ณ กลางปี 2022 ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด กำลังก้าวเข้าสู่จุดที่ถือว่า Dark ที่สุดในรอบกว่า 40 ปี แน่นอนว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ไม่แน่ว่าจะเข้าใกล้จุดสูงสุดหรือยังจะขยับสูงขึ้นต่อไปอีก ในอีกฟากหนึ่ง การแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็ได้สร้างความเสี่ยงให้สูงขึ้นในการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ผมมองว่ามีอยู่ 3 แนวทางที่เฟดจะใช้จัดการกับ Stagflation หรือสภาวะที่มีทั้งเงินเฟ้อและสภาพเศรษฐกิจถดถอยพร้อม ๆ กัน ซึ่งแปรผันตามระดับการเน้นหรือโฟกัสของเฟดว่า
- จะมุ่งแก้เงินเฟ้อเป็นหลัก ตามสไตล์มาร์กาเรต แทตเชอร์ในช่วงทศวรรษ 80
- จะมุ่งเยียวยาทั้งเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยแบบใกล้เคียงกัน ตามสไตล์ดิเอโก มาราโดนาที่เลี้ยงบอลฝ่ากองหลังทีมชาติอังกฤษถึง 6 คนในฟุตบอลโลกปี 1986 และ
- จะแอบมุ่งป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยหากสถานการณ์เงินเฟ้อไม่แย่จนเกินไป ตามสไตล์ของเชอร์ล็อกที่แกล้งตายจากการโดดตึกในตอน The Reichenbach Fall จากซีรีส์ดัง Sherlock ของ BBC ในปี 2012
เริ่มจากแนวทางแรก Sado-Monetarism ที่เฟดเน้นขึ้นดอกเบี้ยและทำนโยบายการคลังแบบเข้มงวด ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไรก็ตาม โดยศัพท์คำนี้ ใช้เป็นครั้งแรกในสมัยมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตผู้นำอังกฤษ ที่อังกฤษ ในต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มจาก 1 ล้านคนเป็น 3 ล้านคน ทว่าแทตเชอร์ก็ยังใช้นโยบายการคลังแบบเข้มงวดต่อไป
ข้ามมาสมัยปัจจุบัน ที่เฟดได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่ายที่อยากให้เจย์ พาวเวล ประธานเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อไปแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตามที เนื่องจากมองว่าความน่าเชื่อถือหรือ ‘ภาพลักษณ์’ ของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงขึ้นอยู่ โดยยกเหตุผลในสมัยยุคทศวรรษ 70 ที่พอล โวลก์เกอร์ อดีตประธานเฟดใช้ภาพลักษณ์ว่าจริงจังในการสู้กับเงินเฟ้อในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ทว่ามีอยู่ 3 สิ่งที่ยุคนี้ต่างจากยุค 70 คือ 1. ภาวะเงินเฟ้อสูงในยุคนั้น กว่าจะถึงมือโวลก์เกอร์ก็เกิดเงินเฟ้อมาเกือบ 10 ปีผ่านไปแล้ว ทว่าครั้งนี้ ไม่ถึง 6 เดือน 2. ภาพลักษณ์เฟดในยุคนี้ ยังถือว่าไม่แย่มากเหมือนก่อนที่โวลก์เกอร์จะเข้ามาเป็นประธานเฟด สังเกตได้จากระดับความคาดหวังเงินเฟ้อระยะเวลา 5 ปีที่วัดด้วยวิธีใช้พันธบัตรแบบปกติและแบบปราศจากเงินเฟ้อที่เรียกกันว่า Break-even Inflation ในปัจจุบัน ยังคงอยู่ที่ 2.7% และ 3. อิทธิพลจากปัจจัยด้านอุปทานที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อสหรัฐมีหลายสำนักมองว่ามีอยู่มากกว่าครึ่ง ซึ่งส่วนนี้ไม่สามารถใช้ดอกเบี้ยสูงในการแก้ปัญหา ทำให้แนวทาง Sado-Monetarism อาจจะไม่ใช้สิ่งที่พาวเวลจะใช้จริงอย่างที่หลายฝ่ายคาดกัน
แนวทางสอง Forward Guidance: เฟดจะมุ่งเยียวยาทั้งเงินเฟ้อและ เศรษฐกิจถดถอยแบบใกล้เคียงกัน ตามสไตล์ดิเอโก มาราโดนาที่เลี้ยงบอลแบบเกือบเป็นเส้นตรงจากกลางสนาม โดยกองหลังทีมชาติอังกฤษถึง 6 คนในฟุตบอลโลกปี 1986 ต่างมองว่ามาราโดน่าจะเลี้ยงหลบจริงพุ่งพรวดเข้ามาสกัดทางซ้ายหรือขวาของมาราโดนา ทว่ามาราโดนาเลี้ยงบอลแบบแนวเส้นตรงผ่านกองหลังทั้งหกจนยิงเข้าประตูได้ เปรียบเหมือนที่พาวเวลอาจจะใช้วิธีการขึ้นดอกเบี้ยแบบเท่ากับใน Dot plot โดยปล่อยให้ตลาดหรือสื่อมวลชนเชียร์หรือสร้างกระแส Dove และ Hawk เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อต่ำหรือสูงกว่าคาด โดยที่พาวเวลก็ขึ้นดอกเบี้ยตามแนวทาง Dot plot ที่เขาส่งสัญญาณผ่าน Forward Guidance ที่ให้ระหว่างการประชุมเฟดในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นตามตารางการประชุม
แนวทางสาม Masquerade from Dove: เฟดจะแอบมุ่งป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยหากสถานการณ์เงินเฟ้อไม่แย่จนเกินไป ตามสไตล์ของเชอร์ล็อกที่แกล้งว่าตนเองตายจากการโดดตึก หลังถูก Blackmail จากตัวร้ายว่าหากไม่ยอมโดดตึกจะให้มือปืนสังหารเพื่อนรักในตอน The Reichenbach Fall จากซีรีส์ดัง Sherlock ของ BBC ในปี 2012
โดยที่พาวเวลอาจจะใช้วิธีของเชอร์ล็อกที่ทำทีว่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยแม้เศรษฐกิจ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทว่าเอาเข้าจริงก็เปลี่ยนใจยอมชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงที่เงินเฟ้อยังไม่จาง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ Stagflation ในเศรษฐกิจสหรัฐ
MacroView
ที่มาบทความ: https://www.efinancethai.com/MoneyStrategist/MoneyStrategistMain.aspx?release=y&id=MEVzSkF5cnh5UFk9