เรื่องที่คุณ (อาจ) ไม่รู้ เกี่ยวกับ Inverted Yield Curve (IYC)

เรียกว่ากระแสแรงมาก เล่นงานตลาดหุ้นสหรัฐหนักเอาการ

แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐยังต้องยอมชะลอการแบนผลิตภัณฑ์ของหัวเหว่ยเพื่อให้ตลาดผ่อนคลายความกังวล ผมกำลังกล่าวถึง เมื่อ ปรากฏการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เรียกกันว่าเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยหัวกลับ (Inverted Yield Curve) หรือชื่อย่อว่า IYC แบบตัวจริงเสียงจริง ซึ่งหมายถึงผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี และ พันธบัตร 2 ปี ที่เกิดติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนีนี้ขึ้นชื่อเหลือเกินว่าสามารถทายสภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่าจะมาเยือนในเวลาต่อมาได้แม่นยำมาก เพื่อให้เข้าใจถึง IYC ให้มากยิ่งขึ้น บทความนี้ จะขอกล่าวถึงเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับดัชนีที่น่าพิศวง ดังนี้

หนึ่ง หากอ้างอิงงานวิจัยจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดนิวยอร์ค เมื่อปี 1996 ที่ถือว่าได้รับการยอมรับมากที่สุด สามารถสรุปได้ว่าทุกครั้งที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปี 1955 จำนวน 9 ครั้ง IYC สามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจถดถอยได้ทุกครั้ง ยกเว้นครั้งเดียวที่ Inverted yield curve เกิดขึ้นทว่าเศรษฐกิจชะลอตัวเพียงเล็กน้อยหลังจากนั้น โดยระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นหลังสัญญาณนี้ คือ เฉลี่ยที่ราว 17-19 เดือน

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตน้ำมัน ปี 1973 มีการเกิดเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยหัวกลับ (Inverted Yield Curve) อยู่ 5 ครั้งในสหรัฐ คือ ปี 1979, 1981, 1989, 2000 และ ปี 2007 โดยทุกครั้งที่เกิดขึ้น สหรัฐก็จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในเวลาต่อมาไม่นานนัก

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของ IYC กับดัชนีหุ้น S&P500 พบว่าผลตอบแทนเฉลี่ย +12% หลังจาก 12 เดือนที่ปรากฎสัญญาณนี้เกิดขึ้น ทว่าดัชนีหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลดลง หลังเวลาผ่าน 18 เดือนเป็นต้นไป

สอง ความแม่นยำในการพยากรณ์ของ IYC จะแม่นที่สุด เมื่อระยะเวลาห่างระหว่างสัญญาณ IYC กับเหตุการณ์การเกิดเศรษฐกิจถดถอย ขยับออกไป 2-4 ไตรมาส โดยหากใช้ผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี กับอายุ 3 เดือน หลังจาก IYC เกิดขึ้น มักจะไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยแบบทันที ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรมีระดับความอ่อนไหวต่อความไม่ปกติจากความไม่ชอบมาพากลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไวกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขจีดีพี

ทั้งนี้ ครั้งที่ IYC สร้างความพิศวงกับบรรดานักวิชาการ ได้แก่ คราวเมื่อเดือนมกราคม 1981 ที่ IYC เกิดขึ้น ปรากฎว่า เดือนมกราคม 1982 ก็เกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้น ซึ่งถือว่าแม่นยำมากในแง่ที่ว่าใช้ระยะเวลา 4 ไตรมาสพอดี ระหว่าง การเกิดขึ้นของ IYC และเศรษฐกิจถดถอย

เรื่องที่คุณ (อาจ) ไม่รู้ เกี่ยวกับ IYC

สาม หากจะถามว่าในอดีตที่ผ่านมา สำหรับ IYC ต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องกันอย่างน้อยกี่เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบมากน้อยเท่าไหร่ จึงจะฟันธงได้ว่าเศรษฐกิจถดถอยมาแน่ๆ คำตอบคือ เมื่อใช้ผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี กับ 3 เดือน ปรากฎว่า เพียงแค่ผลต่างดังกล่าวติดลบติดต่อกันเพียง 3 เดือน และสเปรดขั้นต่ำเพียงร้อยละ -0.08 ก็เกิดเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 1990-1991 ในขณะที่ กรณีที่ใช้เวลาสำหรับการติดลบของผลต่างอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันนานที่สุดคือ 12 เดือน โดยสเปรดขั้นต่ำคือร้อยละ -2.2 ได้แก่เศรษฐกิจถดถอย ในปี 1980 หากพิจารณาว่าสเปรดขั้นต่ำติดลบมากที่สุด คำตอบคือจะเท่ากับ ร้อยละ -3.51 ได้แก่เศรษฐกิจถดถอยในปี 1981-1982 ซึ่งน่าสังเกตว่าทั้ง 2 ครั้งหลังนี้ เป็นช่วงที่เฟดใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว

เรื่องที่คุณ (อาจ) ไม่รู้ เกี่ยวกับ IYC

สี่ นอกจาก IYC แล้ว ระดับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 3 เดือน ที่วัดด้วยเวลาห่างกันเป็นระยะเวลา 18 เดือน ก็เป็นดัชนีที่บอกถึงเศรษฐกิจถดถอยล่วงหน้าได้ดีเช่นกัน จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึง 6 ครั้ง ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา

ท้ายสุด มีเหตุการณ์ในอดีตที่คล้ายคลึงกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมานี้ นั่น คือเศรษฐกิจสหรัฐช่วงปี 1994-1995 โดยนับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 เฟดพยายามที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคองเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา จนพรรคเดโมแครต ภายใต้ผู้สมัครหน้าใหม่นามว่า บิล คลินตัน ที่เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จนสามารถเอาชนะการเลือกตั้งใหญ่ต่อจอร์จ บุช ผู้นำในขณะนั้นได้

จากนั้นเฟดก็ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จนเมื่อปี 1994 เมื่อเห็นสัญญาณเงินเฟ้อ จึงหันมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งติดกัน จนเมื่อเห็นว่าผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร10 ปี และ 2 ปี เท่ากับศูนย์ เฟดภายใต้อดีตประธาน อลัน กรีนสแปน จึงหันมาลดดอกเบี้ยในต้นปี 1995 ซึ่งนักวิชาการหลายท่านมองว่าเฟดเกือบจะนำเศรษฐกิจเข้าสู่สภาะถดถอยในตอนนั้น หากไม่หันมาลดดอกเบี้ยช่วงต้นปี 1995

ซึ่งในรอบนี้ คงต้องมาลุ้นกันว่าเฟดภายใต้การนำของเจย์ พาวเวล จะสามารถนำพานาวาเศรษฐกิจสหรัฐรอดพ้นสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 2020-2021 ได้ไหม และด้วยกลยุทธ์ใด ซึ่งผมมองว่า IYC รอบนี้ ถือว่ามาแบบจริงจังไม่แพ้รอบก่อนๆ ในอดีต

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648039

TSF2024