macroview-dodd-frank

ระเบียบการกำกับสถาบันการเงินที่ชื่อว่ากฎหมายดอดด์แฟรงก์ของสหรัฐ ที่เกิดมาเพื่อตอบโจทย์วิกฤติซับไพร์มในสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา มาถึงวันนี้ กำลังถูกทำให้กลายพันธ์จากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ภายใต้ผู้ควบคุมการผลิตของอดีตรองประธานบริหาร โกลด์แมน ซัคส์ นามว่า แกรี่ คอห์น บทความนี้ จะขอวิเคราะห์ว่านายคอห์นน่าจะเปลี่ยนส่วนไหนของกฎหมายดังกล่าวนี้ มากหรือน้อย อย่างไร

เพื่อให้เข้าใจง่ายและคลอบคลุมโดยสมบูรณ์ ผมขอแบ่งหัวข้อกฎหมาย Dodd Frank ออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

หนึ่ง การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำ ได้มีการปรับปรุงใน 4 จุดใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง การเพิ่มความเข้มงวดในการนิยามคำว่าเงินกองทุน สอง การเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ขั้นต่ำต่อสินทรัพย์เสี่ยงจาก 4% ให้เป็น 6% สาม เพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประเภทหุ้นสามัญขั้นต่ำต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Common Equity Tier 1) เป็น 4.5% ท้ายสุด กฎหมายดังกล่าว ยังบังคับให้ดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมอีกหนึ่งชั้น (Capital Conservation Buffer) อีก 2.5%

ทั้งนี้ เนื้อหาของกฎหมายดอดด์แฟรงก์ ใน Section 71 หรือ Collins Amendment ได้บังคับให้สถาบันการเงินของสหรัฐต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเกินกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำทางกฎหมาย นอกจากนี้ สำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่และระดับนานาชาติที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ที่เรียกกันว่า SIFI ต้องดำรงอัตราส่วน Leverage (หนี้สินต่อสินทรัพย์) และเงินกองทุนสำหรับไว้ลดการแกว่งตัวของสภาพเศรษฐกิจ (Countercyclical capital buffer) ผมมองว่าในส่วนนี้รัฐบาลของนายทรัมป์น่าจะตัดในส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเติมสำหรับแบงก์ใหญ่หรือ SIFI รวมถึงลดอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำลงกว่าที่เขียนไว้ในกฎหมายนี้ลงอย่างน้อย 1.5%

สอง กฎหมายที่เกี่ยวกับการปรึกษาการลงทุนให้กับลูกค้าของโบรกเกอร์ที่เรียกว่า fiduciary rule ที่แบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ หนึ่ง การรับรองผลตอบแทนการลงทุนของลูกค้าโดยที่ปรึกษาการลงทุน โดยหากผลตอบแทนทำได้แย่มากๆ ลูกค้าสามารถฟ้องร้องที่ปรึกษาการลงทุนได้ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเพียงพอ และ สอง การเปลี่ยนการคิดค่าใช้จ่ายจากลูกค้าจากที่เป็นค่าคอมมิชชั่นเป็นค่าธรรมเนียม ตรงนี้ นายคอห์นเปลี่ยนกฎหมายในส่วนนี้แน่นอน เนื่องจากเขามาจากแบงก์ใหญ่และบ่นถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตรงนี้นายแบงก์มองว่าหลายฝ่ายเสียประโยชน์มาก

สาม ส่วนด้านการปรับปรุง Prudential Requirement สำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ กฎหมายดอดด์แฟรงก์ ใน Section 165 และ 166 ได้มีการเพิ่มกฎระเบียบประเภท Prudential ซึ่งประกอบด้วย ข้อบังคับด้านสภาพคล่อง ลิมิตของความเสี่ยงคู่ค้า การเยียวยาสถาบันการเงินในช่วงเริ่มต้นมีปัญหา การทดสอบภาวะวิกฤติ และ การวางแผนบริหารจัดการสถาบันการเงินหลังจากล้มละลาย ผมคิดว่าท้ายสุดแล้วจะเหลือแค่ข้อการทดสอบภาวะวิกฤติเพียงอย่างเดียว

สี่ การปรับปรุงการบริหารจัดการสถาบันการเงินหลังล้มละลายสำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ อาจจะกล่าวได้ว่าส่วนที่ใหม่จริงๆ ของกฎหมายดอดด์แฟรงก์ ได้แก่ การตั้งหน่วยงาน Orderly Liquidation Authority (OLA) ภายใต้สถาบันประกันเงินฝากหรือ FDIC เพื่อที่ว่าความเสียหายจากการล้มละลายของแบงก์จะตกไปที่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ จากนั้นเปลี่ยนตัวผู้บริหาร ในขณะที่ให้หน่วยงานหรือฝ่ายที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ดียังสามารถเดินต่อไปได้

ภายใต้ OLA หน่วยงาน FDIC ได้พัฒนาวิธีการบริหารการล้มละลายของสถาบันการเงินแบบ single-point-of-entry (SPOE) โดยได้มีการตั้งบริษัท Holding Company เพื่อทำหน้าที่แทนบริษัทที่ล้มละลายด้วยการเปลี่ยนเจ้าหนี้เป็นนักลงทุน เพื่อที่จะลดแรงจูงใจของเจ้าหนี้ที่จะรับเงินคืน นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการเพิ่มความน่าเชื่อถือของ OLA จึงบังคับให้เพิ่มปริมาณหนี้ระยะยาวขั้นต่ำ ไว้ช่วยลดแรงจูงใจในการใช้เงินภาษีของประชาชนในการช่วยเหลือสถาบันการเงิน นอกจากนี้ สถาบันการเงินขนาด 1 แสนล้านดอลลาร์ ขึ้นไป ต้องร่างขั้นตอนสำหรับสะสางสินทรัพย์ของตนเองหลังจากล้มละลาย

ส่วนนี้ถือว่าคาดการณ์ยากสักหน่อยว่าจะถูกยกเลิกทั้งหมดหรือในบางส่วน เพราะนายคอห์นเคยกล่าวชื่นชมกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารการล้มละลายของสถาบันการเงินแบบ single-point-of-entry (SPOE) ที่เรียกว่า Living wills อยู่เหมือนกัน

ท้ายสุด สำหรับกฎหมายที่ว่าด้วยการปฏิวัติโครงสร้างของสถาบันการเงิน องค์ประกอบสำคัญได้แก่ Volcker Rule ในส่วน 619 และ กฎ Derivative push-out ในส่วน 716

โดย Volcker Rule ได้ห้ามสถาบันการเงินในการเทรดหลักทรัพย์ของตนเอง (Proprietary Trading) หรือมีความสัมพันธ์กับกองทุน Hedge Fund และ Private Equity Fund สำหรับส่วนของกฎ Derivative push-out ในส่วน 716 นั้น ได้แก่การห้ามใช้ Discount window ของธนาคารกลางสหรัฐให้กับ Swap Dealer ต่างๆ ผมมองว่านายทรัมป์จะสั่งลุยยกเลิกกฎ Volcker Rule ทั้งฉบับ เนื่องจากส่วนนี้ถือว่าเป็นหัวใจของกฎหมานดอดด์แฟรงค์ และ ยกเลิกกฎ Derivative push-out เฉพาะในบางส่วน ที่ทีมของนายทรัมป์เคยกล่าวในเชิงเห็นด้วย

โดยสรุป กฎหมายดอดด์แฟรงก์ในวันนี้ น่าจะถูกยกเลิกไปมากกว่าครึ่งของทั้งหมด ถือเป็นข่าวดีของหุ้นแบงก์ แต่เป็นข่าวร้ายของเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกในภาพรวมต่อจากนี้ไป เพราะวิกฤติรอบใหม่จะมาเยือนเร็วกว่าที่คาดกันไว้ครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640312