เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติวงเงินรวม 9 แสนล้านบาทให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เพื่อออกร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 5 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน เพื่อให้ซื้อตราสารหนี้เอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ผมจึงขอแชร์ประสบการณ์ของธนาคารกลางที่เคยดำเนินนโยบายที่ใกล้เคียงกับมาตรการดังกล่าวมาก่อน ซึ่งบทความนี้จะขอเล่าถึงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE และการแปลงสินเชื่อให้เป็นสินทรัพย์ หรือ Securitization ในส่วนสินทรัพย์ภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SME ของธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี เมื่อเดือน พ.ย.2014
โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงสินเชื่อที่ไม่มีสภาพคล่องอย่างสินเชื่อ SME ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง จะว่าไปแล้วมีข้อดีกว่าการทำ QE แบบที่ทำกันในสหรัฐและญี่ปุ่น ด้วยเหตุผล 5 ประการ ดังนี้
1. ในระยะสั้น การทำ QE ผ่านสินเชื่อ SME สามารถเพิ่มปริมาณสินเชื่อในเซ็กเมนท์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของระบบธนาคารในยุโรป คล้ายกับที่ธนาคารกลางสหรัฐทำกับตลาดสินเชื่อบ้านที่เป็นโฟกัสสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐ
โดยความเสี่ยงด้านเครดิตในส่วนนี้จะสามารถส่งผ่านออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปสู่ระบบการเงินในภาคส่วนอื่น หากการปล่อยสินเชื่อใหม่สามารถทำได้แบบที่มีมาตรฐานที่เข้มงวด บริษัทจัดการกองทุนรวมที่มีความเข้มแข็งทางการเงินย่อมจะสามารถแบ่งปันผลตอบแทนที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของสินเชื่อใหม่ดังกล่าวได้ ระบบการเงินของยุโรปย่อมจะมีความคล่องตัวขึ้นจากการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตโดยรวมที่ดีกว่าเดิม
2. การแทรกแซงของธนาคารกลางด้วย QE ควรจะมีความสมดุลระหว่างรายอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในเศรษฐกิจของยุโรป นโยบายการเงินไม่ควรจะให้ความสำคัญต่อหนี้ของรัฐบาลและหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า SME ด้วยแผนการกระตุ้นให้ตลาด Securitization ของ SME ให้มีความคึกคักขึ้นของนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปในช่วงนั้น เป็นสัญญาณที่ส่งออกมาว่า QE ของยุโรปจะไม่ยอมมุ่งเพียงทำแต่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลและปล่อยโอกาสให้นักลงทุนเอกชนที่ยังสนใจตลาด SME นำเงินมาลงทุนในเซ็กเมนท์ดังกล่าวหลุดลอยไป
3. จะว่าไปการทำ Securitization โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ SME สำหรับภูมิภาคยุโรปเพื่อให้เกิดสินทรัพย์ประเภทใหม่ เท่ากับเป็นการสร้างช่องทางตัวกลางทางการเงินให้กับบริษัทขนาดกลางและเล็กให้เกิดขึ้นในมิติการเชื่อมโยงกันสำหรับตลาดระหว่างประเทศจนสามารถครอบคลุมทั่วภาคพื้นยุโรป
ซึ่งการทำ QE เฉพาะในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลไม่สามารถได้รับอานิสงส์นี้ เนื่องจากจำกัดอยู่เฉพาะ interbank lending หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการใช้ระบบการเงินเป็นช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องไม่ทำเพียงในมิติ “รายอุตสาหกรรม” แต่ต้องทำในมิติ “รายหรือทั่วภูมิภาค” ให้สมดุลกันด้วย
4. ข้อดีของการทำ QE ของสินเชื่อภาคเอกชนโดยเฉพาะในส่วน SME ที่เหนือกว่า QE ของพันธบัตรรัฐบาล ได้แก่ การมีองค์ประกอบที่เรียกว่า Senior Tranche ในสินทรัพย์ประเภท Asset Backed Securities (ABS) อันได้แก่ หลักประกันที่มีคุณภาพและมีกระแสเงินสดที่มีความแน่นอนทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงของยุโรป โดยในส่วนนี้สามารถใช้เป็นเงินทุนช่วยเหลือยุโรปตอนที่เกิดวิกฤติเมื่อเงินทุนไหลจากประเทศยุโรปใต้เข้าสู่เยอรมนี
5. การสร้างสินทรัพย์ประเภทใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นโอกาสให้ยุโรปสามารถทำให้ตลาดสินทรัพย์ของยุโรปห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นตอของวิกฤติยุโรปในรอบที่แล้ว นั่นคือหนี้ภาครัฐที่สูงเกินจนทำให้ความเสี่ยงของงบการเงินสถาบันการเงินสูงขึ้นจากการถือครองหนี้ภาครัฐ เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันหรือ ABS ของสินเชื่อ SME พึ่งพาเพียงแต่ความเสี่ยงของสินทรัพย์จากสินเชื่อนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ดี มีข้อควรระวังอยู่ 3 ประการ ในการทำ QE ผ่านสินเชื่อ SME ภาคเอกชน ได้แก่
1. ระบบบริหารความเสี่ยงของแบงก์ในปัจจุบัน เข้าใจพฤติกรรมของการเกิด NPL ของหนี้ภาคครัวเรือนและสินเชื่อรถยนต์มากกว่าของสินเชื่อ SME ดังนั้นการทำ QE ในส่วนนี้ต้องระมัดระวังกว่าปกติ ไม่ว่าจะในมิติทางเทคนิคของการบริหารพอร์ตและทางกฎหมาย
2. การบริหารความแตกต่างเรื่องระยะเวลาที่จะครบกำหนดระหว่างฝั่งสินทรัพย์หรือตัวสินเชื่อที่จะเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสด และฝั่งหนี้สินหรือการจ่ายเงินงวดให้กับผู้ถือตราสารนี้ ที่เรียกว่า Maturity Trans-formation ต้องทำให้ความแตกต่างดังกล่าวให้มีน้อยที่สุดโดยผู้ที่จะออกสินทรัพย์ประเภทนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ท้ายสุด การสร้างสินทรัพย์ประเภทใหม่นี้ต้องไม่ทำให้เกิดการหากำไรส่วนเกินจากการซื้อมาขายไปหรือ arbitrage กับสินทรัพย์ประเภทอื่น ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งในมิติราคาและระดับการค้ำประกันจากภาครัฐ
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของธนาคารกลางยุโรปที่ได้ทำ QE ในแบบดังกล่าวปรากฏว่างานวิจัยของอีซีบีประเมินในเบื้องต้นว่าสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพียุโรปและอัตราเงินเฟ้อของยุโรปให้สูงขึ้นมาได้ 0.8% และ 0.6% ตามลำดับซึ่งถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จสำหรับการช่วยทำให้ภาวะเศรษฐกิจยุโรปกระเตื้องขึ้นด้วยระดับที่ถือว่าน่าพอใจครับ
MacroView
ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649936