cooperative-mega-trend

ปี 2559 เป็นช่วงเวลาสำคัญวงการสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย ที่ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการทางการเงินกำลังจะออกมาเพื่อกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนของไทย ซึ่งมีเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้

1.) สหกรณ์ออมทรัพย์ไทยยังต้องทำหน้าที่เหมือนสถาบันการเงินในชุมชน หรือหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ

เนื่องจากสถาบันการเงินภาคเอกชนจะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ในกลุ่มคนมีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Blockchain หรือดิจิตอลแบงก์กิ้ง ซึ่งนับวันจะละเลยความเป็น Traditional Banking ที่ให้บริการชาวบ้านในชุมชน

2.) การตัดสินใจของทางการที่มีแนวโน้มให้การกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ไปอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง

โดยมีหน่วยงานอิสระคอยรับผิดชอบ เนื่องจากในอนาคตการแข่งขันจากสถาบันการเงินภาคเอกชนจะมีสูงขึ้น ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์อาจจำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงขึ้น และนั่นก็อาจทำให้หน่วยงานกำกับที่มีความเชี่ยวชาญสูงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การทุจริตของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งหนึ่งที่เป็นข่าวดังได้ทำให้ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการมีความสำคัญต่อการกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

3.) สหกรณ์ออมทรัพย์ไทยต้องพิสูจน์ให้ทางการเห็นว่าไม่ได้เป็นจุดอ่อนของระบบการเงินไทย

ดังที่ภาพลักษณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ไทยในสายตาของหลายคน ที่มองว่าเหมือนจะเป็นจุดอ่อนหรือแหล่งของความเสี่ยงเชิงระบบ ที่อาจจะเป็นจุดเปราะบางหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งตรงจุดนี้ นักวิชาการน่าจะมีส่วนสำคัญในการทำวิจัยตรงจุดดังกล่าวให้เกิดความกระจ่างกับสังคมว่า ว่าแท้จริงแล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ไทยมีบทบาทในการเป็นกันชนให้กับเศรษฐกิจไทย มิใช่เป็นตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือเพิ่มเติมความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด

4.) ธรรมาภิบาลและบริหารจัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

โดยการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารจำเป็นต้องถูกแทนที่โดยระบบนักบริหารมืออาชีพ เนื่องจากความได้เปรียบในแง่ของการที่ไม่ต้องดำรงเงินกองทุนที่มีต้นทุนสูงกำลังจะใกล้หมดลง ดังนั้น ต้นทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์จะมีความใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์มากยิ่งขึ้น หากยังใช้ระบบการบริหารแบบที่เหมือนในอดีต สหกรณ์จะไม่สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ โดยระบบธรรมาภิบาลจะมีบทบาทในสหกรณ์ออมทรัพย์มากยิ่งขึ้น ด้วยพลังการตรวจสอบของสาธารณชนและหน่วยงานกำกับใหม่

5.) การทำธุรกิจแบบปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว อาจจะไม่ใช่โมเดลทางธุรกิจที่สามารถอยู่ได้ยั่งยืนของสหกรณ์ออมทรัพย์ไทยในอนาคต

ทำธุรกิจในแพลตฟอร์มแบบดิจิตอล เข้าถึงลูกค้าแบบที่ใช้สื่อออนไลน์ ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานแบบใช้เทคโนโลยีใหม่รวมถึงการเป็น Mobile COOP เป็นสิ่งจำเป็นที่กำลังเข้ามาสู่ระบบสหกรณ์ไทยแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

6.) นับจากนี้ต้องบริหารจัดการคล้ายกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากจนถึงติดลบ

ซึ่งคาดกันว่ายังเป็นเช่นนี้อยู่อีกเป็น 10 ปี ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ไทยส่วนใหญ่จะเป็นสหกรณ์ประเภทเงินเหลือ ซึ่งนับวันก็จะเหลือมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ ความชำนาญในการบริหารเงินทุนแบบบริษัทจัดการกองทุนรวมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากประสิทธิภาพในการบริหารเงินทุนยิ่งต่ำ ยิ่งนับวันไป เม็ดเงินในส่วนของกำไรก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งผู้ชนะกับผู้แพ้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ไทยในทศวรรษหน้าจะขึ้นอยู่กับความชำนาญในการบริหารเงินทุนและบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างมาก

7.) การบริหารความเสี่ยงจะเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย

หากมองการบริหารเงินทุนเป็นเหมือนกองหน้า การบริหารความเสี่ยงก็เป็นเหมือนกองหลังที่มีความสำคัญมาก หากสังเกตดูให้ดี ระบบบริหารความเสี่ยงจะเป็นเหมือนโครงหลักในการป้องกันไม่ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการล้มละลาย ขาดสภาพคล่อง หรือทุจริตอย่างยั่งยืน

…ท้ายสุดกลยุทธ์ดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องเป็นพลวัต หากพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการทางการเงิน จะบังคับให้สหกรณ์ออมทรัพย์ดำรงเงินกองทุน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีกลยุทธ์และแพลตฟอร์มชัดเจนในการประกอบกิจการครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638631