เผลอแพลบเดียวเราก็ผ่านพ้นการเลือกตั้งและไตรมาสแรกของปี ผมมองว่าทิศทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของโลกและบ้านเรา จะถูกกำหนดด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้
หนึ่ง ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ อย่างเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยกลับหัวหรือ Inverted Yield Curve ซึ่งเริ่มจะขยายวงกว้างจากที่เกิดขึ้นเฉพาะส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย 5 ปีและ 2 ปี ติดลบเมื่อกลางปีที่แล้ว กลายมาเป็นว่าส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย 10 ปี และ 3 เดือน ติดลบเพิ่มไปอีกหนึ่งคู่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดูแล้ว น่าจะกำลังคืบคลานไปสู่ดัชนีหลัก อันได้แก่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย 10 ปีและ 2 ปี ติดลบ (ล่าสุดบวกอยู่ร้อยละ 0.134) ที่โอกาสสูงสุดว่าจะเกิดขึ้นแม้จะไม่ถึงครึ่ง ที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาเดือนนี้ หรืออาจจะเป็นช่วงปลายปีนี้ ที่อานิสงก์ของมาตรการลดภาษีของรัฐบาลสหรัฐที่ออกมาเมื่อต้นปีก่อนน่าจะเกือบหมดลง
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะดำเนินนโยบายการเงินที่ค่อนข้างผ่อนคลายกว่าในปีที่แล้ว เมื่อมองจากช่วงนี้ไปถึงช่วงปลายปีนี้ น่าจะคงหรืออาจจะลดดอกเบี้ยหนึ่งครั้งหากจำเป็น โดยมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและโลกคือความเสี่ยงหลักของเฟด อย่างไรก็ดี นโยบาย ‘อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย’ จะเป็นตัวหนุนเฟด (อ่านบทความฉบับวันที่ 20 มี.ค. 2562) ให้สามารถคงนโยบายการเงินผ่อนคลายได้แบบไม่เสียมวยในช่วงปลายปีนี้ ท้ายสุด ผลลัพธ์ของสงครามการค้าหรือ Trade War น่าจะยังคงดูเชิงกันจนถึงต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยบทสรุปน่าจะพักรบกันชั่วคราว ทว่าผลดีต่อบ้านเราก็ไม่มากเหมือนจีน เนื่องจากบ้านเราได้ผลดีจากการส่งออกไปสหรัฐแทนจีนในบางหมวดสินค้า
สอง นโยบายของจีน
เป็นสิ่งที่น่าจับตา ตรงจุดสมดุลระหว่างมาตรการจัดการ Shadow Banking และมาตรการบริหารการชะลอตัวของจีดีพี โดยที่มี 3 ลูกศรการเงินของ Xi-nomics (อ่านบทความฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2562) เป็นอาวุธให้กับรัฐบาลจีน
สาม การผ่อนคลายทางนโยบายการเงินของธนาคารหลักที่ไม่ใช่เฟด
อาทิ ธนาคารกลางยุโรปจะเพิ่มระดับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากกว่าที่เห็นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจาก Brexit และเศรษฐกิจในยุโรปที่อัตราการเติบโตลดลงอย่างน่าใจหายช่วงปลายปี นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะกลับมากระตุ้นรอบใหม่อีกครั้ง ในช่วงระหว่างเดือน พ.ค.- ก.ค. ปีนี้ เพื่อรองรับการอ่อนยวบลงของเศรษฐกิจตนเองก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะขึ้น VAT ในเดือนตุลาคมนี้
ท้ายสุด ธนาคารกลางอังกฤษ น่าจะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการ Macro-prudential เนื่องจากผลกระทบที่อย่างน้อยส่งผลทางจิตวิทยาของ Brexit ต่อทั้งอังกฤษและยุโรป
หากจะประเมินว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในไตรมาสนี้ น่าจะมองได้เป็นดังนี้
ณ ปลายไตรมาสแรกของปีนี้ มีข่าวร้ายอยู่ 2 เหตุการณ์เชิงลบที่น่าจะกระทบต่อ Sentiment ของตลาด นั่นคือ สัญญาณเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ อย่างเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยกลับหัวหรือ Inverted Yield Curve กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง และ ตลาดเกิดใหม่บางแห่งอย่าง อาทิ ค่าเงินของตุรกีเริ่มที่จะออกอาการแกว่งให้เห็น ผมจึงมองว่า หนึ่ง หากเศรษฐกิจสหรัฐกลับมาดูดี โดยสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐหายไปแบบสิ้นเชิง แล้วเฟดเกิดให้มุมมองต่อตลาดว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบโทนตึงตัว น่าจะทำให้โอกาสของตลาดเกิดใหม่เกิดอาการแกว่งค่อนข้างมากอีกรอบ จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็ง และราคาน้ำมันในปีนี้น่าจะอยู่ในโซนที่ค่อนข้างสูง
ในทางกลับกัน หากสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ อย่างเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยกลับหัว จากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย 10 ปีและ 2 ปี เกิดติดลบขึ้นมาจริงๆ จากสถิติในอดีตที่ 9 ใน 10 ครั้ง สัญญาณนี้สามารถทายเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐในระยะต่อมาได้ถูกต้อง โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอจนถึงถดถอยจะมีสูงมาก
จะเห็นได้ว่าจาก 2 เหตุการณ์ดังกล่าว โอกาสที่เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นจริง มีอยู่ค่อนข้างสูง ผมมองว่าถึง 60% เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยน่าจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเราเป็นประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี และ ความสัมพันธ์หรือความเชื่องโยงทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างบ้านเรากับสหรัฐในช่วงหลังๆ ดูลดน้อยถอยลงจากเดิมไปพอสมควร โดยบ้านเราจะไปผูกกับเศรษฐกิจและตลาดจีนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ก็ยังยากที่จะเลี่ยงโดนหางเลขดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ในส่วนของ Brexit บ้านเราแม้อาจจะโดนกระทบไม่มากเท่าไรนัก แต่ก็ยังต้องระวังอยู่เช่นกัน
ที่เป็นไฮไลท์จริงๆ คือมีข่าวที่เกือบจะดีมากในวันที่ 10 เม.ย.นี้ ที่น่าจะเกิดขึ้น ทว่าเกิดโชคร้ายในแง่จังหวะเวลา โดยแต่เดิมธนาคารกลางยุโรปน่าจะปล่อยของ ด้วยการประกาศกระตุ้นนโยบายการเงินในวันที่ 10 เม.ย. ประมาณเวลา 2 ทุ่มตามเวลาบ้านเรา ทว่าเผอิญการประชุมของสภายุโรปว่า จะตัดสินใจครั้งสำคัญในประเด็น Brexit จะเกิดขึ้นในตอนตี 5 ของวันที่ 11 เม.ย. ตามเวลาบ้านเรา จึงน่าจะทำให้ธนาคารกลางยุโรปยังไม่เปิดตัวใช้แพ็คเกจการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินแบบเต็มสูบ เนื่องจากนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป ณ ค่ำวันที่ 10 เม.ย. ตามเวลาบ้านเรา ยังไม่ทราบผลการตัดสินใจในประเด็น Brexit ของสภายุโรป
ท้ายสุด เมื่อหันมาดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยของเดือนก.พ.ที่เพิ่งออกมา มีอยู่จุดหนึ่งที่ผมดูแล้วไม่ค่อยสบายใจนักคือ Manufacturing Production Index ที่ออกมาติดลบพร้อมๆ กับที่ตัวเลขการส่งออกในเดือน ก.พ.ที่หดตัวลง ทั้งเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วและช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
รวมถึงจากสถิติในอดีตของบ้านเรา สำหรับช่วงเวลาหลังการเลือกตั้ง ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นตัวช่วยของเศรษฐกิจเดือนก.พ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินค้าคงทนมักจะหดตัวลงโดยเฉลี่ยประมาณ 1% จึงทำให้มองได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยของเดือน เม.ย. ที่จะออกมา น่าจะค่อนข้างไม่มีปัจจัยหนุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้อาจต้องรอจนถึงราวกลางเดือน พ.ค.เป็นต้นไป ที่การกระตุ้นของทั้งธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นเริ่มคลอดออกมา รวมถึงความชัดเจนทางการเมืองในบ้านเราที่น่าจะมีมากขึ้น ซึ่งปัจจัยการเมืองในบ้านเราถือเป็นพระเอกในบรรดาปัจจัยทั้งหมดสำหรับไตรมาสนี้ ช่วยทำให้การส่งออก และการบริโภครวมถึงการลงทุนตามลำดับ ดีขึ้นมา
ผมจึงมองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 ทั้งบ้านเราและของโลก น่าจะเปิดต้นไตรมาสด้วยข่าวที่ไม่สู้ดีนัก แต่พอเข้าช่วงปลายไตรมาสน่าจะพอไปได้จนถึงดีในระดับหนึ่งครับ
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646945