สัปดาห์ที่แล้ว เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ได้ตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการธนาคาร วุฒิสภาสหรัฐ
โดยจุดสำคัญของมุมมองเฟดในวันนั้น ได้แก่ ‘conflicting signal’ หรือพบสัญญาณเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกันเองระหว่างดีกับร้าย และรายละเอียดแผนการลดขนาดงบดุลเฟดว่าใกล้เสร็จเต็มที โดยยังย้ำว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจของเฟด อย่างไรก็ดี พาวเวล เลี่ยงให้ความเห็นเรื่อง trade war ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตรงนี้ดูแปลกมากในฐานะประธานเฟด
โดยคำถามในวันนั้น ที่หลายท่านพูดถึงต่อๆ กันจนในวันนี้ ไม่มีทีท่าว่าจะเลิกลา คือ แนวคิด Modern Macroeconomic Theory (MMT) ที่บางท่านมองว่าเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาคแนวใหม่ ที่ถือว่าฮ็อตสุดๆ ในกลุ่มพรรคเดโมแครต สาย Liberal เนื่องจากแนวคิดนี้ให้ความสำคัญต่อผู้ใช้แรงงานมากกว่าบรรดาเศรษฐีและนักลงทุนในวอลล์สตรีท โดยพาวเวล ตอบว่าแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้มีสาระสำคัญที่จะนำมาใช้ได้ในทางปฏิบัติ
ก่อนอื่นผมขอเล่าถึงเบื้องหลังที่ทำให้ MMT ซึ่งเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ถือว่าใหม่ ได้กลายเป็นกระแสที่จุดติดในโลกโซเชียลแบบเคยขึ้น TOP 10 ของแฮชแทกในทวิตเตอร์ด้วย เนื่องจาก นักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคเดโมแครตที่เป็นสาย Liberal ได้พยายามนำเสนอนโยบายที่จะตอบโจทย์ให้กับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งวัย Millennial จึงมีการเสนอนโยบาย New Green Deal ที่คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีการใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ซึ่งอันเป็นที่มาของการนำเสนอนโยบายแผนการที่จะขึ้นอัตราภาษีกับผู้ที่มีรายได้เยอะๆ โดยนักการเมืองบางท่านจะใช้อัตราภาษีกว่าร้อยละ 60 ต่อผู้ที่มีรายได้เป็นหลักสิบล้านดอลลาร์
มาถึงตรงนี้ กุนซือของนักการเมืองเหล่านี้เลยพยายามหากรอบเศรษฐศาสตร์มหภาคแนวใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการลดบทบาทของเฟด เนื่องจากเฟดในปัจจุบันเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายต่อเศรษฐกิจสหรัฐว่าอยากจะให้ไปทางใด แน่นอนว่าพาวเวลต้องค้านแนวคิดการขึ้นภาษีนี้
สำหรับแนวคิดที่ MMT เห็นต่างจากแนวทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่เกือบทุกประเทศใช้กันอยู่ในขณะนี้ คือ แนวคิดนี้เชื่อว่าการกำหนดลำดับของการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจควรจะมีลำดับดังนี้ เริ่มต้นจากการใช้อัตราดอกเบี้ยที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจ จากนั้น จึงค่อยเลือกใช้นโยบายการคลังที่เหมาะสมตามสถานการณ์ต่างๆ ตามหน้างานในช่วงนั้น ด้วยการเพิ่มหรือลดการใช้จ่ายภาครัฐหรือปรับขึ้นหรือลดนโยบายทางภาษี
ทั้งนี้ จะว่าไป MMT ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทว่ามาจากแนวคิดที่ชื่อ Functional Finance ของแอบบา เลอร์เนอร์ เมื่อราวกว่า 60 ปีที่แล้ว ที่เริ่มจากสมมติฐานที่ว่า การที่สหรัฐมีอำนาจอิสระในการพิมพ์เงินสกุลหลักของโลก ‘อัตราเงินเฟ้อ’ จึงไม่ใช่ประเด็นหลักในการพิจารณาบริหารเศรษฐกิจ นโยบายการคลังต่างหากที่จะเป็นตัวแปรที่ทางการสหรัฐจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี สมมติฐานในการวิเคราะห์ของเลอร์เนอร์คือ เงินตราในระบบเศรษฐกิจเป็น fiat currency หรือเงินที่ไม่มีมีสินทรัพย์จริงหนุนหลัง และไม่มีการก่อหนี้ต่างประเทศ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากเศรษฐกิจอเมริกาในยุคปัจจุบัน ถือว่าสอดคล้องกับยุคนั้นมากกว่าในขณะนี้
สำหรับประเด็นที่มีการถกเถียงกันแบบเผ็ดร้อน ไม่แพ้เวทีดีเบตการเมืองในบ้านเรา ณ นาทีนี้ ระหว่างพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และ พลพรรคที่เชื่อมั่นในแนวคิด MMT ได้แก่ หนึ่ง การทดแทนกันเองระหว่างการลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชน (Crowding out) สอง อัตราดอกเบี้ยที่ MMT พิจารณาว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจนั้นมีอยู่จริงไหม หรือ นโยบายการเงินและการคลังสามารถทดแทนกันได้ไหม สาม ระดับการขาดดุลภาครัฐที่เหมาะสมมีเพียงจุดเดียวจริงหรือไม่ ดังนี้
หนึ่ง ปรากฏการณ์ Crowding out ระหว่างการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน แสดงดังกราฟ IS/LM ดังรูป โดยจากรูป ที่จุด A เป็นจุดที่การจ้างงานมีน้อยเกินไป จึงต้องมีการกระตุ้นด้วยนโยบายการคลัง ให้กราฟ IS ขยับไปทางขวา อย่างไรก็ดี เมื่อเส้น IS มาถึงจุด B ซึ่งเป็นจีดีพีที่จุดซึ่งการจ้างงานเต็มที่ หากจะการกระตุ้นต่อทางการคลังต่อ จะทำให้เส้น IS ขยับเป็นจุด C ซึ่งไม่ทำให้การจ้างงานเพิ่มแต่อย่างใด ทว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นแกนตั้งจะสูงขึ้นอย่างเดียว นั่นคือการลงทุนภาครัฐแม้จะสูงขึ้นจากนโยบายการคลัง ก็จะถูกการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกลบหรือชดเชยไป จนกระทั่งมูลค่าการลงทุนสุทธิเท่าเดิม นี่คือสิ่งที่ครุกแมนมองว่าเป็นจุดอ่อนที่ MMT ถึงจะใช้นโยบายการคลังเป็นตัวนำ อย่างไรเสียก็ไม่ได้มีอะไรใหม่
สอง ครุกแมนกับพลพรรค MMT ถกเถียงกันว่า ระหว่าง อัตราดอกเบี้ย กับ การขาดดุลภาครัฐ อะไรเป็นเครื่องมือที่ไว้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่ากัน ฟากครุกแมนประเมินว่าดอกเบี้ยสามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้ไม่ต่างจากการขาดดุลภาครัฐ ฝั่งตรงข้ามมองว่าดอกเบี้ยมีจุดอ่อนที่เป็นเพียงต้นทุนทางการเงินไม่ใช่ตัวเงินที่ถึงมือผู้ตนต่างๆในระบบเศรษฐกิจ จุดที่ MMT ถูกครุกแมนโจมตีคือ MMT มองว่าการขาดดุลภาครัฐจะทำให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (อันเป็นที่มาของความเชื่อของ MMT ที่เน้นว่าการเป็นหนี้ของรัฐบาลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐโดยไม่มีผลเสีย เนื่องจากรัฐบาลสามารถพิมพ์เงินได้ตลอด) ซึ่งในความเป็นจริงนั้น อัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวปรับสมดุลของปริมาณเงินในระบบให้เข้าสู่ดุลยภาพ
สาม MMT มองว่าระบบการจ้างงานแบบตลอดชีพจะส่งผลถึงความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และจะทำให้การกำหนดระดับการขาดดุลภาครัฐ สามารถทำได้ผ่านการปรับสัดส่วนระหว่างการจ้างงานตลอดชีพต่อการจ้างงานทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าจุดนี้ MMT ถือว่ายังมีความคลุมเคลืออยู่มาก โดยทั้งคู่ ยังถกเถียงกันว่าระดับการขาดดุลภาครัฐที่เหมาะสมมีอยู่หรือไม่
ผมมองว่าแนวคิด MMT เป็นแนวทางที่ลงตัวในแง่ของกระแสทางการเมืองแนวเสรีนิยมของเดโมแครต ที่ตั้งใจจะให้หนี้ภาครัฐยังสามารถอยู่ในระดับที่สูงได้ เพื่อวัตถุประสงค์ของการเป็นแหล่งเงินในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการให้สวัสดิการต่อผู้มีรายได้น้อย โดยอาจมีบางส่วนใช้เงินจากภาษีที่เก็บกับคนรวย
อย่างไรก็ดี ถ้าสังเกตให้ดีๆ ยังไม่มีนักวิชาการระดับแม่เหล็กเข้ามาช่วยให้ MMT ดูน่าเชื่อถือขึ้นมามากๆ โดยส่วนตัว ผมมองว่าตรรกะของการใช้นโยบายการคลังเป็นตัวนำนโยบายการเงิน ถือว่าน่าสนใจมาก ทว่าทำให้สามารถใช้งานจริงค่อนข้างยากกว่าวิธีที่ทั่วโลกใช้กันอยู่
ผมประเมินว่า MMT น่าจะเป็นแรงหนุนควบคู่ไปกับกระแสของนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคเดโมแครตที่เน้นนโยบาย Green New Deal มากกว่า หากว่ากันตามตรง แก่นสารเชิงวิชาการของเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบจริงจังสำหรับ MMT นั้น ยังไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ อย่างน้อย สำหรับในช่วงเวลา ณ ตอนนี้
อย่างไรก็ดี หากลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐ ที่ยังเลียบๆเคียงๆ ทว่ายังไม่ออกโรงหนุน MMT เต็มตัว เกิดหันมาทุ่มเททำงานวิจัยและปรับแต่งแนวคิดให้กับ MMT ก็อาจเป็นไปได้ว่า MMT จะสามารถจุดติดขึ้นมาเทียบเท่ากับเศรษฐศาสตร์แนว Neoclassic ที่ใช้มากว่า 50 ปีแล้วก็เป็นได้
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646729