นโยบายการเงินและเศรษฐกิจ... หลังโควิด

ในช่วงนี้ มีการพูดถึงภาพของโลกในยุคหลังโควิดกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งบทความนี้จะขอแชร์มุมมองในมิติของนโยบายการเงินและภาพใหญ่เศรษฐกิจบ้าง

แนวคิดที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำไปอีกสักพักจากอุปสงค์ที่มีน้อยกว่าอุปทานเยอะ ผ่านไอเดีย Secular Stagnation โดยใช้หัวข้อการทดสอบด้วยปัจจัยเสี่ยง ข้อที่นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรมว.คลัง สหรัฐ เจ้าของแนวคิดนี้ ใช้ประเมินระดับความตกต่ำของเศรษฐกิจจากกับดักเศรษฐกิจที่ว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคหลังโควิด-19 มีดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงแรก หากเศรษฐกิจใดที่มีประชากรเติบโตช้าลงและมีคนวัยทำงานที่ลดลง รวมถึงมีเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้น นั่นหมายถึงมีความต้องการสินค้าทุนและการลงทุนที่ชะลอตัวหรือลดลง ส่งผลให้ความต้องการของเงินทุนลดลงและอัตราดอกเบี้ยลดลงจนอาจจะติดลบในที่สุดซึ่ง จะเห็นได้ว่าในช่วงปีนี้ เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคนั้น มีความเสี่ยงต่อปัจจัยดังกล่าวเป็นอันมาก

ปัจจัยเสี่ยงที่ 2 ยิ่งเกิดความไม่เท่าเทียมของรายได้มากขึ้นเท่าใด อัตราส่วนของรายได้ที่สูงขึ้นก็จะไปตกกับผู้ที่มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายลดลง โดยประเทศในโลก ณ ปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่รายได้ส่วนใหญ่จะไปตกกับผู้ที่มีรายได้สูงสุดอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงทำให้แรงจับจ่ายใช้สอยลดลง และไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการได้เท่าที่ควร ระดับดอกเบี้ยจึงต้องต่ำมากๆ เพื่อช่วยกระตุ้นอีกแรง

ปัจจัยเสี่ยงที่ 3 ได้แก่ การที่ยิ่งมีขนาดของตลาดเงินและภาคการเงินจากกลุ่มเศรษฐกิจจริงต่อขนาดเศรษฐกิจโดยรวมหรือจีดีพีในสัดส่วนที่มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งกลัวความเสี่ยงมากตอนเกิดวิกฤติมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการด้านกฎเกณฑ์ทางการเงินสูงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่รับและจ่ายของสถาบันการเงินมากขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้ยิ่งไปกดให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำให้ต่ำลงไปอีก ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังโควิด หลายประเทศจะมีสัดส่วนของภาคการเงินต่อจีดีพีสูงกว่าที่เคยเป็นมาในตอนนี้

ปัจจัยเสี่ยงที่ 4 ธนาคารกลางใดที่ในตอนนี้มีความต้องการที่จะซื้อสินทรัพย์ทางการเงินและขยายงบดุลของตนเองมากที่สุด ก็จะยิ่งไปเพิ่มความต้องการสินทรัพย์ปราศจากความเสี่ยง ซึ่งจะไปลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางหลักเกือบทุกแห่งเข้าข่ายคุณลักษณะข้อนี้มากที่สุด จึงไม่แปลกที่เศรษฐกิจโลกในตอนนี้จะเสี่ยงต่อ Secular Stagnation มากกว่าที่เคย

ปัจจัยเสี่ยงที่ 5 ยิ่งประเทศใดมีอัตราเงินเฟ้อต่ำมากหรือเงินฝืด ก็จะทำให้อัตราเงินดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น ซึ่งจะไปลดความต้องการลงทุนให้ลดลงไปอีก หนำซ้ำยังไปลดระดับผลผลิตที่อยู่ในจุดที่ใช้ศักยภาพสูงสุดของเศรษฐกิจ เนื่องจากสินค้าทุนและแรงงานที่ลดลงจากระดับการลงทุนที่ลดลง

ปัจจัยสุดท้าย จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างอัตราการเติบโตที่คาดการณ์และที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันของเศรษฐกิจโลกในประเทศหลักและบางประเทศในตลาดเกิดใหม่ มีความใกล้เคียงกับความแตกต่างดังกล่าวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 80 ต่อ 90 เป็นอันมาก

สิ่งนี้ทำให้อาจต้องจับตาว่านายเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ และนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป น่าจะต้องเสริมความเข้มข้นในการใช้มาตรการนโยบายการเงินให้สูงขึ้นไปอีก เพราะสภาพทุกอย่างของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ถือว่าเสี่ยงกว่าที่เคยจนอาจจะไม่สามารถกลับไปมีเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะปกติอีกต่อไป

สำหรับมาตรการที่เป็นหนทางแก้ในระยะสั้น นอกจากมาตรการด้านการคลังแล้ว กระแสการใช้นโยบายการเงินแนวใหม่ที่ฉีกจากตำราเดิมกำลังเริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายภูมิภาคของโลก โดยสำหรับ New Normal ของนโยบายการเงินของธนาคารกลาง หลังโควิด ประกอบด้วย

1.การให้เงินแบบให้เปล่าต่อกระทรวงการคลังโดยธนาคารกลาง หรือ Monetary Financing โดยธนาคารกลางแห่งหลักของโลก น่าจะเป็นทางเลือกที่มีน้ำหนักมากขึ้น จากที่เคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย

2.นโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบติดระดับศูนย์ หรือ Zero Interest Rate Policy (ZIRP) จะเป็นนโยบายที่แทบทุกธนาคารกลางต้องทำในยุคนี้ เนื่องจากจะมีส่วนให้เกิดผลดีช่วยเสริมการกระตุ้นผ่านมาตรการด้านการคลังต่อเศรษฐกิจ

3.มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE แบบซื้อพันธบัตรภาครัฐ รวมถึง QE สำหรับหุ้นกู้เอกชน จะกลายเป็นอาวุธแบบพื้นฐานคล้ายนโยบายอัตราดอกเบี้ยทั่วไป

4.การปล่อยกู้แบบมีหลักประกันของธนาคารกลาง จะเป็นตัวช่วยให้กับนโยบายการคลังของรัฐบาลเพื่อสู้กับวิกฤติโควิด

5.แนวโน้มต่อไปคือการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของสถาบันการเงินเพื่อให้สินเชื่อของแบงก์พาณิชย์มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรงหนึ่ง

นอกจากนี้ สำหรับนโยบายการเงินยุคหลังโควิดนั้น ผมประเมินว่า จะมี 3 แนวทางหลักแบบใหม่ ได้แก่

แนวทางแรก สาย QE หรือการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ประกอบด้วย การทำ QE ผ่านตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ETF รวมถึงการทำ QE ผ่านตลาดรอง ที่เรียกว่า OMT (Outright Monetary Transactions) ซึ่งธนาคารกลางยุโรปเพิ่งกลับมาเริ่มทำใหม่อีกครั้ง รวมถึงการปล่อยกู้แบบมีหลักประกันของธนาคารกลาง

แนวทางที่ 2 สายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากหรือติดลบ ที่เรียกว่า Zero Lower Bound (ZLB) ประกอบด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยศูนย์ หรือ อัตราดอกเบี้ยติดลบ รวมถึงการตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะเวลาปานกลางให้อยู่ที่ค่าหรือช่วงใดช่วงหนึ่ง

แนวทางสุดท้าย สาย Modern Monetary Theory (MMT) ประกอบด้วย การพิมพ์เงินของธนาคารกลางเพื่อให้รัฐบาลผ่านกระทรวงการคลังนำไปใช้โดยไม่เป็นภาระในการชำระคืนต่อธนาคารกลางในอนาคต

จะเห็นได้ว่าสำหรับโลกยุคหลังโควิด นอกจากชีวิตประจำวันของเราจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นโยบายเศรษฐกิจก็จะเปลี่ยนแปลงไปเยอะด้วยครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650189