ช่วง Great Depression ในทศวรรษ 1930 และช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2009-2015 หากมองในแง่เศรษฐกิจและการเงินแล้ว พบว่า มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ 5 ประการ ได้แก่
- ลิมิตหนี้ภาครัฐแตะจุดที่สูงสุดใกล้จะเป็นฟองสบู่เต็มที ส่งผลให้เศรษฐกิจและตลาดอยู่ในจุดที่สูงสุด เช่นในปี 1929 และปี 2007
- อัตราดอกเบี้ยแตะระดับศูนย์ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอย เช่นในปี 1932 และปี 2008
- มหกรรมการพิมพ์เงินของธนาคารกลางเริ่มต้นขึ้น ส่งผลให้เกิดการเริ่มลดอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีหรือ deleveraging ในปี 1933 และปี 2009
- ตลาดหุ้นและ ‘สินทรัพย์เสี่ยง’ อยู่ในภาวะเฟื่องฟู อย่างเช่น ระหว่างปี 1933-1936 และ ปี 2009-2017
- เศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวตามวัฏจักร อย่างเช่น ระหว่างปี 1933-1936 และ ปี 2009-2017
นอกจากนี้ ในทางการเมือง มีปรากฎการณ์หนึ่งที่เหมือนกันคือการสร้างผู้นำแนวประชานิยมขึ้นมาหลายท่าน ณ ตอนนี้ ที่ดูแล้วจะโดดเด่นสุดคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่วนในยุค Great Depression ทศวรรษที่ 1930 ได้แก่ อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ โดยมูลเหตุของการเกิดกระแสประชานิยม ได้แก่
- เกิดช่องว่างในมุมของความมั่งคั่งและโอกาสระหว่างคนรวยกับคนจน
- พวกผู้ดีเก่าหรือผู้นำแบบที่ยืนอยู่บนหอคอยงาช้าง ยังเรืองอำนาจอยู่
- รัฐบาลไม่ไ่ด้ทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า
ผมได้มีโอกาสอ่านงานของเรย์ ดาลิโอ ที่เขียนถึงผู้นำแนว ‘ประชานิยม’ จึงขอนำมาสรุปสำหรับคนที่เด่น 3 ท่าน ได้แก่ แฟรงกิน ดี รูสเวลท์ อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ และ ฮูโก ชาเวซ เพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ในตอนท้าย
นายรูสเวลท์ ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในปี 1932 จากเศรษฐกิจที่ซบเซา สี่ปีถัดมา ประธานาธิบดีรูสเวลท์ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ด้วยนโยบายประชานิยมที่สุดโต่งขึ้นไปอีก คล้ายคลึงกับนโยบาย ‘America First’ ของโดนัลด์ ทรัมป์ที่เอาใจชาวอเมริกันผิวขาวที่ค่อนข้างยากจน
ประธานาธิบดีรูสเวลท์ ทำการลดค่าเงินดอลลาร์และปฏิรูปเชิงโครงสร้างหลายรูปแบบด้วยขนาดงบประมาณมหาศาล เพื่อแก้ปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ในด้านการค้าต่างประเทศ ประธานาธิบดีรูสเวลท์เริ่มด้วยการลดภาษี tariff ในช่วงต้น จากนั้นก็เพิ่มอัตราภาษีกับสินค้ากว่า 2 หมื่นรายการ จนทำให้เกิดสงครามการค้าส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งสภาคองเกรสต้องยกเลิกการขึ้นภาษีดังกล่าว ในมิติด้านการต่างประเทศ ประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้เพิ่มการแทรกแซงกับประเทศอื่นๆทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จนมีส่วนทำให้เกิดศึกอ่าวเพิร์ล ฮาเบอร์
ด้านผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีหุ้นสหรัฐขึ้นมากว่า 3 เท่า ว่ากันว่าส่วนหนึ่งมาจากการเลิกตรึงเงินดอลลาร์กับมาตรฐานทองคำ
มาถึงผู้นำแนวประชานิยมท่านที่สอง ได้แก่ อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ประชาชนชาวเยอรมันที่เลือกฮิตเลอร์ในปี 1933 ให้เข้ามาเป็นผู้นำของเยอรมันนีมีโปรไฟล์ที่คล้ายคลึงกับของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นั่นคือ เป็นชาวชนบท มีฐานะชนชั้นกลางล่างจนถึงยากจน รวมถึงเป็นกลุ่มที่ไม่เคยออกมาเลือกตั้งเลยในอดีต โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจของฮิตเลอร์มีอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้
- การรวมศูนย์อำนาจของชนชั้นแรงงานให้มาอยู่ในมือของผู้นำอย่างฮิตเลอร์
- รวมศูนย์อำนาจการผูกขาดของอุตสาหกรรมหลักๆในเยอรมันให้มาอยู่ในมือของฮิตเลอร์
- ทำการพิมพ์เงินให้เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำการรวบอำนาจด้านระบบการเงินผ่านการนำเอาแบงก์ต่างๆเข้ามาอยู่ในมือของรัฐบาล และสร้างอุปสงค์ของสินค้าและบริการผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นกว่าในอดีต
- ทำการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนและควบคุมราคาสินค้าวัตถุดิบเพื่อไม้ให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งเร็วเกิน รวมถึงเป็นการให้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมที่รัฐบาลควบคุมอยู่
ด้านผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีหุ้นเยอรมันขึ้นราวปีละร้อยละ 15 ในปี1933 และ ปี 1934 ว่ากันว่าส่วนหนึ่งมาจากการกระจายเงินผ่านแบงก์รัฐที่ยึดมาจากเอกชน
ผู้นำแนวประชานิยมคนสุดท้าย ได้แก่ ผู้นำของเวเนซุเอลา ในยุคปี 1999-2013 นามว่าฮูโก ชาเวซ การขึ้นมาของประธานาธิบดีชาเวซคล้ายคลึงกับผู้นำของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย นั่นคือ ขึ้นมาด้วยการสัญญาว่าจะล้มล้างการคอร์รัปชันและล้มล้างความยากจน
ในช่วงแรกๆของยุคชาเวซ เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงทำให้ทำอะไรก็ดูดีไปไหมด รายได้ชาวเวเนซุเอลาสูงขึ้น อย่างไรก็ดี หลังจากที่ราคาน้ำมันเริ่มลดลง การขาดดุลงบภาครัฐแบบที่ควบคุมไม่ได้จนทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแบบไม่หยุด ค่าครองชีพของชาวบ้านสูงขึ้นมากจนอยู่กันแทบไม่ได้
นโยบายการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ของเวเนซุเอลาไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่ โดยสรุป หากมองในแง่ของนายทรัมป์มีส่วนผสมของนโยบายต่างๆจากผู้นำประชานิยมทั้งสามท่าน ส่วนผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นก็สอดคล้องกับผู้นำสองท่านแรกครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640868