ในยุคปัจจุบัน มีกองทุนอิสระที่เน้นบริหารพอร์ตโฟลิโอโดยใช้หุ่นยนต์เพียงอย่างเดียวอยู่ไม่กี่กอง โดยกองที่ใหญ่ที่สุดหากนับเฉพาะกองทุนที่ใช้ Robot เพียงอย่างเดียวในการบริหาร ซึ่งถือเป็นกองทุนแรกด้วยที่ใช้หุ่นยนต์บริหารด้วยคือ Betterment ในปี 2010 โดยปัจจุบัน มีมูลค่ารวมประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์ อีก 5 ปีต่อมา Charles Schwab และ Vanguard จึงออกกองทุน Schwab Intelligent Portfolios และ Vanguard PAS ตามลำดับ ด้วยมูลค่ากองทุน 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ดังตาราง จากนั้น ก็มีบรรดากองทุนใหญ่ๆ ทั้ง Fidelity Bank of America TD Ameritrade และ E*Trade รวมถึงหน่วยของ Merrill Lynch ก็ออกกองทุนประเภทนี้ออกมา ล่าสุด Goldman Sachs, JPMorgan Chase และ Morgan Stanley ก็เตรียมตัวในบริษัทของตนเองเพื่อพร้อมจะออกกองทุนแนวนี้ออกมาเช่นกัน
โดยเหตุผลหนึ่งที่กองทุนที่ใช้ Robot บริหารมีอยู่มากขึ้น เนื่องจากตลาดตราสาร ETF มีขนาดใหญ่ขึ้นมากอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้การที่จะลงทุนในตราสารที่เลียนแบบผลตอบแทนของตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ไม่ว่าจะในภูมิภาคใดหรือในเซกเตอร์ใดสามารถทำได้ไม่ยากและด้วยต้นทุนที่ไม่แพงอีกด้วยสำหรับตลาดหรือเซกเมนท์ต่างๆที่หุ่นยนต์เลือกจะลงทุน
โดยจุดเด่นของกองทุนแบบที่ใช้หุ่นยนต์ของแบรนด์ต่างๆ มีดังนี้
- เริ่มจากกองทุน Robot ของ Vanguard ไม่มีตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่เลย ซึ่งแตกต่างจากกองทุนแบบ target-dated ที่ขึ้นชื่อลือชาของ Vanguard ที่มีตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ถึงร้อยละ 30
- ทั้ง Fidelity และ Vanguard ถือครองตราสารประเภทดัชนีหุ้นและตราสารหนี้ประเภทรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐซึ่งไม่ต้องเสียภาษีเป็นส่วนใหญ่
- TD Ameritrade ถือครองตราสาหรนี้ของตลาดเกิดใหม่ โดยไม่มีตราสารหนี้ประเภทรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐ
- Betterment ถือครองหุ้นสหรัฐสไตล์ Value อาทิ แบงก์กับสาธารณูปโภคอยู่ร้อยละ 61
- E*Trade ใช้ S&P 500 Equal Weight TEF เสริมกับ SPDR S&P 500 ETF เพื่อเกลี่ยหุ้นประเภท Big Cap ให้ลดสัดส่วนลง
นอกจากนี้ กองทุนเหล่านี้คิดค่าธรรมเนียมระหว่างร้อยละ 0.25-0.4 เท่านั้นอย่างไรก็ดี กองทุนแบบที่ใช้หุ่นยนต์บริหาร ก็มีข้อจำกัดอยู่บางประการ ดังนี้
หนึ่ง การหา Benchmark ในการวัดผลงานของกองทุน ทำได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ บริษัทที่จัดอันดับเครดิตยังไม่ได้ให้ความสนใจกับกองทุนประเภทนี้มากเท่าไรนัก เนื่องจากตลาดยังไม่กว้างจนคุ้มค่าพอที่จะลงมาทำธุรกิจในเซกเมนท์นี้
สอง นักลงทุนที่มีอายุน้อยยังไม่นิยมกองทุนประเภท Robot เนื่องจากหุ้นที่ถือมักจะเป็นประเภท Value มากกว่า Growth รวมถึงส่วนใหญ่ยังยึดติดกับสัดส่วนของพอร์ตที่ประกอบด้วยหุ้นและตราสารหนี้ที่สัดส่วน 60/40 ซึ่งค่อนข้างจะ Defensive สำหรับคนรุ่นใหม่
สาม กองทุนที่หุ่นยนต์เลือกให้แล้วได้ผลตอบแทนดีที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่สูงมักจะมาจากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงจากค่าเงิน โดยล่าสุดกองทุนของ Charles Schwab ก็ลงทุนในตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างเยอะ
ท้ายสุด กองทุนที่บริหารด้วยหุ่นยนต์บางกองมักจะมีระดับของเงินสดค่อนข้างสูง อย่างเช่นของ Charles Schwab มีอยู่ถึงร้อยละ 11 ทั้งนี้ เพื่อให้โปรแกรมของหุ่นยนต์สามารถโยกเงินสดดังกล่าวไปสู่กองทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่ดี ซึ่งในทางกลับกัน หลายครั้งก็มักจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้รับผลตอบแทนต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน
สำหรับผู้สนใจกองทุนประเภทนี้ หากท่านคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี Betterment น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากเป็นกองทุนแรกที่ใช้ Robot ในการบริหาร หากคุณไม่ชอบความผันผวนของผลตอบแทนมากนัก ให้ลงทุนในกองทุนของ Vangard เนื่องจากมีบริการเสริมด้วยพนักงานที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลืออยู่ด้วย
ซึ่งหากมองจากบรรดาผู้เล่นของกองทุนประเภทนี้นี้ น่าจะพอสรุปได้ว่า Charles Schwab, Vanguard , Fidelity และ Bank of America มีความคุ้นเคยกับการลงทุนสไตล์ Robot มาสักพักใหญ่แล้วครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642511