ต้องบอกว่าเป็นมหากาพย์ไปแล้ว สำหรับปัญหาของสถาบันการเงินในยุโรปที่ยืดเยื้อมาเกือบทศวรรษ
โดยล่าสุดปัญหาได้ปะทุขึ้นมาแบบเต็มแรงในอิตาลี ถึงขนาดที่รัฐบาลของอิตาลีประกาศจะใช้งบประมาณภาครัฐเข้ามาอุ้มแบงก์ที่มีปัญหา ท้าทายประกาศิตของยูโรที่ไม่ให้นำงบประมาณภาครัฐมาอุดรอยรั่วของสถาบันการเงิน หากจะถามว่าโดยแท้จริงแล้วแบงก์ยุโรปมีปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรบ้าง ผมคิดว่ามีอยู่ 3 ประการ ดังนี้
รูปที่ 1 อัตราผลตอบแทนต่อเงินกองทุนเฉลี่ยและต้นทุนของเงินกองทุนของแบงก์ในยุโรป
1.) ปัญหาศักยภาพในการทำกำไรที่ต่ำ
โดยอัตราผลตอบแทนต่อเงินกองทุนเฉลี่ยของแบงก์ในยุโรปเท่ากับร้อยละ 5.8 ในปี 2015 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนของเงินกองทุน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9 ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวได้เป็นไปในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2008 ดังรูปที่ 1 โดยปรากฏการณ์ที่ผลกำไรอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปจากนี้ในเร็ววัน จะเห็นได้จากอัตราส่วน Price to Book ของแบงก์ในยุโรปที่ต่ำกว่าแบงก์ในภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งยังลดลงเร็วกว่าแบงก์ในภูมิภาคอื่นๆ อีกต่างหาก
รูปที่ 2 อัตราส่วนทางการเงินของแบงก์ในยุโรป
หากจะประเมินถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว น่าจะมาจากส่วนผสมของปัจจัยเชิงวัฏจักรและเชิงโครงสร้าง โดยที่ปัจจัยแรก มาจากการที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำมาก อีกทั้งยังอยู่ในโลกที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากจนกระทั่งอยู่ในระดับติดลบเกือบจะครึ่งค่อนโลกอย่างในตอนนี้
ส่วนปัจจัยอย่างหลัง มาจาก หนึ่ง ปริมาณของสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของแบงก์ในยุโรปที่มีอยู่สูง ซึ่งทำให้ไปกินส่วนที่เป็นเงินกองทุน ลดศักยภาพที่จะสร้างกำไรและไปเพิ่มค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าฟ้องร้องหรือค่าชดเชยต่างๆ และสอง การที่โครงสร้างของแบงก์ต่างๆ ในยุโรปมีการกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานและในแง่โมเดลธุรกิจ ดังนั้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจของยุโรปทรุดตัวลง จึงทำให้การปรับตัวของแบงก์ในยุโรปเป็นไปได้ช้ากว่าภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีในแง่ส่วนผสมทางธุรกิจที่ลดการปล่อยกู้สินเชื่อรายใหญ่ โดยหันไปเน้นรายย่อย อีกทั้งยังมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นและสัดส่วนหนี้ต่อสินเชื่อที่ลดลง นั่นคือมีการตั้งการ์ดในมุมบริหารความเสี่ยงที่สูงขึ้น ดังรูปที่ 2
2.) จุดด้อยของการทดสอบภาวะวิกฤติ
ต้องยอมรับว่าธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี ให้ความสำคัญกับการทดสอบภาวะวิกฤติหรือ Stress Test เป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วิกฤติกรีซเมื่อ 3-4 ปีก่อน อีซีบีใช้เครื่องมือการทดสอบภาวะวิกฤติเพื่อจะตอกย้ำว่าระบบแบงก์ยุโรปจะมีสุขภาพเลวร้ายลงแค่ไหน หากวิกฤติยุโรปทรุดตัวหนักมากๆ เนื่องจากเคยเห็นผลเลิศจากตอนที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้เครื่องมือดังกล่าวหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
สิ่งที่น่าแปลกใจคือทดสอบไปกี่ครั้งๆ ก็พบผลลัพธ์ที่เหมือนเดิมว่าระบบแบงก์ยุโรปไม่ได้เลวร้ายลงมากเท่าไร จนกระทั่งเมื่อต้นปี นักวิชาการที่คาใจจึงลองไปค้นหาสาเหตุดังกล่าว ก็พบว่าการทดสอบภาวะวิกฤติ ตั้งสมมติฐานของพฤติกรรมของสินทรัพย์หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดีกว่าที่ควรจะเป็น โดยคิดว่าการตั้งสำรองของสินทรัพย์ดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่ตลอดในช่วงกรอบเวลาการวิเคราะห์ สิ่งนี้ทำให้ตอนที่ประเมินผลกำไรของแบงก์ต่างๆ ตอนเกิดวิกฤติจึงให้ระดับที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น หลายคนจึงมองการทดสอบภาวะวิกฤติว่า มุ่งเน้นแต่เฉพาะการทดสอบ Solvency หรือ การที่มีสินทรัพย์สูงกว่าหนี้สิน แต่ไม่ทดสอบศักยภาพในการทำกำไร อย่างละเอียดเพียงพอ
3.) โครงสร้างเชิงการแข่งขันที่ยังออกไปทางผูกขาดมากเกินไป
หากเปรียบเทียบโครงสร้างการแข่งขันของแบงก์ในอเมริกาและยุโรป จะพบว่า ระบบแบงก์ในยุโรปดูผูกขาดกว่าระบบแบงก์ในอเมริกามาก ด้วยเหตุนี้ ประสิทธิภาพการทำงานและการปรับตัวของแบงก์ในยุโรปจึงทำได้ช้ากว่ามาก จะเห็นได้ว่าการปลดคนงานของแบงก์ในช่วงหลังๆ มักจะมาจากฝั่งยุโรปมากกว่าทางฝั่งอเมริกา นอกจากนี้ ด้วยกระแส Brexit ที่มีความแน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ทำให้สภาวะตลาดทุนและเศรษฐกิจโดยรวมไม่เอื้อต่อการควบรวมกิจการ ซึ่งดูจะเป็นทางลัดในการบรรเทาปัญหาการผูกขาดในเชิงการแข่งขัน
ในครั้งหน้า ผมจะโฟกัสไปที่แบงก์ในอิตาลีที่ดูจะมีปัญหาหนักกว่าเพื่อนในช่วงนี้ครับ
ที่มาบทความ : “มุมคิดมหภาค” http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638339