สำหรับ 2 บทความที่แล้ว ได้แนะนำกองทุนลดหย่อนภาษีของสินทรัพย์ไทยและฝั่งเอเชีย รวมถึงสหรัฐ บทความนี้จะขอแนะนำเพิ่มเติมกองทุนต่างประเทศในสายโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทางเลือก และสินค้าโภคภัณฑ์ ที่รวมเรียกว่า ‘สินทรัพย์ทางเลือก‘ ดังนี้
เริ่มจาก กองทุนลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับ Infrastructure ซึ่งนอกจากจะหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานในทางกายภาพ อาทิ ด้านไฟฟ้า ประปา และถนนหนทาง ยังหมายรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) จากความต้องการ data center สำหรับการสร้างระบบ AI อย่างมหาศาล นอกจากนี้ อุปสงค์ต่อ Infrastructure ด้าน Green Economy ยังเพิ่มมากขึ้นจากการแข่งขันของประเทศต่าง ๆและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สูงขึ้นเพื่อลดก๊าซคาร์บอน มลพิษที่ปล่อยออกมา ท้ายสุด ประชาชนที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และการทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเข้าสู่ยุคดิจิตัล ล้วนส่งผลให้ความต้องการทรัพยากรด้าน Infrastructure ให้มีสูงขึ้น
กองทุนประหยัดภาษีในตลาดหุ้นต่างประเทศ แนว Infrastructure ที่ผมมองว่าน่าสนใจมีอย่างน้อย 2 กองทุน ได้แก่ KFINFRARMF ซึ่งมีกองทุน UBS (Lux) Infrastructure Equity Fund เป็น Feeder Fund และ KGIFRMF ซึ่งมีกองทุน Wellington Enduring Assets Fund, USD S Accumulating Unhedged เป็นกองทุนหลักที่อ้างอิง
โดย KFINFRARMF ผ่านกองทุน UBS (Lux) Infrastructure ตั้งเป้าลงทุนในธีมที่เน้นบริษัททั่วโลกที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบสมัยใหม่ รวมถึงสินค้าและบริการในแนวทางดังกล่าว ในขณะที่ KGIFRMF ผ่านกองทุน Wellington Enduring Assets Fund เน้นบริษัททั่วโลกซึ่งมีสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน อาทิ เซกเตอร์ Utility, การขนส่ง, พลังงาน, อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่ามีความสามารถในการแข่งขันและมีความผันผวนของกำไรที่ต่ำ
ในมิติของเซกเตอร์หรือธุรกิจที่ลงทุน KFINFRARMF โฟกัสไปที่ธุรกิจการจัดเก็บพลังงาน Oil & Gas และการขนส่ง ส่วน KGIFRMF โฟกัสไปที่ Electric และ Multi Utilities ในขณะที่ทั้งคู่ลงทุนในหุ้นสหรัฐราว 55-58% ของทั้งหมด KFINFRARMF ลงทุนในหุ้นยุโรป 34% ด้าน KGIFRMF ลงทุนในหุ้นยุโรป 24% โดยที่เหลือลงทุนในตลาดเกิดใหม่และญี่ปุ่น อีก 17%
นั่นคือ KFINFRARMF เน้นธุรกิจการจัดเก็บพลังงาน Oil & Gas ในยุโรป ส่วน KGIFRMF เน้นลงทุนใน Electric และ Multi Utilities ทั่วโลก ซึ่งโดยส่วนตัวชอบโมเดลของ KGIFRMF มากกว่าเล็กน้อย
ด้านผลประกอบการของกองทุน ณ 4 ธ.ค. 2024 ในระยะ 1 และ 3 ปี KGIFRMF ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า KKFINFRARMF ราว 5% และ 2% ตามลำดับ ส่วนในระยะ 5 ปี KFINFRARMF ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า KGIFRMF ราว 1.4% โดยทั้งคู่ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ดีมากในกลุ่ม Infrastructure
โดยสรุป ทั้ง KFINFRA-RMF และ KGIFRMF ถือว่าน่าสนใจสำหรับผู้ที่มองหากองทุนลดหย่อนภาษีที่เป็นสินทรัพย์ทางเลือก
หันมาพิจารณากองทุนลดหย่อนภาษีแนวพลังงานทางเลือกและสิ่งแวดล้อม กันบ้าง โดยแม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะมิได้มีนโยบายที่เน้นแนวรักษ์สิ่งแวดล้อม ทว่าอิลอน มัสก์ ฐานเสียงสำคัญของทรัมป์มีธุรกิจ EV ซึ่งทำให้นโยบายแนวโลกสีเขียวยังน่าจะได้ไปต่อในรัฐบาลของทรัมป์
กองทุนที่แนะนำ ได้แก่ B-SIPRMF ซึ่งมี Feeder Fund อยู่ 2 กอง ได้แก่ Pictet – Global Environmental Opportunities ซึ่งมีนโยบายลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางทำให้สิ่งแวดล้อมโลกดีขึ้นผ่านสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทานเพื่อช่วยให้โลกมีคาร์บอนต่ำลง และ Pictet – Clean Energy Transition ที่ลงทุนสัดส่วน 2 ใน 3 ของทั้งหมดเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสู่โลกคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการลงทุนที่โฟกัสอัตราส่วนทางการเงินเพื่อให้วัตถุประสงค์สามารถสำเร็จลุล่วงได้
ในมิติของเซกเตอร์ที่กองทุนต้นทางอ้างอิงทั้งสองลงทุน จะพบว่าในขณะที่ Pictet – Global Environmental Opportunities เน้นบริษัทในเซกเตอร์อุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโลกสีเขียวทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยหุ้น Top 5 ได้แก่ Carrier Gobal, Republic Services, Waste Connections, Agilent Technologies และ Equinix ด้าน Pictet – Clean Energy Transition จะโฟกัสไปที่เซกเตอร์เทคโนโลยีซึ่งมีการใช้ Know-how ด้านพลังงานทางเลือกเป็นหลัก โดยหุ้น Top 5 ได้แก่ Broadcom, Nextera Energy, Trane Technologies, Linde และ Iberdrola
สำหรับผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าทั้งคู่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดโดยรวมของสหรัฐ แม้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นร้อนแรง จะขึ้นน้อยกว่าตลาดเล็กน้อย แต่ในช่วงขาลง ราคาของกองทุนก็สามารถยืนได้ดีกว่าตลาด จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์แนวการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจ
สินทรัพย์การลงทุนทางเลือกที่น่าจะจำเป็นที่สุดในพอร์ตของทุกท่าน น่าจะเป็น ‘ทองคำ’ ซึ่งในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ ให้การสนับสนุน crypto แบบสุดตัว ยิ่งทำให้ทองคำจำเป็นมากขึ้นในพอร์ตเผื่อไว้ในกรณีที่สินทรัพย์ดิจิตัลอย่าง crypto เกิดสะดุดขึ้นมาในอนาคต จะได้เป็นกำลังหลักในพอร์ตที่น่าจะจำเป็นมากสำหรับการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐมีผลกระทบจาก crypto มากขึ้นกว่าในอดีต โดยผมมองไปที่ BGOLDRMF และ KGDRMF ว่าน่าสนใจกว่าเพื่อน แม้ว่ากองทุนทองประหยัดภาษีอื่น ๆ ก็น่าจะสามารถทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงได้ดีเช่นกัน
ทั้งนี้ ว่ากันว่าสินทรัพย์การลงทุนทางเลือกควรจะมีอยู่ในพอร์ตราว 5-10% ของทั้งหมด เพื่อใช้ในการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน โดยจะทำให้พอร์ตการลงทุนมีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP
MacroView, macroviewblog.com
คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวม SSF RMF และ Thai ESG กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขกองทุน | การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | บางกองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FinnomenaPort”