แม้จะทราบกันเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี จะหยุดการซื้อพันธบัตรหรือการทำ QE สิ้นปีนี้
ทว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะได้ฤกษ์เริ่มต้นตัดริบบิ้นขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงใดของปีหน้า จากที่ยังอยู่ในโซนติดลบอยู่ในตอนนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตามุมมองและแนวคิดของมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปในช่วงเวลาสำคัญของจุดเปลี่ยนผ่าน ณ ตรงนี้
ผมขอสรุปมุมมองของดรากิ ว่า ณ ตรงนี้ เป็นอย่างไรบ้าง ดังนี้
1.) ดรากิ เชื่อว่า เศรษฐกิจยุโรปเริ่มย่อลงแต่ยังไม่เป็นขาลง
โดยปัจจัยที่เป็นแรงฉุดเศรษฐกิจยุโรปในตอนนี้ ที่หลักๆในตอนนี้ ได้แก่ การทรุดลงของการส่งออก โดยสาเหตุที่เด่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Trade War หรือ Brexit หรือ ความปั่นป่วนของสถานการณ์การคลังในอิตาลี หรือแม้แต่สาเหตุที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของตนเอง อาทิ การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมัน ล้วนส่งผลต่อการทรุดตัวของการส่งออก
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยุโรป ยังไม่ถึงกับเป็นขาลง เนื่องจากการบริโภคของยุโรปยังคงคึกคัก จากสถานการณ์แรงงานที่ฟื้นตัวเร็วเกินที่คาดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าจ้างในยุโรปในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเติบโตยังคงขึ้นแบบเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่ที่นายดรากิเข้ามารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป นอกจากนี้ การลงทุนของยุโรปก็ถือว่า ยังอยู่คงในช่วงเวลาที่ถือว่ามีเสถียรภาพอยู่
2.) ‘อิตาลี’ มิได้เป็นปัญหาต่อยุโรปในขณะนี้
ทว่า ‘สถานการณ์การคลังในอิตาลี’ ต่างหากที่เริ่มกวนใจต่อคณะกรรมการยุโรป โดยส่วนหนึ่ง มาจากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างของอิตาลีและเยอรมัน ถ่างกว้างขึ้นกว่าเดิม ดรากิ จึงเชื่อว่า อิตาลี ณ จุดนี้ ยังมิใช่เป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายเชื้อของวิกฤต หรือ Contagion แต่อย่างใด ทั้งนี้ ดรากิเชื่อว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลอิตาลีกับอียูจะจบลงด้วยดี โดยรัฐบาลอิตาลีซึ่งถือเป็นบ้านเกิดของดรากิเอง น่าจะรู้ดีว่าจุดไหนที่จะฝืนเดินไปต่อไม่ได้
3.) ดรากิยอมรับว่าในช่วงต้นปีหน้า จะมีการปรับเปลี่ยนกฎที่เรียกว่า Capital Key rule
หรือการกำหนดสัดส่วนที่อีซีบีจะซื้อพันธบัตรของชาติต่างๆในยูโรโซน โดยมีแนวโน้มที่จะซื้อพันธบัตรในประเทศหลักอย่างเยอรมันให้มากกว่าเดิม และลดปริมาณการซื้อพันธบัตรในประเทศอย่างอิตาลีและกรีซให้ลดลง หรือที่เรียกว่า Procyclical Capital rule โดยดรากิยืนยันว่าไม่มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของอิตาลีและกรีซอย่างแน่นอน เนื่องจากเคยทดสอบด้วยการไม่ซื้อพันธบัตรของกรีซเหมือนในตอนนี้ ทว่ามิได้มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรกรีซแต่อย่างใด โดยจุดนี้ จึงน่าจะมีแนวโน้มว่า ในปีหน้า ตลาดหุ้นของเยอรมันและฝรั่งเศสน่าจะดูดีกว่าตลาดหุ้นของประเทศอย่างกรีซหรืออิตาลี
4.) ดรากิ ยืนยันว่าการสิ้นสุดของการทำ QE ของอีซีบีในสิ้นปีนี้ มิได้หมายถึงการเข้าสู่โหมดนโยบายการเงินแบบเข้มงวดแต่อย่างใด
โดยอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับศูนย์อยู่ อีกทั้งยังคงการให้ภาพแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคตจากอีซีบี หรือ ใช้ foreword guidance ที่ยังคงให้ภาพนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ ตรงนี้ต่างจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่มีแผนเลิกใช้ Forward guidance
ท้ายสุด ประเด็น Brexit นั้น ดรากิค่อนข้างประเมินในแง่ที่ดี
ว่าหากเกิด Brexit แบบที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก หรือ Hard Brexit ภาคเอกชนจะมีหน้าที่ต้องปรับตัวมากที่สุด โดยธนาคารกลางอังกฤษได้ทำการบ้านร่วมกับอีซีบีสำหรับการตั้งรับกับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยสรุป ดรากิยังคงยืนยันด้วยท่าที่มี่หนักแน่นกว่าที่เฟดยืนยันว่า จะขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปีเสียอีก สำหรับการสิ้นสุดของการทำ QE ในเดือนธ.ค.นี้ ทว่าก็มีแทงกั๊กไว้ว่าหากเห็นท่าไม่ดีก็อาจกลับมาทำ QE ใหม่ได้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของดรากิน่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า ก่อนที่ตัวเขาจะลงจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรปครับ
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645852