marine-le-pen-มารีน เลอ แปน ฝรั่งเศส

สัปดาห์ที่แล้ว ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับกูรูอันดับต้นๆ ของโลกท่านหนึ่ง เกี่ยวกับ ตัวเก็งที่จะมาเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนต่อไป นามว่า มารีน เลอ แปน ที่กลายเป็นความเสี่ยงของความคงอยู่หรือแตกสลายไปของยูโรในกลางปีนี้

บทความนี้ จะขอตอบ 2 คำถามที่หลายคนสงสัย คือ หนึ่ง ทำไมหลายคนยังมองว่านางเลอ แปน คงจะไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีนี้ และ สอง ความวุ่นวายหาก เธอสามารถหักปากกาเซียนขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของฝรั่งเศสได้จริงๆ อะไรจะเกิดขึ้น?

เริ่มจากคำถามแรกก่อน เหตุผลสำคัญที่หลายฝ่ายมองว่านางเลอ แปน คงจะไม่สามารถเลียนแบบ Brexit หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ง่ายๆนัก เนื่องจากระบบการเลือกตั้งของประธานาธิบดีฝรั่งเศส มีอยู่ด้วยกัน 2 รอบ โดยรอบแรกนั้น เกือบทุกสำนักมองว่านางเลอ แปง น่าจะผ่านเข้ารอบด้วยคะแนนที่เป็นอันดับหนึ่งด้วยซ้ำไป เนื่องจากในรอบแรก ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้นั้น เป็นระบบที่คนโหวตเลือกบุคคลที่ตนเองมองว่าน่าจะเข้ารอบต่อไปเพื่อไปประชันวิสัยทัศน์กันต่อ ซึ่งฐานคะแนนที่ใช้ในการโหวตหากมีราวๆร้อยละ 30-35 ก็เพียงพอที่จะพาให้ตนเองเข้ารอบต่อไปได้ไม่ยาก ซึ่งนางเลอ แปงมีฐานคะแนนเสียงที่สามารถทำได้ไม่ยากเย็น

ทว่า นางเลอ แปน หลายฝ่ายเชื่อกันว่าเธอมีลิมิต หรือข้อจำกัดของฐานเสียงที่สนับสนุนเธอให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากหากนับกันจริงๆ ว่าร้อยละของผู้ที่อย่างไรเสียก็ไม่เอาเธอเป็นผู้นำฝรั่งเศสนั้นมีอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ซึ่งถือเป็นทางตันของนางเลอ แปน ที่จะชนะการเลือกตั้งรอบที่สองในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่ากันว่าเธอมีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งรอบสองไม่ถึงร้อยละ 20 เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำเอาอัตราดอกเบี้ยของฝรั่งเศสสูงขึ้นแบบที่ถือว่ากระชากเทรนด์ นั่นคือ นายฟรังซัว ฟิลลอน อดีตนายกรัฐมนตรี ตัวแทนพรรครัฐบาลในการชิงตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศสในเดือนเมษายนนี้ มีข่าวยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเขาเอง ที่ได้เคยรายงานข้อมูลด้านการเงินของตนเองว่า ได้ว่าจ้างภรรยาของตนเองเพื่อมาทำงานในกิจการส่วนตัว ซึ่งตรงนี้ อาจจะถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสุดๆ ทว่าตลาดก็กังวลไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สอง ว่านางเลอ แปนน่าจะกุมความได้เปรียบหากแข่งกับนายฟิลลอนจริงๆ

หากจะมองถึงความกังวลของตลาดต่อการเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส ว่านางเลอ แปนจะพลิกล็อคชนะนั้น ต้องมองว่ามีอยู่เหมือนกันในตอนนี้ ผมคิดว่าคู่แข่งของเธอไม่ว่าจะเป็นนายฟิลลอน ม้ามืดที่ขี่กระแสนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์อย่าง นายเอมมานูเอล มาครอน หรือ ผู้นำฝ่ายซ้ายจัดทั้งสองรายอย่าง นาบเบอนอย ฮามอนหรือนาย ชอง ลุค เมเลชอน ที่มีคะแนนเสียงร้อยละ 15 และ 11 ตามลำดับนั้น ต้องบอกว่าหาคนที่นอนมาไม่ได้ แม้นางเลอ แปน ก็ไม่ได้มีโอกาสมากกว่าคนเหล่านี้ก็ตาม แต่ถ้าเทียบกับ Brexit หรือโดนัลด์ ทรัมป์ โอกาสของนางเลอ แปน ตอนนี้ยังถือว่ามีอยู่น้อยกว่าทั้งสองเหตุการณ์จากความมีจุดอ่อนของเธอที่มีอยู่เยอะกว่ากับ Brexit หรือโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่มากๆ

มาถึงคำถามที่สอง ที่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายกว่า Brexit หรือโดนัลด์ ทรัมป์ มากไหม ผมขอตอบว่าเลวร้ายกว่าหลายเท่าตัว ด้วยเหตุผลดังนี้

หนึ่ง การเปลี่ยนนโยบายของนางเลอ แปน นั้นถือว่าสุดขอบกว่า Brexit เนื่องจากเธอจะนำเอาเงินฟรังก์ฝรั่งเศสกลับมาใช้แทนเงินสกุลยูโรในทันที ที่สำคัญ เธอมิได้ฉลาดล้ำลึกเหมือนนายทรัมป์ที่มีลีลาลูกบ้า ลูกถอยให้สหรัฐอเมริกาได้เปรียบ ทว่านางเลอแปนมาแบบดื้อๆคือให้ฝรั่งเศสย้อนกลับมาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบไม่เอายูโรลูกเดียว ต้องบอกว่ายูโรเหลือแค่เยอรมันเท่านั้นที่ดูเป็นเสาหลัก ถามว่ายูโรยังอยู่ได้ไหม ขอตอบว่า พอได้แต่ก็เฉาน่าดู ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่ค้ำจุนยูโร

และ ที่สำคัญ เศรษฐกิจฝรั่งเศสไม่เหมือนอังกฤษที่เดินด้วยขาตัวเองยังพอไหว แต่เศรษฐกิจฝรั่งเศสอ่อนแอกว่ามาก หากนางเลอ แปน ตัดสินใจพาฝรั่งเศสลุยเดี่ยวเหมือนเป็นการฆ่าตัวตายของเศรษฐกิจฝรั่งเศสเองที่รอวันจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตในไม่ช้า

โดยสรุป นางเลอ แปน ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่โหดกว่าทรัมป์หรือ Brexit หลายขุมเสียอีกครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640345