‘กองทุน Healthcare’ กับ คีย์แมนยุคทรัมป์

เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านน่าจะได้ลงทุนในกองทุนรวม Healthcare ของสหรัฐ อาจจะในรูปแบบกองทุนรวม หรือ กองทุนลดหย่อนภาษี อย่าง RMF หรือ SSF โดยหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งใหญ่ ได้มีการประกาศว่าจะแต่งตั้ง 3 ขุนพลหลัก อันประกอบด้วย โรเบิร์ต เอฟ เคเนดี จูเนียร์ หรือ RFK เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข เจย์ บาธาชญา เป็นหัวหน้าสถาบันด้านสาธารณสุขแห่งชาติ และ เฮอร์เมท ออซ ดูแลด้านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 3 ท่าน มีแนวทางการทำงานและปรัชญาด้านการสาธารณสุขที่แตกต่างจากยุคของโจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง โดยออกจะเป็นไปในแนวทางที่บริษัทด้านธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณสุขในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐไม่ค่อยคุ้นชินเท่าไรนัก อาทิ การไม่ค่อยเห็นด้วยกับการฉีดวัคซีน หรือ การไม่เห็นด้วยการ Lock down ในช่วงโควิด โดยทั้ง 3 ท่านยังต้องรอการรับรองจากสภาคองเกรสก่อนจะดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ดังนี้

ขอเริ่มจาก โรเบิร์ต เอฟ เคเนดี จูเนียร์ หรือ RFK กันก่อน

แต่เดิมนั้น RFK มาจากสายรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้โลกเราเป็นสีเขียวมาพักใหญ่ถึงขนาดนิตยสาร Times เคยกล่าวชื่นชมเป็นบุคคลที่น่าชมเชยด้านโลกสีเขียว ครั้นมาถึงช่วงโควิด-19 RFK ได้เริ่มแสดงจุดยืนด้านสาธารณสุข โดยนำสไลด์พรีเซนเตชั่นว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างการฉีดวัคซีนกับโรคออทิสซึ่มไปให้ แอนโธนี ฟาวชี ที่คุมหน่วยงานด้านจัดการโควิดหรือ CDC ในยุคนั้นได้พิจารณา ทว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นกล่าวว่า หลังจากได้พูดคุยกันแล้ว เขาเองเลิกสงสัยในช้อกังขาของ RFK อีกต่อไป

ทั้งนี้ ในวงการตลาดหุ้นสหรัฐ มีความกังวลว่าหาก RFK เข้ารับตำแหน่ง รมว. สาธารณสุข ซึ่งดูแลงบประมาณถึง $1.7 ล้านล้านโดยมาคุมหน่วยงานด้านการสาธารณสุขต่าง ๆ นับตั้งแต่ FDA ที่ทำหน้าที่กำกับด้านการรับรองยารักษาโรคออกสู่ตลาด, CDC ที่ดูแลด้าน Public Health ของสหรัฐ รวมถึง CMS ที่ดูแลงบประมาณด้านการประกันสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ/ผู้มีรายได้น้อย หรือ Medicare/Medicaid น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือไม่ เนื่องจาก RFK แสดงความไม่ศรัทธาในวัคซีน ยาลดน้ำหนัก รวมถึงการให้แหล่งเงินในการพัฒนายารักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคทั่วไปหรือยาที่รักษาโรคเรื้อรัง  ซึ่งจุดที่กังวลคือปริมาณการรับรองประเภทวัคซีนจากทางการสหรัฐที่จะรักษาโรคต่าง ๆจะลดลง เนื่องจากผู้ดูแลนโยบายเองมีความกังวลถึงผลข้างเคียงของวัคซีนเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนหน้าแล้ว

ท่านที่สอง ได้แก่ เจย์ บาธาชญา นักการแพทย์สาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เป็นหัวหน้าสถาบันด้านสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NIH จุดที่ทำให้ บาธาชญาโด่งดัง ได้แก่ การให้ความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยต่อการ Lockdown ในสมัยโควิด-19 เนื่องจากประเมินว่าอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด ต่ำกว่าตัวเลขที่ทางการประกาศหลายสิบเท่า เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อจริงมีจำนวนมากกว่าตัวเลขที่ทางการรายงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น การ Lockdown ถือว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุทั้งในแง่ประชาธิปไตยและเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งครั้งหนึ่ง Twitter เคยสั่งแบนบาธาชญาจากความเห็นในลักษณะดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทรัมป์แต่งตั้งบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับแนวทางปฏิบัติในยุคโจ ไบเดนอย่างสิ้นเชิง

อีกหนึ่งแนวคิดของบาธาชญาว่าด้วยการทำวิจัยในวงการด้านสาธารณสุขของสหรัฐ คืองบประมาณและความก้าวหน้าของนักวิจัยด้านการแพทย์ มักจะเป็นไปในลักษณะที่เป็นเพียงการปรับปรุงแนวคิดเดิมเพียงเล็กน้อยจากนักวิชาการรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เพื่อให้บทวิจัยของตนเองได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งทำให้การอ้างอิงบทความทางวิชาการเดิม (Citations) ของวงการด้านสาธารณสุขมีจำนวนมากมาย แทนที่จะทำบทวิจัยที่ฉีกแนวออกไปให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการให้ก้าวกระโดดไปจากแนวทางเดิม ซึ่งสาเหตุหลักคือความกังวลต่อความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพการงานของตนเองที่หากทำเช่นนั้นจะไม่สดใสนั่นเอง

ท่านที่สาม ได้แก่ เฮอร์เมท ออซ ดูแลด้านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (CMS) ซึ่งรู้จักกันดีในฉายา Dr. Oz ที่มีรายการทอล์คโชว์ซึ่งได้รับความนิยมในทีวีสหรัฐเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ทั้งนี้ ออซต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ Senate Financial Commitee ก่อนที่จะรับรองจากสภาคองเกรสอีกต่อหนึ่ง

โดยออซ จบการศึกษาด้านการผ่าตัดหัวใจ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และเคยเป็นที่ปรึกษาด้านฟิตเนส โภชนาการ และสุขภาพ ของทรัมป์ในรัฐบาลชุดก่อนของเขา

ตำแหน่งที่ออซจะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านประกันสุขภาพให้ผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า $1 ล้านล้าน ต่อปี หลายคนประเมินว่าออซจัดเป็นบุคลากรแนว Influencer มากกว่าผู้ดูแลผลประโยชน์ด้านประกันสุขภาพให้กับคนทั่วไป นอกจากนี้ เนื้อหาในรายการของเขาในอดีตก็เคยได้รับการร้องเรียนว่าไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์ปัจจุบัน แม้ว่าออซจะถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทรัมป์บอกว่ามาจับงานที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา

โดยออซกับ RFK ถือว่ามีความใกล้ชิดกันมาก จาการที่ RFK ได้เช่าบ้านของออซที่ฟลอริดาอาศัยซึ่งรายงานนี้มาจากข้อมูลของสื่อมวลชนอเมริกัน

ทั้งหมดนี้ ทำให้หุ้นและกองทุนรวม Healthcare สหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมาและถัดไป อาจจะมีความเสี่ยงทั้งเชิงลบและบวกจากผู้บริหารภาครัฐที่ดูแลหน่วยงานสำคัญในยุคของทรัมป์อยู่ไม่มากก็น้อย

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP

MacroView, macroviewblog.com


คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE @FinnomenaPort