หากใครได้ติดตามศึกชิงประธานธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว คงจำกันได้ว่าหนึ่งในตัวเก็ง ที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดต่อจาก อลัน กรีนสแปน ก่อนที่เบน เบอร์นันเก้ จะคว้าตำแหน่งนี้ไปแบบเฉียดฉิวคือ หนุ่มใหญ่มาดเนียบผิวสีสวมแว่นกรอบดำ นามว่า โรเจอร์ เฟอร์กูสัน ที่มีประวัติที่น่าสนใจ เริ่มจากมาเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พร้อมกับการหารายได้เสริมด้วยการเป็นคนทำความสะอาดตึก ที่เขาเองจะหวนกลับมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในอีกราว 40 ปีถัดมา หลังจากสำเร็จการศึกษา ทำงานที่บริษัทด้านกฎหมาย ต่อด้วยเป็นที่ปรึกษาด้านบริการการเงินให้ Mckinsey อีกกว่า 10 ปี จากนั้นเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนปริญญาโท นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐ ชักชวนเข้ามาเป็นรองประธานเฟดในยุคที่ นายจอร์จ บุช เป็นประธานาธิบดี หลังจากนายกรีนสแปนก้าวลงจากตำแหน่งประธานเฟด นายเฟอร์กูสันถือว่าเป็นเต็งคู่กับนายเบอร์นันเก้ ก่อนที่จะทราบกันว่าฝ่ายหลังจะดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลาร่วมหนึ่งทศวรรษ
หลังจากนั้น นายเฟอร์กูสันก็หันมารับหน้าที่ผู้บริหารในวงการกองทุนรวม ด้วยการผลักดันกองทุนเก่าแก่ที่เน้นการให้บริการการออมในรูปแบบกองทุนสำหรับครูและอาจารย์เพื่อวัยเกษียณที่ชื่อว่า Teachers Insurance and Annuity Association of America – College Retirement Equities Fund หรือเรียกกันสั้นๆว่า TIAA-CREF กองทุนนี้หากเป็นคนที่อยู่นอกวงการ อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่า Vanguard หรือ Blackrock แต่ถ้าเป็นคนในวงการแล้ว ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีมูลค่าของหน่วยการลงทุนเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเจ้าตลาดของหน่วยการลงทุนภาคบังคับของการออมเพื่อวัยเกษียณ
นายเฟอร์กูสันเริ่มเข้ามาบริหารให้ TIAA-CREF ในปี 2011 ด้วยการแบ่งประเภทกองทุนรวมให้เหมาะสมกับครูอาจารย์วัยเกษียณให้เป็นไปตามความกล้ายอมรับความเสี่ยงของแต่ละกลุ่ม มีการเปิดตลาดกองทุนใหม่ๆให้กับคนที่ทำงานอาชีพอื่นๆอีกด้วย ที่ถือว่าเป็นมิติใหม่ของกองทุนนี้คือการซื้อกองทุนที่เก่งด้านการเทรดหุ้นกู้อย่าง Nuveen ในปี 2014 เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับการลงทุนของสินทรัพย์ประเภทนี้
ความจริงแล้ว TIAA-CREF ไม่มีผู้จัดการกองทุนประเภทซูเปอร์สตาร์อยู่สักคน ทว่าผลประกอบการของกองทุนก็ถือว่าสามารถสู้กับกองทุนของแบรนด์ดังๆได้สบาย ด้วยการทำงานแบบทีมเวิร์ค อย่างไรก็ดี ในปี 2015 นายเฟอร์กูสันก็ตัดสินใจเสริมความแข็งแกร่งของ TIAA-CREF ด้วยการดึง นายวิเจย์ แอดวานิ ประธานร่วมของแฟรงกิน เทมเพิลตัน ที่มีประสบการณ์ในการบริหารกองทุนในวัยเกษียณของแฟรงกิน เทมเพิลตันให้กับชาวอินเดียรวมถึงในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆอีกหลายประเทศ
ตัวนายแอดวานิ มีวิสัยทัศน์ด้านการลงทุน ที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้
หนึ่ง เขามองลูกค้าที่เข้ามาซื้อหน่วยลงทุนกับ TIAA-CEF เสมือนการมาชอปปิงในห้างสรรพสินค้าที่ต้องการได้ TV ก็ต้องได้แบบที่ดีเยี่ยมสุดภายใต้แบรนด์ที่ต้องการ หรือหากอยากได้ Speaker ก็ต้องได้แบบที่มีคุณภาพลำโพงชั้นเยี่ยม เช่นเดียวกันกับกองทุนรวมของ TIAA-CREF
สอง นายแอดวานิขอเวลาอีก 10 ปี ในการเสริมสร้างด้านการบริการแนวธนาคาร หลังจากซื้อ EverBank แบงก์คุณภาพระดับขนาดกลาง
สาม นายแอดวานิจะจูงใจให้ชาวสหรัฐลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น หลังจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการลงทุนสูงขึ้นจากที่เคยเป็นศูนย์ขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 10 โดยเขาหวังให้ถึงร้อยละ 50 เป็นเป้าหมาย
สี่ กองทุนเด็ดๆ อาทิ กองทุนเพื่อการเกษียณสำหรับวัยทำงานตอนต้นอย่าง TIAA Lifecycle 2040 กองทุนสำหรับกิจกรรมเพื่อสังคมอย่าง TIAA CREF Social Choice Bond หรือหากต้องการล็อคผลตอบแทนที่ร้อยละ 5.4 อย่าง Nuveen Prefered Securiteis ล้วนแตกต่างกันในรูปแบบและเป้าหมาย ทว่าตอบโจทย์คนที่มีความกล้าเสี่ยงที่มีไม่เหมือนกัน
ท้ายสุด กองทุนของ TIAA-CREF ได้รับการจัดเกรดให้ถึง 4-5 ดาว จาก Morningstar แม้จะมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นระดับซูเปอร์สตาร์อยู่น้อยมาก เพราะทว่ามีทีมเวิร์คที่ดีสุดๆครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640915