
ในขณะที่วลาดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กำลังสาละวนกับการต่อรองว่าจะให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในยูเครน จำนวน 1 หรือ 2 โรงเพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านการทหารจากสหรัฐของโดนัลด์ ทร้มป์ ผู้นำสหรัฐ ส่วนทางด้านวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้กับทรัมป์ว่าจะหยุดยิงชั่วคราวต่อยูเครนหรือไม่ ทั้งหมดเป็นเพียงการต่อรองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ของตนเองในระยะสั้น ซึ่งดูน่าจะเป็นเพียงละครช่วงสั้นๆ โดยเนื้อแท้แล้ว สงครามยูเครนกับรัสเซีย จะจบลงไหมแบบเบ็ดเสร็จ น่าจะอยู่ที่ว่ารัสเซียจะมีเม็ดเงินเหลือเพียงพอที่จะทำสงครามต่อได้ยาวนานแค่ไหน
โดยปัจจัยหลักที่จะตอบคำถามนี้ อยู่ที่ยุโรปจะตัดสินใจดำเนินมาตรการหลัก 2 เรื่องที่มีความสำคัญมากว่าจะออกมาในทิศทางไหน ในช่วงกลางปีนี้
เริ่มจากมาตรการแช่แข็งเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซียในยุโรปไม่ให้รัฐบาลรัสเซียนำไปใช้ได้ มูลค่าราว 1.80 แสนล้านยูโร
โดยผลโหวตว่าด้วยการตัดสินใจของสหภาพยุโรปในรอบถัดไป ซึ่งคือเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ต้องออกมาแบบเอกฉันท์เท่านั้น จึงจะทำให้การแช่แข็งเงินสำรองของรัสเซียทำได้ต่อ ซึ่งในรอบนี้ ฮังการีถือเป็นก้างขวางคอชิ้นโตที่ทางผู้นำได้ประกาศว่าจะออกเสียงคัดค้าน ในขณะเดียวกัน ทางยุโรปก็เตรียมออกเกณฑ์ใหม่ที่จะตัดหางฮังการีออกจากการโหวตในครั้งถัดไปเช่นกัน ว่ากันว่าหากรัสเซียไม่สามารถนำเงินสำรองดังกล่าวออกมาใช้ได้ การรบต่อไปในยูเครนในระยะถัดจากนี้จะทำต่อไปได้ลำบากมาก โดยตัวเลขมูลหนี้จากสงครามในครั้งนี้ของรัสเซียอยู่ที่ 5.23 แสนล้านยูโร ทั้งนี้ การตัดสินใจของยุโรปในขั้นต่อไป คือ การใช้ทุนสำรองดังกล่าวนำไปชำระความเสียหายจากผลของสงครามต่อยูเครนจากน้ำมือของรัสเซีย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของยุโรปเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ มีจุดที่น่าสนใจอยู่ 3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง การใช้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศไปจ่ายให้ยูเครนเพื่อชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามถือเป็นการยึดทรัพย์แบบไม่เป็นธรรมต่อรัสเซียหรือไม่? โดยในประเด็นนี้ เจเน็ต เยลเลน อดีต รมว.คลังสหรัฐ เคยให้ความเห็นว่าสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ในขณะที่อดีต รมว.คลัง ฝรั่งเศสเคยกล่าวว่าจะขอศึกษาให้ละเอียดก่อน
ล่าสุด มีแนวคิดที่หลายฝ่ายมองว่าจะทำให้การใช้เงินสำรองดังกล่าวไปจ่ายให้กับยูเครนน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ด้วยการให้ยุโรป (เงินสำรองของรัสเซียในตอนนี้อยู่ในการครอบครองของยุโรป) ปล่อยเงินกู้ให้กับยูเครน โดยมีเงินสำรองนี้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยที่รัสเซียถือเป็นลูกหนี้ของยูเครนจากความเสียหายของสงครามที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่ารัสเซียไม่มีเงินที่จะชำระหนี้ต่อยูเครน ทำให้ยูเครนสามารถนำหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งก็คือเงินสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียมาใช้ได้ตามกฎหมาย
สอง การยึดเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศถือเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติที่เหมาะสมหรือไม่? ในเรื่องนี้ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ประเมินว่าหากมีประเทศไหนที่ใช้กำลังทหารเพื่อยึดครองพื้นที่ของอีกประเทศหนึ่ง การยึดเอาเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศที่รุกรานเพื่อไปจ่ายเป็นค่าความเสียหายต่อประเทศที่ถูกรุกราน น่าจะมีความชอบธรรมว่าไม่ได้เป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมให้กับคนรุ่นต่อไป
โดยจะยึดแล้วไปจ่ายให้ยูเครนในทันที หรือ จะเปิดทางเลือกให้เปิดกว้างไว้ก่อน ขึ้นอยู่กับว่าสถานะทางการเงินของยูเครนเลวร้ายขนาดไหนในตอนนี้ และต้องการใช้การเปิดกว้างของทางเลือกนี้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัสเซียมากน้อยแค่ไหน
สาม การยึดเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศของยุโรป จะทำให้เงินยูโร ลดความน่าเชื่อถือลงหรือไม่? คำตอบ คือ น่าจะไม่ เนื่องมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่
สาเหตุแรก ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ในทางปฏิบัติ แทบจะไม่มีทางเลือกในการหาตลาดใหม่ที่จะนำเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศของตนเองไปลงทุนในที่อื่นๆ หากนำเงินออกจากเงินสกุลยูโร
สาเหตุสอง เงินยูโรไม่มีระดับเป้าหมาย สามารถขึ้นลงอย่างเสรีตามกลไกตลาด ซึ่งราคาตลาดสะท้อนทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
ท้ายสุด สหภาพยุโรปถือเป็นผู้ส่งออกเงินตราระหว่างประเทศ ไม่ใช่ผู้ส่งออกสินค้า ทำให้เงินยูโรเป็นที่หมายปองของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแต่
มาตรการหลักที่สองที่จะทำให้รัสเซียมีสายป่านยาวต่อไปหรือไม่ในสงครามยูเครน คือ การเปิดท่อก๊าซ Nordstream 2 ของรัฐบาลเยอรมัน เพื่อที่จะสามารถนำก๊าซธรรมชาติของรัสเซียส่งไปในประเทศต่างๆทั่วยุโรป โดยจะทำให้เยอรมันมีพลังงานราคาถูกใช้ในประเทศ ทว่าจะทำให้รัสเซียมีกำลังทรัพย์มาใช้จ่ายในสงครามยูเครน และเป้าหมายทางการเมืองระหว่างประเทศอื่นๆที่ปูตินต้องการในอนาคต
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP
MacroView, macroviewblog.com