รัฐบาลยุโรป ก้าวสู่โหมด “Whatever it takes”?

ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพาโลกเราเข้าสู่วันประกาศมาตรการ Tariff ของสหรัฐแบบใหม่ ที่เน้นให้สูงตามระดับกำแพงภาษีที่ประเทศอื่น ๆ ตั้งไว่ต่อสหรัฐ หรือ Liberation Day ทางฝั่งยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและเยอรมัน ต่างพยายามนำพาประเทศของตนเองให้สามารถมีมูลค่าการใช้จ่ายของภาครัฐที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดกลาโหมและการทหาร

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการถกเถียงกันในเวทีต่างๆของอังกฤษ ว่าด้วยสถานการณ์การคลังของประเทศว่า ราเชล รีฟ รมว.คลัง อังกฤษ ควรจะใช้ช่องทางใดที่จะทำการปรับเพิ่มหรือลดงบการคลังของประเทศในหมวดใดบ้าง (Headroom) เพื่อให้งบการคลังโดยรวมของอังกฤษจะยังสามารถเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือข้อจำกัดด้านการคลัง (Self-imposed budgetary rules) ที่กฎหมายได้อนุญาตไว้ ภายใต้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่เลวร้ายลงมาเรื่อยๆในปัจจุบัน

ทั้งนี้ อังกฤษ เยอรมัน และ สหภาพยุโรป ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงการหาทางออกจากข้อจำกัดของงบการคลังภาครัฐ (Fiscal Rule) ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองของตนเอง

เริ่มจากเยอรมันต้องการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นในหมวดกลาโหมและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์เดียวกับสหภาพยุโรป ส่วนอังกฤษ รัฐบาลต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมเล็กน้อย ภายใต้คำสัญญาของรีฟว่าจะไม่ขึ้นภาษี ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่ซบเซานั้น ทำให้ค่อนข้างยากในการบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งหมดพร้อมๆกัน

ด้านกระบวนการที่จะใช้เป็นทางออกจากข้อจำกัดของงบการคลังภาครัฐในแต่ละประเทศถือว่าแตกต่างกันไป โดยผู้นำเยอรมันคนใหม่ เฟเดอริค เมิรซ์ สามารถรวบรวมเสียงในสภาของเยอรมันได้มากเพียงพอที่จะทำการแก้รัฐธรรมนูญให้มูลค่าการเพิ่มขึ้นของงบประมาณจากหมวดกลาโหมไม่ต้องอยู่ภายใต้ลิมิตในรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในหมวดว่าด้วยงบประมาณการกู้เงินของภาครัฐ (debt brake rule) โดยสภาเยอรมันได้ผ่านงบโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 5 แสนล้านยูโร และเปลี่ยนกฎ debt brake ruleให้สามารถลงทุนในงบหมวดกลาโหมได้เต็ม ๆ กว่า 4 แสนล้านยูโร

ในขณะที่สหภาพยุโรป ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ทว่าทำการหย่อนเกณฑ์ด้านการคลังให้สามารถกู้ยืมเงินในหมวดกลาโหมและโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น เนื่องจากธรรมนูญของสหภาพยุโรปให้ความยืดหยุ่นต่อการเพิ่มขึ้นของบการคลังอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไปสู่สุดทางของลิมิตนั้น ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้จัดตั้งกองทุนเน้นลงทุนในอาวุธทางทหารและป้องกันประเทศ มูลค่า 1.5 แสนล้านยูโรโดยห้ามลงทุนในบริษัทสหรัฐ อังกฤษ และตุรกี

ด้านอังกฤษไม่เปลี่ยนกฎเกณฑ์ แต่ประกาศการลดค่าใช้จ่ายในอนาคตเพื่อให้สถานการณ์คลังอังกฤษยังสามารถเป็นไปตามเกณฑ์เดิม

ความแตกต่างของกระบวนการดังกล่าว จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ตลาดหุ้นเยอรมันเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศต่าง ๆ ในยุโรปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

โดยเกณฑ์ Fiscal Rule ที่ตั้งขึ้นมาแบบตึงตัวเป็นอย่างมาก จนบางครั้งมองว่าเข้มข้นมากจนเกินไปในปัจจุบัน เกิดมาจากพฤติกรรมในอดีต (ตั้งแต่สมัย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาจนถึงยุคก่อนโควิด) ของนักการเมืองประเทศต่าง ๆ ที่มักจะใช้จ่ายเงินของรัฐบาลแบบมากจนเกินกำลังของเศรษฐกิจตนเอง ผลลัพธ์ก็คือหนี้ภาครัฐเยอะขึ้นมากจนไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ และทำให้ตลาดทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนของหนี้ภาครัฐดังกล่าว

ซึ่งตรงนี้ นักวิชาการของยุโรป ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้ถึงช่องว่างระหว่างความเชื่อในทางทฤษฎีที่ประเมินว่า Fiscal Rule แบบเข้ม ๆ นั้น น่าจะดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ณ ตอนนี้ ทำให้ไม่แน่ว่าสิ่งนี้จะดีต่อเศรษฐกิจของประเทศจริงหรือไม่ ในปัจจุบัน ดังนี้

หนึ่ง: Fiscal Rule อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์คลังของรัฐบาลที่มีวินัยส่งต่อไปจนเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี เหตุผลแรกคือความไม่สมมาตรระหว่างเซอร์ไพรส์การเติบโตเศรษฐกิจด้านบวกและด้านลบที่รัฐบาลอังกฤษตอบสนองทั้ง 2 ฝั่งไม่เท่ากัน ส่วนอีกเหตุผลคือประเทศในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มักจะใช้จ่ายงบการคลังเกินเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้

นอกจากนี้ ในทางวิชาการ ถือว่ามีความยุ่งยากในการที่จะฟันธงว่าความไม่มีวินัยทางการคลังของรัฐบาลนั้น เป็นสาเหตุหรือผลลัพธ์ของการที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปกันแน่

สอง: การออกแบบ Fiscal Rule มีผลต่อประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง อาทิ ในเยอรมัน มีการใช้กฎ debt brake rule ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงที่อัตราส่วนการลงทุนของภาครัฐต่อจีดีพีจะสูงหรือต่ำก็ตาม โดยในช่วงที่ผ่านมา อัตราส่วนดังกล่าวถือว่าต่ำ ทำให้ debt brake rule ยิ่งไปซ้ำเติมให้การเติบโตเศรษฐกิจเยอรมันซบเซาไปกันใหญ่

หรือ ในกรณีอังกฤษ ที่แบ่งเกณฑ์ Fiscal Rule เป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบด้านลงทุน ที่อนุญาตให้กู้ยืมไปได้เรื่อยๆ หากพบว่าอัตราส่วนของหนี้สินการเงินสุทธิต่อจีดีพีของรัฐบาลถูกคาดการณ์ว่าจะลดลง ณ สิ้นสมัยประชุมของสภา และ งบที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุน ท่ีต้องทำให้คาดการณ์ว่าสมดุลโดยตลอด โดยจากเกณฑ์ดังกล่าวผนวกกับทางเลือกด้านการคลังในทางการเมืองอังกฤษที่ผ่านมา ทำให้ช่องว่าง (Headroom) เหลืออยู่น้อยมาก จึงเหลือ roomให้ รมว.คลังอังกฤษไว้ปรับเพิ่มหรือลดงบประมาณในช่วงเวลาต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย

ท้ายสุด ในยุคก่อนปี 2010 สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติเกี่ยวกับ Fiscal Rule จะออกมาในแบบที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมักจะค่อนข้างใช้จ่ายเกินตัว จึงทำให้นักวิชาการมักจะแนะนำเกณฑ์ด้าน Fiscal Rule ที่เข้มข้นมากกว่าในทางทฤษฎีเสนอให้นักการเมืองวางกฎเกณฑ์ในกฎหมายให้เป็นแบบนั้น ซึ่งทำให้สถานการณ์คลังรัฐบาลของยุโรปมักจะตึงตัวกว่าที่เป็นจริง

อย่างไรก็หลังวิกฤตยูโร ปี 2009 รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต่างพากันรัดเข็มขัดด้านการคลัง ส่งผลให้กฎเกณฑ์ที่นำไปใช้มีความตึงตัวมากเกินไป อันนำมาซึ่งกระแสการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการคลังในยุโรป ณ ช่วงเวลานี้ ที่ต้องตั้งรับและปรับตัวต่อนโยบาย Transatlantic ที่เปลี่ยนไปแบบสุดขั้วจากสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP

MacroView, macroviewblog.com