จากแจ็คสันโฮล: เจย์ พาวเวลคือ “Dovish with a Drift”

ถือเป็นสุนทรพจน์ที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในรอบหลายปี สำหรับเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาเฟด แคนซัสซิตี้ ที่เมืองแจ็คสันโฮล เมื่อสัปดาห์ก่อนๆ โดยขอสรุปภาพรวมจากสัมมนานี้ว่า ผมมองเจย์ พาวเวล เปลี่ยนไปแค่ไหนและอย่างไร จากก่อนการสัมมนา ดังนี้

หนึ่ง ผมมองว่าเจย์ พาวเวล ถือว่าเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนมุมมอง ว่าตัวแปรใดจะมีผลต่อทิศทางเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกที่จะใช้โหมดการวิเคราะห์แบบใดที่มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานตรงตามกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ ที่ผมมองว่า นายพาวเวลมีความยืดหยุ่นในเรื่องนี้ เนื่องจากนายพาวเวล มีการพูดถึงข้อด้อยสำหรับวิธีการที่ใช้สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของอดีตประธานเฟด ในยุคนายพอล โวลค์เกอร์ และนายอลัน กรีนสแปน ว่ามีจุดด้อยอย่างไร โดยยุคของนายโวลค์เกอร์นั้น เน้นให้เฟดมุ่งดำเนินนโยบายให้อัตราการว่างงานของสหรัฐใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ และให้อัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบไม่พิจารณาบริบทอื่นๆ ซึ่งล่าสุด เพิ่งมารู้ว่าอัตราการว่างงานตามธรรมชาติในยุคนั้นหรือแม้แต่ในยุคนี้ อาจจะไม่ใช่อัตราที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจก็เป็นได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าหากมองย้อนหลัง นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นเชื่อหรือศรัทธาแนวคิดอัตราการว่างงานตามธรรมชาติมากจนเกินไป

สำหรับในยุคของนายอลัน กรีนสแปนนั้น ใช้กลยุทธ์บริหารความเสี่ยง ในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยที่นายกรีนสแปนมักจะให้คณะกรรมการเฟดรอการประชุมไปอีก ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าสัญญาณอัตราเงินเฟ้อที่เห็นในตอนนี้ เป็นสัญญาณที่แท้จริงสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่กำลังจะมาหรือไม่ ซึ่งมาถึง ณ วันนี้ นักเศรษฐศาสตร์โดยส่วนใหญ่ประเมินว่าในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อที่มีความหมายต่อการดำเนินนโยบายการเงิน เป็นความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อในอนาคตของประชาชน ซึ่งการที่เฟดรอการประชุมครั้งต่อไปเพื่อรอสัญญาณเงินเฟ้อถือว่า ไม่มีประโยชน์เนื่องจากความคาดหวังดังกล่าวได้ขยับจากจุดเดิมจากการประชุมเฟดครั้งก่อน

ซึ่งตรงนี้ นายพาวเวล มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบพิจารณาข้อมูลไปพร้อมๆ กับตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน น่าจะให้ผลดีที่สุด

สอง ผมมองว่านายพาวเวลค่อนข้างชอบให้น้ำหนัก ในการเน้นอัตราดอกเบี้ยไปที่อัตราการว่างงานมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยเลือกเชื่อในงานวิจัยของเฟดที่ว่า การตั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบที่เน้นให้อัตราการว่างงานต่ำลง สามารถขจัดปัญหาการที่ไม่สามารถประมาณอัตราการว่างงานตามธรรมชาติที่แท้จริง และ อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ได้ตรงกับที่ค่าทั้ง 2 ที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากที่สุด โดยนายพาวเวลค่อนข้างมั่นใจจากงานวิจัยของเฟดเองว่า มูลค่าความเสียหายจากการใช้กฎในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เน้นอัตราการว่างงานมีอยู่น้อยกว่ากฎในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เน้นอัตราเงินเฟ้อ ซึ่ง ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีใครที่กล้าฟันธงว่าอัตราการว่างงานตามธรรมชาติที่แท้จริงมีค่าเป็นเท่าไหร่กันแน่ จึงทำให้มองได้ว่านายพาวเวลน่าจะออกมาทาง Dovish ระดับหนึ่ง

สาม ไม่ค่อยบ่อยที่จะเห็นนายธนาคารกลาง กล่าวสุนทรพจน์โดยระบุว่า เชื่อในมุมมองหรือผลการศึกษาเชิงปริมาณ โดยกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ค่อยจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราการว่างงาน หรือ เส้นโค้งฟิลลิปส์มีความชันค่อนข้างต่ำ ซึ่งให้ผลดีต่อกฎในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เน้นอัตราการว่างงาน ซึ่งก็คือนโยบายการเงินน่าจะออกมาทาง Dovish เช่นกัน

สี่ นายพาวเวลค่อนข้างเลี่ยงจะกล่าวถึง Trade War ว่ามีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะยาวอย่างไร ซึ่งตรงนี้น่าคิดมากว่า หากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มจะเข้ามาแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินแล้ว นายพาวเวลจะใช้กลยุทธ์ใดในการแก้ไขเรื่องนี้

ท้ายสุด การรักษาโทนของสุนทรพจน์ให้เป็นแนวทางเดียวกันหรือ Consistency ของนายพาวเวลถือว่าต่ำกว่าสุนทรพจน์ของอดีตประธานเฟดเบน เบอร์นันเก้ หรือ เจเน็ต เยลเลน เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากการไม่ได้มีกรอบทางเศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์ที่ชัดเจนพอ ที่จะเป็นหลักยึดในการสังเคราะห์ความคิดของตนเอง หรืออาจเป็นไปได้ว่าทีมงานจะพยายามไม่สร้างกรอบดังกล่าวเนื่องจากต้องการให้มีความยืดหยุ่นต่อการเผชิญกับโจทย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต

โดยสรุป ผมมองว่านายพาวเวลเป็นประธานเฟดที่เน้นการจ้างงานมากกว่าเงินเฟ้อ ทว่าสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองนี้มากหรือน้อยเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม และนายพาวเวลถือว่า เสี่ยงพอควรที่น่าจะไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลา ปีต่อไปนี้ของการเป็นประธานเฟด

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645461

TSF2024