donald-trump โดนัลด์ ทรัมป์

แม้ว่าโพลแทบจะทุกโพล จะชี้กันเป็นเสียงเดียวกันว่า นางฮิลลารี คลินตันมีคะแนนเหนือกว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์

ในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐ โดยห่างกันตั้งแต่ร้อยละ 4-11 แล้วแต่สำนักโพล ในความเห็นของผม ก็ยังไม่คิดว่านายทรัมป์จะปิดประตูชนะของตนเองไปแบบเบ็ดเสร็จ ผมคิดว่า ปัจจัยต่อไปนี้ อาจเป็นแรงขับดันให้นายทรัมป์มาแบบหักปากกาเซียนได้เหมือนกับ Brexit ได้เหมือนกัน ดังนี้

หนึ่ง มลรัฐที่ทรัมป์ไม่ชนะคลินตันแน่ๆ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ค เท็กซัส หรือยูท่าห์ นั้น คลินตันมีแนวโน้มว่าจะชนะขาด ทว่ารัฐใหญ่ที่ทั้งคู่เบียดๆกันอย่าง ฟลอริดา โอไฮโอ และ เพนซิลวาเนียนั้น ผมคิดว่าหากตัวเลขการเข้าร่วมตลาดแรงงาน (Labor Participation Rate) ของทางการสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ไม่ตรงกับความเป็นจริงมากนัก ทรัมป์อาจจะสามารถเบียดชนะคลินตันได้ในรัฐเหล่านี้ เพราะทรัมป์หาเสียงด้วยกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกับฝ่าย Out ของการโหวตประชามติ Brexit ออกจากยูโร คือ Pro-Growth หรือเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ให้มีผู้อพยพเข้ามาในสหรัฐเพราะจะแย่งงานชาวอเมริกัน รวมถึงมาตรการปกป้องผู้ส่งออกสหรัฐไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้โดยง่าย

สอง ต้องยอมรับว่าในประเด็นเศรษฐกิจนั้น ทรัมป์ดูจะไม่เป็นรองคลินตัน แถมยังเบียดได้เหนือกว่านิดๆ สังเกตได้จากการโต้วาทีทั้งสามครั้ง แม้ในภาพรวมทรัมป์ดูจะเป็นรอง ทว่าหากพิจารณาเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจแล้ว ทรัมป์ยังดูดีกว่าคลินตันเล็กน้อย ดังรูป

639262_0_1477030413l

สาเหตุหนึ่งมาจากนโยบายแบบสนับสนุนแรงงานอเมริกันลูกเดียวชนิดไม่แคร์สื่อ ทำให้คนที่มีฐานะยากจนและว่างงาน หรือมีงานพาร์ตไทม์ย่อมที่จะชื่นชอบทรัมป์ แบบเงียบๆเป็นธรรมดา หากนายทรัมป์ออกแคมเปญจ์การเลือกตั้งแบบจี้ใจดำในโค้งสุดท้ายของคนเหล่านี้ได้แบบตรงจุด พร้อมทั้งก่อกระแสความน่าสงสัยของหลายๆเหตุการณ์ในอดีตจากฝีมือของนางฮิลลารีให้ผุดขึ้นมาในใจของชาวอเมริกันให้ลุกโชนขึ้นมาให้ได้ ผมคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้ จะออกมาโหวตให้นายทรัมป์กันเยอะมาก

สาม ผมคิดว่าแคนดิเดทแบบมีแผลเยอะอย่างนายทรัมป์ น่าจะตั้งใจให้เป็นรองคู่แข่ง ที่มีภาพดีกว่าเล็กน้อยแต่เป็นทางเลือกที่ไม่ใหม่เท่าไหร่แถมยังมีแผลอยู่เยอะจากหลายๆข้อกล่าวหาที่ต้องบอกว่ามีมูลอยู่พอสมควร อย่างนางคลินตัน ผมคิดว่ากระแสความเบื่อการเมืองสหรัฐของชาวอเมริกัน น่าจะมีส่วนหนึ่งที่ไม่น้อยอย่างออกเสียงแบบอยากลองของใหม่ที่อาจไม่สะอาดมากสุดๆแต่แปลกจากเดิม ซึ่งกระแสนี้ จะมีโอกาสจุดติดได้ถ้าคะแนนเสียงของคู่ชิงที่มีคุณลักษณะนี้ มีเสียงเป็นรองอยู่ระดับที่พอจะฮึดกลับมาได้ เนื่องจากเป็นแรงผลักให้ประชาชนที่อยากลองของใหม่ออกมาเลือก เนื่องจากถ้าออกมาใช้สิทธิ์ก็ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่ออกก็ได้คนสไตล์เดิม ซึ่งถึงตรงนี้นายทรัมป์ก็เข้าข่ายปรากฏการณ์ทำนองนี้อยู่ไม่น้อย

สี่ นักสถิติหลายท่านที่ว่าแม่นๆก็ยังทายนายทรัมป์ว่าจะไม่สามารถแหวกคู่ชิงภายนพรรครีพับลิกันมาสู่จุดที่เป็นตัวแทนพรรคได้ ถึงตรงนี้ ก็ยังเป็นนักสถิติกลุ่มเดิมเหล่านี้ที่ทำโพลว่านายทรัมป์สู้นางคลินตันยาก ความจริงแล้ว การคาดการณ์ว่าใครจะเป็นฝ่ายกำชัยในศึกครั้งนี้ มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การทำโพลอย่างที่เห็นกันอยู่ว่านางฮิลลารีนำอยู่ ทว่ายังมีอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ การใช้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐมาเป็นตัวแปรที่ใช้คาดการณ์ผลการชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งด้วยวิธีการนี้ มีคนประเมินว่านายทรัมป์มีโอกาสที่จะชนะนางคลินตันอยู่เหมือนกัน

ท้ายสุด ผมยังมองถึงประเด็นกระแส Populist หรือการที่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่ามองถึงประโยชน์ในภาพรวมของประเทศว่ายังมาแรง ไม่เลิกจากช่วงโหวต Brexit ที่ส่งผลให้การโหวต No มาแบบเกินความคาดหมาย ผมคิดว่าการเลือกตั้งของสหรัฐครั้งนี้จะเป็นเช่นนั้น

คำถามเดียวคือกระแสดังกล่าวจะแรงพอที่จะกลบจุดอ่อนสารพัดเรื่องของนายทรัมป์ได้มากน้อยแค่ไหน หากจะถามในใจผมจริงๆ ถ้านางคลินตันไม่มีเรื่องที่เป็นจุดอ่อนใหม่ๆเพิ่มเติมมากไปกว่านี้ บางที การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในคราวนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะแค่เกือบพลิกล็อคก็เป็นได้ครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639262