เมื่อเจย์ พาวเวล : “ลดความแน่นอนของ QE Tapering”

ถ้าจะมีประโยคเดียวที่จะสรุปผลการประชุมนัดสำคัญของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เมื่อคืนวันที่ 22 กันยายน 2021 คือ เจย์ พาวเวล ประธานเฟด กังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายในตลาดหุ้นจากการลดการซื้อพันธบัตรสหรัฐหรือ Taper Tantrum เหมือนเมื่อปี 2013 ที่เบน เบอรนันเก้ อดีตประธานเฟดได้เคยทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสะเทือนจากการเกริ่นเรื่อง QE Tapering หรือการลดปริมาณการซื้อพันธบัตรสหรัฐ เนื่องจาก ณ ตรงนี้ มี 2 ความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นมาหลังการประชุมเฟดที่ แจ็ควัน โฮลว์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

จึงทำให้พาวเวลตัดสินใจไม่ใส่ข้อความที่แสดงรายละเอียดว่าด้วยตารางการลด QE ลงใน Statement ของเฟด หรือแม้แต่จังหวะเวลาที่จะประกาศตาราง QE Taper เสียด้วยซ้ำไป โดยพาวเวลให้ความเห็นว่าเฟดอยากจะรอข้อมูลตลาดแรงงานหรือ Job Data ในเดือนกันยายนนี้ ว่ามีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ก่อนที่จะเคาะตาราง QE Taper  ทว่าให้ความเห็นว่าน่าจะ Taper ได้ช่วงต้นปีหน้า และน่าจะสามารถจบ QE Taper ในช่วงกลางปีหน้า

ผมขอตอบคำถาม 4 ข้อ เกี่ยวกับการประชุมเฟดเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่ามีภาพใหญ่ ๆ ออกมาอย่างไรบ้าง ดังนี้

  1. เฟดทำการประกาศแนวทางการลดการซื้อพันธบัตรสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ มากน้อยแค่ไหน?

คำตอบ คือ มี น้อยกว่าที่คาดไว้ โดยมิได้ระบุอะไรใด ๆ ในผลการประชุมของเฟดที่ประกาศออกมาในถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ มีแต่เพียงการพูดผ่านทางวาจาว่าน่าจะเริ่มลด QE ในช่วงต้นปีหน้า

  1. มีการพูดถึงความเร็วในการลด QE หรือไม่?

คำตอบ คือ น่าจะใช้เวลาราว ๆ 6 เดือน โดยกล่าวในทางวาจาว่าจะเริ่มลด QE ในช่วงต้นปีหน้า และเสร็จสิ้นในตอนกลางปีหน้า รวมถึงบอกว่าจะมีความยืดหยุ่นในความเร็วของการลด โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ

  1. การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตของสมาชิกคณะกรรมการเฟดแต่ละท่าน หรือ Dot Plot มีหน้าตาเป็นอย่างไร?
ปี ระดับดอกเบี้ย (คาดการณ์ ณ กันยายน 2021) ระดับดอกเบี้ย (คาดการณ์ ณ กรกฎาคม 2021)
2022 0.25% (ขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง) 0% (ขึ้นดอกเบี้ย 0 ครั้ง)
2023 0.75% (ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง) 0.5% (ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง)
2024 1.75%
ระยะยาว 2.5% 2.5%

คำตอบ คือ ขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น 1 ครั้ง ในปี 2022  จากคาดการณ์เดิมเมื่อ 3 เดือนก่อน โดยล่าสุด ครึ่งหนึ่งของสมาชิกเฟดทั้งหมด คาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปี 2022  และ ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2023 รวมถึงอัตราดอกเบี้ย คาดว่าจะเท่ากับร้อยละ 1.75 ในปี 2024

ท้ายสุด ภาพเศรษฐกิจสหรัฐ หรือ Economic outlook ของสมาชิกเฟด จะเป็นเช่นไร?

คำตอบ คือ ปี 2021 เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะชะลอลงหรือจีดีพีเติบโตลดลงร้อยละ 1 จากการประเมินครั้งก่อน โดยมองว่าจีดีพีสหรัฐปี 2021 จะโตอยู่ที่ราวร้อยละ 5 ลดลงจากร้อยละ 6 ที่เคยคาดไว้เมื่อ 3 เดือนก่อน แต่ปี 2022 สมาชิกเฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ดีขึ้นในปีหน้า โดยคาดว่าจะโตขึ้นมาเป็นร้อยละ 4 จากร้อยละ 3.5

ด้านอัตราการว่างงานสหรัฐ ในปี 2021 น่าจะสูงขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดก่อนหน้าเป็นร้อยละ 4.8 และในปี 2022 น่าจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7

โดยสรุป คือ ข้อความที่บันทึกในถ้อยแถลงของเฟดอย่างเป็นทางการของพาวเวล ดูแล้วเหมือนอยากจะผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรือ Dovish ทว่าในทางวาจา ออกมาค่อนข้างจะลด QE ค่อนข้างเร็วหรือ little Hawkish

คราวนี้ หันมาสรุป Dot plot ด้านอัตราเงินเฟ้อกันบ้าง โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2021 ล่าสุด มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยขึ้นมาถึงร้อยละ 1.5 จากคาดการณ์เดือนมีนาคม 2021 ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2022 ล่าสุด มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 โดยขึ้นมาร้อยละ 0.5 จากคาดการณ์เดือนมีนาคม 2021

ท้ายสุด สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นต่าง ๆ จากการประชุมเฟดในระยะสั้น สำหรับในครั้งนี้ ผมคาดไว้เป็นดังนี้

  • ตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะสามารถขยับขึ้นไปได้ต่ออีกเฮือกหนึ่ง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ไม่น่าสูงขึ้นมากเท่าไรนักอย่างที่กังวลกันก่อนหน้า จากท่าทีของพาวเวลในครั้งนี้
  • ตลาดหุ้นจีน น่าจะได้รับผลดีเล็กน้อย เนื่องจากเป็นการลดแรงกดดันต่อแบงก์ชาติจีนในการดำเนินนโยบายการเงินจีน ในช่วงต่อไป
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น น่าจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เนื่องจากตลาดหวังแบงก์ชาติญี่ปุ่นจะมี Surprise Move แต่มองแล้วน่าจะค่อย ๆ ทำ รวมถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะหวังเติบโตเพิ่มได้จากความหวังจากนโยบายใหม่ ๆ ในการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้
  • ตลาดหุ้นยุโรป น่าจะได้รับผลดีเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปน่าจะสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อในช่วงสั้น และมูลค่ายังถูกนิด ๆ เมื่อเทียบกับสหรัฐและญี่ปุ่น
  • ด้านตลาดหุ้นไทย น่าจะได้รับผลดีเล็กน้อย จากความเป็นได้ที่แบงก์ชาติบ้านเราอาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายได้ง่ายลง จากการที่เฟดยังไม่ชัดเจนเรื่อง QE Taper แบบ 100% ณ ตรงนี้ รวมถึงฟันด์โฟลว์ที่มาสู่ตลาดเกิดใหม่และบ้านเราน่าจะดีขึ้นเล็กน้อย จากค่าเงินดอลลาร์ที่น่าจะลดระดับความแข็งลงบ้าง ในช่วงเวลานับจากนี้ไปอีกราวกว่า 1 เดือน

MacroView

ที่มาบทความ: http://www.macroviewblog.com/blog/economics/powellqetaper/

TSF2024