MacroView01

ในช่วง 1-2 ปีนี้ ผมได้เห็นกองทุนต่างประเทศออกมาหลายกองและหลากหลายประเภท คำถามที่ได้รับบ่อยๆ ได้แก่ ตลาดใดหรือกองทุนประเภทไหนที่น่าสนใจลงทุน บทความนี้ จึงขอมาทำความรู้จักตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่และประเภทของกองทุนที่น่าสนใจในปี 2016 มาฝากกัน

แม้ตอนนี้หาใครคิดจะลงในตลาดดังกล่าว ต้องร้องเพลงของวงชาตรีว่า… รักแล้วรอหน่อย.. เนื่องจากราคาถือว่าต่ำจนน่าสนใจ ทว่าอาจต้องรออีกหน่อยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เข้าที่เข้าทาง แต่ระยะปานกลางตลาดนี้ยังไงก็กลับมา ผมคาดว่าน่าจะใช้เวลาสัก 6 เดือนถึง 2 ปีครับ

ก่อนอื่น ขอย้อนความทรงจำกันสักนิดก่อน หลายคนคงจะนึกถึงตลาดสุดฮิตที่มักจะกล่าวถึงกันจนติดหู คือ BRIC ที่ถึงแม้วันนี้ได้เปลี่ยนเป็นตัวย่ออื่นๆมากมาย ทว่า BRIC ยังถือว่าคลาสสิกอยู่ อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน ที่เคยเป็นดาวรุ่ง หรือ ตัวแทนประเทศเกิดใหม่ของการลงทุน โดยระหว่างปี 2003 ถึง 2007 ดัชนี MSCI Emerging Markets Index ซึ่งมีประเทศทั้งสี่เป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 43 มีผลตอบแทนต่อปีถึงร้อยละ 36 ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนเพียงแค่ถือกองทุนดัชนีก็สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงมากอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Emerging Markets Index ดีอยู่แค่ปีเดียวคือปี 2009 หลังจากนั้น ก็ร่วงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากองค์ประกอบหลักของดัชนีดังกล่าวกระจุกตัวอยู่กับบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจของรัฐ ขนาดใหญ่ซึ่งมักจะพึ่งพาตลาดส่งออกของสหรัฐหรือราคาของสินค้าโภคภัณฑ์แทนที่จะเป็นอุปสงค์ภายในประเทศ

ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยหลักของความสำเร็จในการลงทุนต่อจากนี้ไป จึงต้องมุ่งไปสู่การหาตลาดใหม่ที่จะทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งรวมถึงตลาด Frontier Market อาทิ ปากีสถาน เคนย่า และเวียดนาม และดัชนีพันธบัตรรัฐบาลจาก JPMorgan ของตลาดดังกล่าวในรูปของเงินดอลลาร์ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงสุดถึงร้อยละ 17

4 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนในตลาดเกิดใหม่

ในปี 2016 หากจะพิจารณาการลงทุนตราสารทางการเงินในประเทศเกิดใหม่ ไฮไลต์ของการลงทุน ควรต้องมุ่งไปยัง 4 เซกเมนต์ ดังนี้

หนึ่ง ตลาดเกิดใหม่หรือรายอุตสาหกรรมที่เน้นการบริโภค โดยนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา รายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค อาทิ การรักษาพยาบาล อาหารและของใช้ในครัวเรือน และ ร้านค้ารายย่อยรวมถึงบันเทิงและสันทนาการ ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด โดยตลาดในประเทศโคลัมเบีย และตุรกี ซึ่งมีสัดส่วนของรายอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่สูง ต่างได้รับผลตอบแทนมากกว่าร้อยละ 10 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากซื้อกองทุนประเภทตลาดเกิดใหม่แบบทั่วๆไป ก็จะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่านี้มาก เนื่องจากประกอบด้วยรายอุตสาหกรรมเหล่านี้เพียงร้อยละ 18 และประกอบด้วย 2 ประเทศนี้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

สอง เลือกตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่นักและประเภท Frontier Market โดยในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องพึ่งพามาตรการ QE ในการเจริญเติบโต ประเทศที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย อย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เม็กซิโก และ ตุรกี ต่างก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองที่ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ โดยราคาหุ้นของตลาดฟิลิปปินส์และตลาดเม็กซิโกซื้อขายกันที่ 20 และ 25 เท่าของกำไร ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับเพียง 14.6 เท่าสำหรับตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศที่มีกำลังซื้อสูงๆ ราคาหุ้นดังกล่าวก็ไม่ได้แพงมากนักแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น หุ้นเนสท์เล่ อินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีราคามากกว่า 30 เท่าของกำไรที่คาดการณ์ในอนาคต ในปี 2000 ราคาหุ้นยังแพงกว่าปัจจุบันอยู่มาก อย่างไรก็ดี ผลกำไรได้เติบโตกว่า 9 เท่า นับจากช่วงเวลานั้น ในขณะที่ราคาหุ้นกลับเติบโตแบบก้าวกระโดดถึงกว่า 14 เท่า ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความสำคัญของการเติบโตของกำไรต่อราคาหุ้น ที่มีเหนือกว่าระดับราคาต่อกำไร

หากสนใจตลาดที่ราคายังไม่สูงมาก ตลาดอินโดนีเซียนับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากและประชาชนจำนวนมากแถมยังอายุน้อย แม้จะมีระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่มากและค่าเงินที่อ่อน ทว่านับเป็นช่วงเวลาที่ตลาดยังไม่แพงเหมาะกับการหาหุ้นที่มีพื้นฐานดีไว้ลงทุนในระยะยาว

นอกจากนี้ ตลาด Frontier Market ซึ่งหมายถึงตลาดที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทว่ามีตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นที่ ยังไม่พัฒนามากเท่าไรนัก อย่าง ศรีลังกา เวียดนาม และ บางประเทศในแอฟริกา ยังคงอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาประเทศ อีกทั้งการบริโภคยังสามารถเติบโตไปอีกมาก จึงทำให้มีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคตได้อีก

สาม ตลาดที่ยังมีราคาถูกอยู่ แน่นอนว่า ณ วันนี้ ได้แก่ ตลาดในประเทศกลุ่ม BRIC ซึ่งกระแสเงินทุนไหลออกเกือบตลอดในปีที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปแล้ว ประเทศเหล่านี้มีผลกำไรที่ไม่แกว่งมากนัก ที่สำคัญ ณ ระดับราคาปัจจุบัน เริ่มมีผู้จัดการกองทุนหลายท่านให้ความสนใจ

ทั้งนี้ หุ้นที่ราคาตอนนี้ถือว่าลงมาจนถือว่าน่าสนใจเข้าลงทุนอยู่ 3 ตัวในกลุ่ม BRIC ที่น่าสนใจ ได้แก่ Gazprom บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียที่ราคาซื้อขายกันเหลือเพียงไม่ถึง 3 เท่าของกำไร และรัฐบาลถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50 หุ้น Petrobras ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานขนาดใหญ่ของบราซิล ที่ราคาหุ้นลดลงไปเป็นอย่างมากจากข่าวคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดี เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงที่ราคาน้ำมันโลกที่ราคาที่ลดลงใกล้ตุดต่ำสุดเต็มที และ หุ้น Lenovo ของจีน ที่ผลิตคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนป้อนตลาดเอเชีย ซึ่งยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้อยู่สูงไปอีกพักใหญ่

ท้ายสุด ตลาดพันธบัตร โดยนับตั้งแต่เมื่อปี 2010 กระแสเงินกว่าสองแสนล้านดอลลาร์ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรสหรัฐ โดยผลตอบแทนจากพันธบัตรของรัสเซีย บราซิล และตุรกี ในรูปของเงินดอลลาร์สูงกว่าพันธบัตรสหรัฐถึงมากกว่าร้อยละ 3 ด้วยการที่ตลาดรับรู้ปัญหาของประเทศเหล่านี้ไปมากแล้ว นอกจากนี้พันธบัตรในประเทศตลาดเกิดใหม่ยังเป็นโอกาสให้เข้าถึงการลงทุนใหม่ๆ อย่างอุตสาหกรรมรถไฟในจอร์เจียและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปานามา ที่นักลงทุนไม่สามารถเข้าถึงผ่านตลาดหุ้นอีกด้วย

โดยสรุป ท่ามกลางกองทุนรวมต่างประเทศที่ออกจำหน่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านผู้อ่านอยากจะหาการลงทุนที่มีไว้ในระยะเวลาปานกลาง สามารถมองหาตลาดและรายอุตสาหกรรมที่นำเสนอในบทความนี้ประกอบในการตัดสินใจได้ แต่อย่าลืมว่า ‘หากรัก EM แล้ว.. ก็ต้องรอหน่อย’ นะครับ