ภาพโลกเงินสกุลดิจิทัล… ทศวรรษ 2020

มาถึงวันนี้ ที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ในบ้านเราได้ก้าวเข้ามาสู่สนามแห่งเงินสกุลดิจิทัลแบบเต็มตัว เราคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องรู้และเข้าใจเรื่องฮอตฮิตดังกล่าวให้กระจ่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสามารถฉายภาพเงินสกุลดิจิทัลว่าจะก้าวต่อไปอย่างไรนับต่อจากนี้ ซึ่งบทความนี้ จะขออาสาพาไปจับตาภาพดังกล่าว ดังนี้

สำหรับวิวัฒนาการของเงินสกุลดิจิทัลต่อจากวันนี้ คาดว่าจะมีอยู่ด้วยกัน 4 เฟส ได้แก่

  1. เฟสการใช้จ่ายของลูกค้ารายย่อยและการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2022-2025
  2. เฟสการใช้งานระหว่างหน่วยงานขนาดใหญ่และการเป็นหน่วยของเงินตรา ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2025-2030
  3. เฟสการใช้เงินสกุลดิจิทัลแบบคลอบคลุมทั้งหมดและการเป็นแหล่งเก็บมูลค่าของเงินตรา ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2030-2035

โดยเฟสสุดท้าย จะเป็นการที่เงินสกุลดิจิทัลเข้าสู่การทำงานในหน้าที่ของเงินตราโดยสมบูรณ์ระหว่างปี 2035-2040

สำหรับในแง่ของรูปแบบเงินสกุลดิจิทัลในอนาคตจากนี้ไปอีก 5 ปี หรือระหว่างปี 2021-2025 คาดว่า ระบบของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ใช้ระบบ Fast Payment System กำลังจะกลายเป็นอดีต ซึ่งในตอนนี้ ต้องมีการรองรับระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยแอปพลิเคชันของ Social Network ต่าง ๆ ทั้งนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมด้านสกุลเงินดิจิทัล 2 รูปแบบ เกิดขึ้น ได้แก่

หนึ่ง ระบบ Decentralized Finance (Defi) ที่ศูนย์กลางการประมวลผลของธุรกรรมการเงินจะถูกขจัดออกไป กลายเป็นระบบการเงินที่ถูกกระจายศูนย์กลางออกไปในที่ต่าง ๆ หรือ Decentralized Finance ที่บริษัทและเทคโนโลยีของภาคเอกชนจะแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นมาตรฐานของระบบการชำระเงินและตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยจะรองรับสกุลเงินดิจิทัลประเภท StableCoin หรือเงินสกุลคริปโทที่มีเงินดอลลาร์หนุนหลัง และ เงินสกุลประเภทคริปโท

และ สอง ระบบโครงสร้างเพื่อรองรับเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลางหรือ CBDC ที่มีเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลางเป็นศูนย์กลางของระบบการชำระเงิน

ในมิติของการที่ยุคเงินดิจิทัลพร้อมจะ Disrupt โลกการเงิน นั้น  จะมี 3 ขั้วหลัก ที่จะกลายเป็นหัวใจของเงินสกุลดิจิทัลในโลกใบนี้ ได้แก่

  1. StableCoin ที่นับจากนี้ไป จะถูกกำกับอย่างใกล้ชิดจากทางการของสหรัฐและยุโรป ซึ่งข้อดีคือ StableCoin น่าจะกำลังจะกลายเป็นเงินสกุลดิจิทัลประเภทแรกที่มีกฎหมายรองรับ ทำให้สามารถใช้แลกเปลี่ยนกันได้โดยสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันตก ในเวลาอีกไม่นานต่อจากนี้

ตัวอย่างหนึ่งของ StableCoin คือ Diem ซึ่งเป็น StableCoin ของ Facebook หรือที่มีชื่อใหม่ว่า Meta ซึ่งประชาชนทั่วโลกกว่า 3 พันล้านคนที่ใช้ Facebook, Instagram และ WhatsApp จะได้ประโยชน์จากการเป็นผลพวงของปรากฏการณ์เครือข่าย (Network Effect) ที่จะส่งผลให้ Diem ที่ได้การรับรองเป็นสกุลเงินตามกฎหมาย น่าจะเป็นที่นิยมของชาวโลกในการใช้จ่ายเงิน ฝากถอน และกู้ยืม ด้วยเวลาอันรวดเร็ว

  1. Defi ณ ตอนนี้ ในภาคเอกชนได้มีการแข่งขันแย่งกันในการเป็นเจ้าแห่งมาตรฐานของเทคโนโลยี Defi ทั้งในส่วนของโครงสร้างและตัวแอปพลิเคชันในรูปแบบการใช้งานประเภทต่าง ๆ อาทิ การชำระเงิน การปล่อยกู้ หรือการประกันภัย โดยความรุ่งเรืองของ Defi ในอนาคต จะสามารถเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่ง จะมาจากการตัดสินใจของธนาคารกลางหลักของโลก ว่าจะตัดสินใจใช้ Defi ในระบบ CBDC หรือไม่
  2. Big Tech’s Retail Payment System (BPMS) หรือการออกบัตรเครดิตของบริษัทยักษ์ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ อาทิ กลุ่ม FANG ที่จะใช้ขนาดที่ใหญ่มาก ๆ ของตนเองในการทำให้ประชาชนทั่วโลก หันมาใช้บริการบัตรเครดิตของ FANG

ทั้งนี้ ในอนาคต หลายคนคาดหวังว่า เงินดิจิทัลใน 3 ขั้วหลักดังกล่าว จะสามารถใช้งานร่วมกับ CBDC ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ดี การอยู่ร่วมกันระหว่างสกุลเงินของทั้งราษฎร์และหลวงดังกล่าวจะสามารถเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อการส่งผ่านจากนโยบายของทางการไปสู่ภาคประชาชน เป็นไปตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

การออกแบบ CBDC ต้องสอดคล้องกับ StableCoin Defi และ BPMS ใน 3 ขั้นตอน คือ

  1. ผู้บริโภคต้องสามารถใช้งานเงินสกุลดิจิทัลได้อย่างสะดวกสบาย ทว่ามีความปลอดภัยจากการเก็บข้อมูลค่อนข้างสูง
  2. ต้องสามารถตอบโจทย์ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งด้านนโยบายการเงินและด้านเสถียรภาพทางการเงิน โดยที่การใช้จ่ายและชำระเงินตามช่องทางต่าง ๆ ต้องไม่ไปบิดเบือนการกระจายตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  3. ด้านเทคโนโลยีการชำระเงินที่ต้องสามารถทำได้อย่างฉับไวและรวดเร็ว ทว่ามีความปลอดภัยในระดับสูงสุด

โดยยุคสกุลเงินดิจิทัลนับต่อจากนี้ จะมีมหาอำนาจโลกการเงินดิจิทัลอยู่ 3 ขั้ว ประกอบด้วย

  1. ขั้วของสกุลเงินดิจิทัลจีน ซึ่งมี สี จิ้น ผิง ผู้นำของจีน เรย์ ดาลิโอ และ ลาร์รี ฟิงค์ สองผู้นำของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจการเงินในจีน เป็นแกนหลัก
  2. ขั้วสกุลเงินดิจิทัลของภาคทางการสหรัฐ ซึ่งมีเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ และแกรี เกนสเลอร์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐ
  3. ขั้วสกุลเงินดิจิทัลของภาคเอกชนสหรัฐ ซึ่งมีอีลอน มัสก์ เคธี วูด และ แจ็ค ดอร์ซีย์ สามผู้นำของบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ  ซึ่งทั้งสามขั้วอำนาจนี้ จะเป็นผู้มีอิทธิพลและชี้ทิศทางของวงการสกุลเงินดิจิทัลของโลก โดยจะพยายามจะช่วงชิงความได้เปรียบให้กับขั้วของตนเองในระยะยาว

MacroView

ที่มาบทความ: http://www.macroviewblog.com/blog/investment/dmoneyfuture/

TSF2024