรียบคู่แข่งในหลาย ๆ อย่าง ยึดหัวหาดช่องทางการขายไว้ครบ อีกทั้งราคาหุ้นเองยังทนทานต่อวิกฤต และการปรับฐาน แต่เวลาหุ้นขึ้นก็ขึ้นตาม จนถูกขนานนามว่าเป็นของ Sure

ทั้ง ๆ มีคุณลักษณะที่เป็นหุ้น Defensive จน VI หลาย ๆ ท่านชื่นชอบ … มาวันนี้กลุ่มนี้กลับถูกเทขาย ???

และที่น่าสนใจคือ แม้แต่ Warren Buffett เองก็ขายไปแล้วหลายตัวครับ ที่ยังเหลืออยู่เยอะ ๆ คือ Coca Cola

แล้วอะไรทำให้ กลุ่มนี้ถูกเทขาย? Trade War หรือเปล่า? ก็มีผลบ้าง แต่หลัก ๆ มาจากเหตุผลนี้ครับ

เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุค Millennial

Millennial คือประชากร ในช่วงอายุ 20-35 ในตอนนี้ครับสำหรับเมืองนอก

คนกลุ่มนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ไปแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตั้งแต่ปี 2013 เพียงแต่เพิ่งมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เริ่มมีเงินจากการทำงานมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของหุ้น Sure Thing ทั้งหลาย

ส่วนประเทศจีน กลุ่ม Millennial นั้นมาพร้อมกับกฎหมายลูกคนเดียว กลุ่มนี้จึงร่ำรวยตั้งแต่เด็ก มีคนให้เงินใช้ไม่ขาดสาย และติดนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำให้สินค้าหรูหรา ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย ขายดิบขายดี สังเกตได้จากหุ้น Hermes, LVMH และ Kering (เจ้าของพวก Gucci Yves Saint Laurent Balenciaga Bottega) ขึ้นถล่มทลาย

แค่นั้นยังไม่พอ ยอดขาย Gucci ที่อเมริกา ไตรมาส 1 ยังเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากปีก่อน และบริษัทเหล่านี้ได้ปรับตัวเข้ามาจับตลาด Millennial เช่น ขายรองเท้า High End ตามกระแสของ Adidas ที่ออก Sneaker คู่ละเป็นหมื่น ดูแพงเกินควร แต่กลับขายดีเทน้ำเทท่า

อีกทั้งยังแตกไลน์ธุรกิจ เปิดร้านกาแฟ โรงแรม เจาะตลาดบน และ Millennial ที่ชอบอวดใน Social ให้ตัวเองดูดี

ทางฟาก Hermes ก็ไม่ยอมแพ้ แตกแบรนด์ เฟอร์นิเจอร์ เจาะกลุ่มคนจีนโดยเฉพาะ แต่เปิดที่ยุโรป แน่นอนว่าลูกหลานคนรวยของจีนที่ไปเรียนอยู่ในยุโรปก็แห่กันไปซื้อ หรือคนจีนที่อยู่ที่นั่นก็ซื้อ

คนกลุ่ม Millennial นี้แม้จะไม่ได้มีรายได้ที่สูงอย่าง Gen X Baby Boomer แต่การใช้เงินของพวกเขานั้น มีเท่าไหร่ จะใช้ “เกิน” บัตรเครดิตเท่าไหร่รูดหมด การใช้บัตรเครดิตเฉลี่ยของกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 70% ของวงเงิน บางประเทศอย่างเกาหลี สูงถึง 110%

นอกจากจะใช้เงินเก่งแล้ว คนกลุ่มนี้มี Brand Loyalty ต่ำ ไม่ได้ยึดติดกับสินค้า ชอบลองอะไรใหม่ๆ และไม่กลัวเทคโนโลยี เพราะเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี การซื้อของผ่าน E-Commerce  จึงเป็นทางเลือกการซื้อของที่ “สนุก” และ “คลายเครียด” ที่ดี ไม่มีอะไรทำก็ช็อปปิ้งออนไลน์ หรือผ่าน Social ก็ได้ ดูได้จากพฤติกรรมการเล่น Instagram ของคนไทยในช่วงวัยรุ่น-วัยทำงาน แม้จะซื้อยากลำบาก ต้องทักไปหาคนขาย และพูดคุย + โอนเงิน ก็ทำกันเป็นเรื่องธรรมดา

มาดูข้อที่ 2 ต่อครับ

อะไรทำให้ Amazon ขึ้นต่อ? อะไรทำให้ Amazon ขึ้นไปเทรดหลัก PE 200 เท่าได้ และแช่แป้งที่ PE ระดับนี้มาหลายปีแล้ว แต่หุ้นก็ขึ้นมาเป็นเท่าตัว แปลว่า กำไรเติบโตเร็วมาก

อะไรที่กำลังผลักดันให้ Jeff Bezos ร่ำรวยเป็นอันดับ 1 ของโลก

สิ่งนั้นไม่ใช่ E-Commerce … แต่เป็น Cloud

Amazon คือผู้นำตลาด Cloud ของทั้งโลก มี Market Share สูงถึง 34% ในโลก และเติบโตสูงถึงเกือบ 50% ต่อปี มาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ตลาด Cloud นั้นใหญ่มาก ในปี 2020 นักวิเคราะห์คาดหวังจะมีมูลค่ามากกว่า GDP ประเทศไทยเสียอีก

ในไตรมาสล่าสุด กำไรจากธุรกิจ Cloud คิดเป็น 105% ในขณะที่ธุรกิจ E-Commerce ขาดทุน 5%

และเป็นตัวหล่อเลี้ยงบริษัท ทำให้ Amazon ทุ่มงบในการขยายอาณาเขต E-Commerce ต่อไป

Jeff Bezos ยังปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้เน้นที่ Data โดยไม่ได้มองว่า E-Commerce เป็นการขายของ แต่เป็นการช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ ถ้าเราสังเกตดี ๆ Amazon จะมีตัวเปรียบเทียบสินค้าให้ว่าใครถูกกว่า และยังมีการแอบกระตุ้นให้ซื้อด้วย (โดยการบอกว่า สินค้าจะหมดแล้ว)

หากเราไปดูบริษัท Top 10 ของโลก จะสังเกตว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมดยกเว้น Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett, JPMorgan (ซึ่ง CEO เองก็ประกาศว่า ต่อจากนี้ไม่ใช่ ธนาคารหรือหลักทรัพย์ แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยี) และ Johnson &  Johnson

Johnson & Johnson ทำอย่างไรถึงยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกลุ่มเทคโนโลยีได้ … คำตอบก็คือ เขาใช้ Data ในการขายของครับ

บริษัทใดที่ไม่ใช้ Data จะอยู่ไม่ได้อีกต่อไป ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่ง Big Data และ AI ชาว Millennial เป็นทาสการตลาดชั้นดี ที่พร้อมจะถูกแย่งได้ทุกเมื่อ

เรื่องที่ 2 ใช้ Big Data ในการลงทุนอย่างไร ฉบับง่าย

จริง ๆ แล้ว Data มีอยู่รอบตัวเรา อยู่ที่เราจะหามาใช้อย่างไร ในงานสัมมนาครั้งนี้ สอนใช้ข้อมูลจาก Google Trend ซึ่งแจกฟรี ใครก็สามารถเข้าได้

Google Trend คือเครื่องมือแสดงผล ว่ามีใคร search หรือพูดถึงเรื่องอะไรไปเท่าไหร่บ้าง ในระดับที่ Google เข้าถึง (ก็คือไม่มีพวก Social Media อย่าง Facebook, Twitter นั่นเอง พวกนี้หาได้จาก Social Listening Tools แต่ต้องเสียเงิน)

ก่อนใช้ Google Trend ควรจะเข้าใจ จิตวิทยาลงทุนก่อน ว่ามันเหมาะกับอะไรที่อยู่ในกระแส โดยเฉพาะช่วงที่ ผู้คนกำลังแห่กันซื้อ เพราะจะเข้าไป search หาข้อมูล หากใช้มั่วจะติดดอยไม่รู้เรื่องครับ !!

การใช้งานหลัก ๆ มี 3 แบบ

1. ราคาวิ่งตามการ Search … เป็น Perfect Case คือ Bitcoin จะพบว่า ราคา Bitcoin วิ่งตามการ Search Google หาคำว่า Bitcoin

2. ใช้หา Peak หรือ Bottom … ตัวอย่างยกเคส AOT ที่คน search หาคำว่า AOT ในช่วงต้นปีทำให้หุ้นขึ้นไปพีค หลังจากนั้นการ search ลดลง หุ้นก็ sideway ไม่ไปไหน และ ครั้งก่อนหน้าในปลายเดือนกันยายน ก็เช่นกัน

3. ใช้วิเคราะห์หา Trend ทั่วไป ดูคู่แข่ง … ตัวอย่างยกเคสการหาว่า ธุรกิจ Cloud Peak หรือยัง จะไปต่อหรือไม่ คู่แข่งเป็นอย่างไรบ้าง

ข้อมูล Google Trend เข้าดูได้ผ่าน https://trends.google.com/

งานสัมมนาหลังจากนั้นก็เป็นการทิ้งท้ายส่งต่อให้ The Battle เพื่อให้โหวตกันว่า หุ้นเทคฯ จีน หรือ อเมริกา น่าสนใจกว่ากันครับ

BottomLiner