ผมมองว่า 4 ปีต่อไปในยุคของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐนายโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะแบ่งจังหวะ ในการดำเนินนโยบายการคลังออกเป็น 3 ขั้นตอน
เริ่มจากลดอัตราภาษีกับคนทำงานและภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นกำลังการซื้อของชาวสหรัฐให้กลับมาคึกคักอีกรอบ
จากนั้นจะหันไปเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิท่อน้ำมันในส่วนโครงการ Keystone Pipeline ที่เชื่อมการส่งน้ำมันระหว่างสหรัฐและแคนาดา ถนนหนทาง สะพาน รวมถึงแหล่งพลังงานต่างๆ ด้วยมูลค่าที่สูงกว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังจะทุ่มงบประมาณให้กับในส่วนของการทหารอีกครั้ง
ตบท้ายด้วยการเพิ่มอัตราภาษีของสินค้านำเข้าบางประเภทจากต่างประเทศ อาทิ จากจีน และประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐรายอื่น และอาจมีการสร้างสัญญาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับรัสเซียอีกด้วย
หากขั้นตอนทั้งสามสามารถทำได้แบบกลมกล่อม ก็น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐในระยะเวลาอีก 1-2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ความไม่คุ้นชินกับสไตล์นโยบายการคลังดังกล่าวจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในสายตานักวิเคราะห์ในช่วงแรกๆ
ผมคิดว่าหากนโยบายของนายทรัมป์ ทำได้แบบตลอดรอดฝั่งและออกมาค่อนข้างดี จะส่งผลต่อฟันด์โฟลว์ของกลุ่มประเทศต่างๆในโลกดังนี้
สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว หรือ DM
จะมีฟันด์โฟลว์ของตลาดหุ้นและตลาดเงิน เป็นแบบ “เข้า-ออก-เข้า” ในระยะเวลา 4 ปีของยุคทรัมป์คือ ในช่วงแรก ค่าเงินของประเทศพัฒนาแล้วหลักๆ อาทิ ญี่ปุ่น จะได้รับอานิสงก์จากความคาดหมายของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐว่า จะขึ้นเร็วมากในยุคของทรัมป์ ทำให้มีการซื้อพันธบัตรของสหรัฐจากนักลงทุนญี่ปุ่นและยุโรปเป็นการใหญ่ เมื่อเห็นว่ามีผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาจนน่าสนใจ จึงทำให้ช่วงต้นของยุคทรัมป์ด้วยค่าเงินเยนอ่อนตัวอย่างรุนแรง เอื้อต่อการส่งออกของญี่ปุ่นไปผลักดันให้ตลาดหุ้น Nikkei คึกคัก นั่นคือฟันด์โฟลว์จะมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงต้นๆของทรัมป์
ส่วนยุโรปนั้น ธนาคารกลางยุโรปจะทำงานได้ง่ายมากเพราะอาจจะไม่ต้องทำ QE เพิ่มก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผ่านการอ่อนค่าของเงินยูโร ซึ่งตรงนี้ทำให้การส่งออกของยุโรปก็กลับมาดีขึ้นบ้างเช่นกันในตอนแรกๆของทรัมป์
นั่นคือฟันด์โฟลว์จะมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดยุโรปในช่วงต้นๆของทรัมป์
จากนั้นเมื่อผลงานของทรัมป์เริ่มผลิดอกออกผลมาเป็นรูปร่าง ในช่วงปีที่สองหรือสามของเขา จะทำให้ความน่าสนใจของตลาด DM จะลดลง ด้วย Valuation ที่ของตลาดสูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วงกลางเทอมของทรัมป์ ความน่าใจของตลาด DM จะลดลง ฟันด์โฟลว์จะมีแนวโน้มไหลออกจากตลาด DM ในช่วงนี้
ท้ายสุด ไม่ว่าจะยังไงก็ดี สหรัฐก็ยังต้องกลับมาง้อญี่ปุ่นและยุโรปอีกรอบ ด้วยการที่ต้องตั้งกำแพงภาษีต่อจีนตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวสหรัฐ เมื่อใกล้ต้องหาเสียงในสมัยที่สอง ทำให้ต้องกลับมาพึ่งพาญี่ปุ่นและยุโรปอีกรอบ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของตนเองชะลอตัวลงเร็วเกินไป ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามา DM อีกรอบ
ส่วนประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ EM
จะมีฟันด์โฟลว์ของตลาดหุ้นและตลาดเงินเป็นแบบ “ออก-เข้า-ออก” ในระยะเวลา 4 ปีของยุคทรัมป์ คือในช่วงแรกด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เปราะบางของประเทศในตลาดเกิดใหม่ จะส่งผลให้ความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์ไปกดดันให้ตลาด EM ลงไปสักพักใหญ่ ทำให้เงินทุนไหลออกจาก EM ไปพักใหญ่ในช่วงต้น
อย่างไรก็ดี ด้วยอานิสงก์จากการผ่อนคลายนโยบายการคลังผ่านการลงทุนของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ การสร้างถนน สะพาน และโรงไฟฟ้าต่างๆ ในสหรัฐ จะทำให้การส่งออกของประเทศในตลาดเกิดใหม่กระเตื้องขึ้นจากสินค้าส่งออก เนื่องจากสินค้าส่งออกของประเทศเหล่านี้มาจากของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังกล่าวของทรัมป์ทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาด EM ในช่วงกลางเทอมของทรัมป์ส่งผลให้ตลาดหุ้นและตลาดเงิน EM กลับมาคึกคักอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ด้วยการตั้งกำแพงภาษีของจีน และนโยบายที่ต้องเอาใจประเทศพัฒนาแล้วเพื่อรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ยังเติบโตต่อไปได้ เมื่อการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐถึงจุดอิ่มตัวในช่วงดังกล่าว ดังนั้น นโยบายของนายทรัมป์ในช่วงของท้ายวาระประธานาธิบดี จะต้องเอาใจประเทศเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ทำให้สุดท้ายปลายทางของวาระทรัมป์ ไปกดดันให้ตลาดหุ้นของตลาดเกิดใหม่ลดลงไปอีกครั้ง ด้วยฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกจาก EM
ต้องบอกว่า ฟันด์โฟลว์ที่ผมประเมินนี้ เป็นฉบับที่มองว่า ว่าที่ปธน.ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงเวลาตลอด 4 ปีของเขา หากทรัมป์ดำเนินนโยบายผิดพลาด ฟันด์โฟลว์จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639478