ผมขอสรุปความยิ่งใหญ่ของ ประธานาธิบดีตุรกี รีเซบ ธายิป เออร์โดแกน ช่วงทศวรรษที่ 2000 ไว้ดังต่อไปนี้
“หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ต่างพาดหัวว่า พรรค AKP ของ ประธานาธิบดีตุรกี รีเซบ ธายิป เออร์โดแกน ซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็นกลุ่มอิสลามิกที่ในเชิงนโยบายด้านสังคมที่หาเสียงตอนเลือกตั้งประกาศว่าจะใช้วิธีที่ไม่ละมุนละม่อมในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในประเทศ โดยพรรค AKP ได้กวาดคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2007 ซึ่งหากมองกันแบบผิวเผินจะพบว่า น่าจะเป็นข่าวร้ายของเศรษฐกิจตุรกี
แต่ในความเป็นจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งในปี 2002 พรรค AKP ได้ลดการขาดดุลภาครัฐ ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อในตุรกีลดลงเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การชนะเลือกตั้งแบบยกพรรคเพื่อส่งผลให้เป็นรัฐบาลแบบพรรคเดียว นำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่บ่อยนัก ซึ่งประเทศตุรกีสามารถมีการเมืองที่นิ่ง”
ด้วยความยิ่งใหญ่ของนายเออร์โดแกนที่มีต่อตุรกี ตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ส่งผลให้ตุรกียังสามารถยังยืนอยู่ได้ แม้อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกือบ 20% และหนี้สินต่างประเทศพะรุงพะรัง ดังรูปที่ 1 โดยไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม อีกทั้ง ถึง ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีเหตุการณ์โกลาหลแบบรุนแรงเกิดขึ้นในตุรกี ซึ่งจุดแข็งของนายเออร์โดแกนในประเด็นนี้ ก็กลับเป็นจุดอ่อนต่อตุรกี เพราะด้วยการที่เศรษฐกิจตุรกียังพอจะไปไหว เลยทำให้ไม่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาที่ถูกโรค จึงทำให้ระเบิดลูกนี้ถูกเลี้ยงไว้เพื่อกำลังจะรอวันปะทุ
ในกรณีของความวุ่นวาย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของตุรกี ผมเคยเขียนถึงเมื่อเกือบ 3 เดือนที่แล้ว ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อวิกฤติ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644755
มาถึงเหตุผลที่ตุรกีได้กลายมาเป็นไฮไลท์ให้ดราม่ากันอีกรอบ เริ่มต้นมาจาก บทวิเคราะห์ของธนาคารกลางยุโรป ว่าให้ระวังหนี้ของแบงก์ในยุโรปที่มีหนี้ของภาคเอกชนตุรกีอยู่ไม่น้อย ผนวกกับกรณีข้อพิพาททางการเมืองระหว่างสหรัฐกับตุรกี ในประเด็นของบาทหลวงชาวอเมริกันในตุรกี เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นว่าศัตรูของตนเองเพลี้ยงพล้ำ เลยถือโอกาสขึ้นกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมขึ้นไปอีก 1 เท่าตัว เป็น 50% และ 20% ตามลำดับ
จนกระทั่งตลาดพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนของตุรกีเข้าสู่โหมดที่เสี่ยงมาก โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีขึ้นไปเป็น 20% กว่า ส่วนสกุลเงินรีล์ก็อ่อนค่าลง 20% กว่าๆ เมื่อเทียบกับต้นสัปดาห์ จนเป็นที่มาของความตื่นตระหนกของตลาด
ทีนี้ มาถึงคำถามว่าแท้จริงแล้ว ตุรกีจะเป็นชนวนสู่วิกฤติตลาดเกิดใหม่ได้จริงหรือ
ผมมองว่ามีโอกาสเข้าสู่วิกฤติ ก็ต่อเมื่อ ธนาคารกลางยุโรปและไอเอ็มเอฟ รวมถึงสหรัฐ ให้ความเห็นและเพิ่มมาตรการที่ทำให้ตุรกีดูแย่กว่านี้ในสายตาชาวโลก ที่สำคัญ หากประธานาธิบดีตุรกี รีเซบ ธายิป เออร์โดแกน ยังยืนยันไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงไม่แต่งตั้งผู้ที่มีความน่าเชื่อถือเข้ามาช่วยกู้เหตุการณ์ที่ยังพอคุมอยู่ได้ในตอนนี้ ตลาดเงินตลาดทุนและบริษัทจัดอันดับเครดิตจะเป็นผู้ที่ลงโทษเศรษฐกิจตุรกีไปเรื่อยๆ จนอยู่ได้ยากในที่สุด
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าโดยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจตุรกีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยุโรปมากนัก หากเราคิดว่าจะทำให้เป็นชนวนวิกฤติผ่านช่องทางวิกฤตในยุโรป ดังรูปที่ 2 และ 3 ที่แบงก์ในยุโรป ยกเว้น สเปน มีหนี้ของตุรกีอยู่น้อย และ มูลค่าการส่งออกไปยุโรปราวๆ ครึ่งเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ของตุรกีก็ไม่ถึงจะเข้าโหมดฟองสบู่แต่ประการใด แม้ว่าในภาพเสถียรภาพเชิง Macro ถือว่าเศรษฐกิจตุรกีถือว่า มีความเปราะบางก็ตามที ดังรูปที่ 1
ทางแก้วิกฤติของตุรกีก็มีอยู่ หากนายเออร์โดแกนดึง นายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอล และรองประธานเฟดที่ไม่ถูกกับปธน.ทรัมป์เข้ามาช่วย ผมมองว่าทุกอย่างจบได้ในระดับเบื้องต้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่ด้วยความดื้อดึงของนายเออร์โดแกน ทางเลือกนี้คงจะไม่เกิดขึ้น
โดยสรุป ด้วยความเป็นวิกฤติศรัทธาในลักษณะที่ผู้นำมีความแข็งแกร่งในมิติของความศรัทธาจากประชาชนที่มีมากจนเกินไป จนกระทั่งแม้กระทั่งวิกฤติเศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถส่งผลกระเทือนต่อศรัทธาของชาวตุรกีโดยส่วนใหญ่ ผมมองว่านี่คือข้อเสียอย่างร้ายแรงของตุรกีที่กว่าชาวตุรกีจะรู้ตัวว่าเกิดวิกฤตมากๆ จนเกินเยียวยาก็อาจจะรู้ตัวเมื่อสายจนเกินไป หากนายเออร์โดแกนยังดื้อดึงมองว่า ‘การขึ้นดอกเบี้ยเปรียบเหมือนปีศาจร้าย’ ต่อไปอีก รวมถึงไม่หาคนที่มีความน่าเชื่อถือเข้ามาคุมเกมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645361