ตามหลักวิชาการลงทุนนั้น นักลงทุนที่รอบคอบ และมีเงินลงทุนอยู่ในพอร์ตเยอะพอสมควร มักจะกันเงินไว้ไม่เกิน 5%
สำหรับชั้นสินทรัพย์ที่เรียกว่า return enhancer หรือ diversifier ซึ่งสมัยก่อนมักจะลงทุนในทองคำ หรือหุ้นในตลาดเกิดใหม่
ในวันนี้ เริ่มเห็นบิทคอยน์ ที่ขึ้นมาแรงจนเกือบแตะ 20,000 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์ จากที่เคยไม่ถึงหนึ่งเซนต์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน รวมถึงมีความผันผวนสูงมาก ทว่าก็น่าจะเข้าข่ายชั้นสินทรัพย์นี้ แม้จะเห็นบทความหลายชิ้นที่เหมือนกองแช่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เปรียบเทียบบิทคอยน์กับ tulip bubble ในเนเธอร์แลนด์ เมื่อครั้งที่ยุโรปรุ่งเรืองก็ตาม
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ในวงการกูรูด้านการเงินทั่วโลก ยังแบ่งเป็น 2 ความเห็น
ฝ่ายที่มองว่าบิทคอยน์เป็นแค่การลงทุนที่รอการแตกของฟองสบู่ มักจะมาจากนักวิชาการ หรือผู้บริหารด้านการลงทุนรุ่นใหญ่ แม้แต่ Big name อย่าง เจมี ไดมอน ประธานบริษัทเจพี มอร์แกน เชส หรือ เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้งกองทุนบริดจ์ วอเตอร์ ยังมองว่า บิทคอยน์เป็นแค่ฟองสบู่
อย่างไรก็ดี เสียงฝั่งนี้เริ่มอ่อยๆ ลงมา อย่างนายไดมอน เริ่มบอกว่าเขาก็ยังเปิดใจกว้างรับความเห็นที่ต่างจากเขา ส่วนนายดาลิโอ ยังคงมองว่าบิทคอยน์เป็นฟองสบู่ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1. ไม่สามารถทำหน้าที่ Store of Value ได้ และ 2. เขาเชื่อว่าแม้แต่นักลงทุนยังเข้าใจไม่ตรงกันว่าตัว บิทคอยน์ คือ etherum หรืออะไรกันแน่ แค่ซื้อไปเพราะเห็นว่าราคาขึ้นแบบหวือหวา
แต่มีนักกลยุทธ์ตลาดหุ้นสหรัฐที่ผมชื่นชอบท่านหนึ่ง นามว่า โทมัส ลี ที่เคยทำนายว่าบิทคอยน์จะมีราคาขึ้นหลักหมื่นดอลลาร์ต่อบิทคอยน์ในปีนี้ กล่าวว่า หากพิจารณาชาวอเมริกันในเจนเนอเรชั่น Baby Boomer ในปี1982 มีอายุเฉลี่ยที่ 25 ปี ที่ลงทุนดัชนีหุ้น จนขึ้นสูงสุดในปี 1999 ดัชนีที่ว่าคือ S&P 500 มาถึงในตอนนี้ ชาวอเมริกันในเจนเนอเรชั่นMillennial ก็มีอายุเฉลี่ย 25 ปีเช่นกัน พวกเขาเหล่านี้ สนใจในชีวิตแบบดิจิทัล รวมถึง digital currencyโดยเฉพาะอย่างยิ่งบิทคอยน์
นายลีคาดว่า บิทคอยน์ก็จะถึงจุดสูงสุดในอีก 17 ปีต่อมาเช่นกันคือในปี 2034 หากพิจารณาจากการขึ้นของ S&P500 ดังกล่าว ราคาบิทคอยน์ตอนชาว Millennial โตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีราคาเป็นแสนดอลลาร์ต่อบิทคอยน์เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ไทเลอร์ โคเวน นักวิชาการและบล็อกเกอร์ชื่อดัง ที่แม้จะยังกังวลกับสิ่งที่เขายังไม่แน่ใจว่าเป็นฟองสบู่ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ขนาดของตลาดบิทคอยน์ในตอนนี้มีมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับความมั่งคั่งรวมของโลกที่ 241 ล้านล้านดอลาร์ หรือคิดเป็นเพียง 0.125% เท่านั้น
หรือหากพิจารณา สต็อกของทองคำ รวมอยู่ที่ 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ หากเปลี่ยนทองคำเป็นบิทคอยน์เพียง 1% จะเทียบเคียงราคาของบิทคอยน์ได้ 5,000 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์ ซึ่งไม่ห่างจากประมาณ 16,000 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์ในตอนนี้มากเท่าไหร่นัก
หรือหากเปรียบเทียบขนาดของตลาดบิทคอยน์ในตอนนี้มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ กับราคาของภาพวาดเดียวของลีโอ ดาร์วินชี ที่ 450 ล้านดอลลาร์ ถือว่ามูลค่าบิทคอยน์ดูแพงน้อยลงทันที
สำหรับนักลงทุนที่เทรดหุ้นแบบบัญชี Offshore หากอยากลงทุนบิทคอยน์แต่ไม่อยากเล่นใน Exchange ของบิทคอยน์โดยตรง ก็สามารถลงทุนในหน่วยลงทุน Investment Trust ของสหรัฐซึ่งในตลาด OTC ก็มีอยู่เช่นกัน อย่าง Bitcoin Investment Trust (Ticker: GBTC) โดยเสียค่าธรรมเนียมในการบริหาร 2% ต่อปี ซึ่งเปิดให้ลงทุนในปี 2013 จนปัจจุบันมีมูลค่ารวมเป็นพันล้านดอลลาร์แล้วในตอนนี้
หรือหากไม่อยากลงทุนในบิทคอยน์แบบเต็มตัวผ่านตลาด CBOE เนื่องจากมองว่าเสี่ยงเกินไป ก็ยังสามารถลงทุนในบิทคอยน์ผ่านรูปแบบการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่มีการลงทุนในบิทคอยน์อยู่บางส่วนผ่าน Bitcoin Investment Trust หรือ BIT (Ticker: GBTC) ได้แล้ว
การรวบรวมของ Forbes แสดงให้เห็นว่า หลักทรัพย์เหล่านี้มีปริมาณบิทคอยน์ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ตาม Ticker ดังตาราง รวมถึงองค์ประกอบอื่นในหลักทรัพย์เหล่านี้มักจะมีระดับความผันผวนราคาอยู่สูงเช่นกัน จึงอย่าหวังว่าราคาจะวิ่งตามราคาบิทคอยน์อย่างชัดเจน
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มี บัญชี Offshore ในการเล่นหุ้น แต่สนใจอยากเข้าสู่สนามบิทคอยน์ในรูปแบบกองทุนรวมในบ้านเรา ต้องอดใจรอสักนิด
หากตลาดบิทคอยน์ยังไม่ถลาลงมา ผมคาดว่าภายใน 6 เดือนจากนี้ไป นักลงทุนรายย่อยอาจจะสามารถซื้อกองทุนรวมที่มีบิทคอยน์ผสมอยู่บางส่วน
อย่างไรก็ดี คงต้องรอท่าทีจากทางการบ้านเราว่า จะมีมุมมองต่อการลงทุนในบิทคอยน์อย่างไร ซึ่งแต่ละประเทศมีท่าทีแตกต่างกันเป็นอย่างมาก อาทิ ญี่ปุ่นเปิดให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่ ทว่าเกาหลีมองว่าต้องเก็บภาษีเพื่อลดความร้อนแรงของการลงทุน หรืออย่างสหรัฐให้เปิดเทรดในตลาดทางการ ทว่า SEC ที่กำกับตลาดทุนก็เริ่มจะพยายามกำกับมากขึ้น
เนื่องจากความชัดเจนในเรื่องการลงทุนในบิทคอยน์ยังคงต้องรออีกพักใหญ่ว่าจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายกันแน่ จึงต้องย้ำอีกครั้งว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน’
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643377