เงินเฟ้อ vs. เฟด: ไม่ยากมาก แต่ต้องแยบคาย

ภาพที่เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่ายหัวเล็กน้อยหลังจากตอบคำถามเรื่องเงินเฟ้อที่ถามในมุมของการเมืองของวุฒิสมาชิกท่านหนึ่ง ตอนให้การต่อคณะกรรมการสถาบันการเงิน สภาคองเกรส เพื่อการรับรองการเข้ารับตำแหน่งเป็นวาระที่สองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้สะท้อนถึงความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่ผมเขียนถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงปรากฏการณ์ด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ทว่าได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและสังคมของสหรัฐไปด้วยเสียแล้ว ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหานี้ มีมิติในการพิจารณามากขึ้นกว่าเดิมอีก

ก่อนอื่น ผมขอวิเคราะห์ในมุมเศรษฐศาสตร์ก่อนว่า ในปีนี้ ทิศทางของตัวปัญหาและการแก้ปัญหานี้ จะออกมาในรูปแบบใด รวมถึงน่าจะมีผลอย่างไรต่อตลาดเงิน ค่าเงินดอลลาร์ และตลาดทุน ดังนี้

ขอเริ่มจากตัวปัญหาก่อน นั่นคือ ‘เงินเฟ้อ’ ณ ตรงนี้ ขอใช้ตัวเลข Headline Inflation (ซึ่งรวมราคาอาหารและพลังงานเข้าไปด้วย) ที่สูงขึ้นมาเรื่อยๆเป็นลำดับ จากประมาณร้อยละ 4 เมื่อกลางปีก่อน ขึ้นมาเป็นร้อยละ 7 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 40 ปี แน่นอนว่าทั้งระดับและความเร็วในการขึ้นมาถือว่าสูงมากจนเฟดต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

ก่อนอื่น ขอตอบข้อสงสัยของหลายคนก่อนว่า เพราะเหตุใด ‘เงินเฟ้อสูง’ จึงน่ากังวล รวมถึงชาวสหรัฐส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก? คำตอบคือในยุคทศวรรษ 70 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเคยขึ้นไปแบบรวดเร็วและเนิ่นนานพอสมควร จนไปแตะระดับตัวเลขสองหลัก ส่งผลให้รายได้ของชาวสหรัฐหลายภาคส่วนในตอนนั้น ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายระดับขั้นต่ำของของประชาชน โดยกว่าจะเอาเงินเฟ้อลงมาได้ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปในระดับสูงมาก จนเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยไปหลายไตรมาสเลยทีเดียวในตอนนั้น

อย่างไรก็ดี อาจจะมีสิ่งที่ทำให้เฟดมีความหวังว่า “สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น… ไปเสียทั้งหมด” เนื่องจากในช่วงตั้งแต่เกิดโควิด มีสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ คือ “อุปทานถูกทำให้ติดขัด” หรือ Supply Disruption ที่เห็นกันง่าย ๆ คือ ท่าเรือของจีนถูกปิดไปหลายส่วนเนื่องจากนโยบาย zero-covid ของรัฐบาลจีน เลยทำให้ระดับอุปทานสินค้าของโลกและสหรัฐลดลง โดยอุปทานในส่วนนี้ หลายฝ่ายรวมทั้งเฟดคาดการณ์ว่ากลางปีนี้ น่าจะสามารถกลับมาได้ตามปกติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงขึ้นมาเยอะในตอนนี้ น่าจะสามารถลดลงได้ในบางส่วนจากอุปทานที่ผ่อนคลายลงมาด้วยสถานการณ์โควิดที่น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ

แน่นอนว่าเป็นการยากที่จะประมาณระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากปัจจัยดังกล่าว เมื่อเทียบกับขนาดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากฝั่งอุปสงค์ที่สูงขึ้นมา ที่สำคัญ ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าสถานการณ์โควิดจะปรับตัวดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนและเร็วช้าแค่ไหนในช่วงถัดไปนี้

มาถึง การแก้ปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ ณ ตรงนี้ มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ หนึ่ง เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในระดับศูนย์ โดยจำนวนครั้งที่คณะกรรมการเฟดให้ความเห็นส่วนใหญ่มองว่า 3 ครั้งในปีนี้ สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก คาดว่าเฟดน่าจะขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากจบโครงการลดปริมาณซื้อพันธบัตรหรือ QE Tapering เนื่องจากในทางทฤษฎี เมื่อเห็นเงินเฟ้อชัดเจนแล้ว เฟดควรจะทำนโยบายการเงินตึงตัวให้เร็วที่สุด

วิธีที่สอง การลดขนาดงบดุลของเฟด ซึ่งเฟดก็กำลังพิจารณาว่าจะลดในช่วงปีนี้ดีหรือไม่ รวมถึงจะลดอย่างไรดี ระหว่างปล่อยให้พันธบัตรในงบดุลหมดอายุไปเอง หรือ จะขายพันธบัตรในงบดุลออกไปด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเร็วในการลดงบดุลของเฟดว่าต้องการให้เร็วช้าแค่ไหน ซึ่งเฟดอาจเลือกลดดอกเบี้ยอย่างเดียวหรือลดงบดุลไปด้วยพร้อมกัน ขึ้นกับสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงถัดไปว่าจะขยับขึ้นเร็วและแรงจากตรงจุดนี้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาของเฟด ก็อาจจะได้รับอิทธิพลในบางส่วนส่งผลมาจากฝั่งการเมือง ในปีนี้ที่มีการเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงปลายปีเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ ทำให้เฟดต้องพิจารณาหลาย ๆ มิติไปพร้อมกัน สำหรับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในรอบนี้

ท้ายสุด สำหรับปฏิบัติการณ์ดังกล่าวของเฟด น่าจะมีผลอย่างไรต่อตลาดเงินและตลาดทุนนั้น คาดว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี น่าจะขยับไปที่ระดับร้อยละ 2 กลาง ๆ ในปีนี้ รวมถึงสภาพคล่องของตลาดน่าจะค่อย ๆ ลดลง ส่วนค่าเงินดอลลาร์น่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับในปีนี้

โดยที่ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ มีแนวโน้มว่า ในตลาดหุ้นเทคโนโลยีหรือนาสแด็คนั้น หุ้นขนาดกลางและเล็ก รวมถึงหุ้นที่ไม่ได้เป็นผู้นำตลาดในเซกเมนต์ของตนเอง น่าจะมีราคาลดลง รวมถึงตราสารพันธบัตรน่าจะมีแนวโน้มมีความน่าสนใจลดลง ในขณะที่หุ้นในกลุ่มธนาคาร พลังงาน พลังงานทางเลือก รวมถึงหุ้นในกลุ่มค้าปลีก น่าจะได้รับผลดีในบางส่วนจากปฏิบัติการของเฟดในปีนี้

MacroView

ที่มาบทความ: http://www.macroviewblog.com/blog/economics/inflationvsfed/

TSF2024