เศรษฐกิจจีนใน 10 ปีต่อจากนี้...

บทสรุปหนึ่งหากได้พิจารณาจากการติดตามการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ คือ ‘ไม่มีใครที่สามารถอยู่ค้ำฟ้าได้ โดยงานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา’

จีนที่ว่าเติบโตแบบแน่นๆ มากว่า 15 ปี ถึงวันนี้ ก็ต้องชะลอลง คำถามคือมากน้อยแค่ไหน บทความนี้ จะขอประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจากจุดนี้ มองไปในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเดินต่อไปในแนวทางใด

หากมองย้อนกลับไปจากอดีตถึงปัจจุบัน จะพบว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจจีน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้

ช่วงที่หนึ่ง เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของอดีตประธานาธิบดีและประธานพรรคคอมมิวนิสต์ เหมา เจ๋อตง ในปลายทศวรรษที่ 1970 โดยปีสุดท้ายของยุคท่านเหมา ได้เกิดเศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ 1.7 ในยุคดังกล่าว ปรัชญาการเติบโตในช่วงนั้น คือเน้นให้ซึมซับในปรัชญาการปกครองของประธานเหมา โดยไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนทำให้การลงทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเศรษฐกิจจีนในช่วงนั้นได้ถูกบิดเบือนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดี หนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น ยุคของการเฟื่องฟูผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น โดยปีที่อัตราการเติบโตของจีดีพีต่ำสุด คือต่ำกว่าร้อยละ 7 เท่านั้น ซึ่งมีอยู่เพียงปีเดียวเท่านั้น ด้วยนโยบายทีเน้นการปรับเพิ่มขึ้นของระดับผลิตภาพ ด้วยการให้อิสระกับภาคแรงงานและเกษตรกรให้สามารถทำงานในโครงการหรือหน่วยงานที่ตนเองต้องการจะทำ รวมถึงยกเลิกกฎเกณฑ์ที่มุ่งให้การตัดสินใจกระจุกตัวเฉพาะในส่วนกลาง ด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ความมั่งคั่งของชาวจีนก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาช่วงที่สอง เริ่มเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 โดยแบบจำลองของการเติบโตเศรษฐกิจจีน ใช้การลงทุนเป็นหัวใจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทางการจีนใช้เม็ดเงินจากการออมของภาคครัวเรือนเพื่อไปสนับสนุนการลงทุนที่ทางการจีนสนับสนุนแบบเต็มที่ สิ่งนี้ ส่งให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจจีน 2 ประการในเวลาต่อมา คือ ภาคครัวเรือนไม่มีความสามารถในการตรวจสอบการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดการ Overinvestment ในโครงการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่คุ้มค่า และ การบริโภคภาคครัวเรือนต่อจีดีพีที่ต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น

ช่วงที่สาม เริ่มต้นในปี 2015 ซึ่งในตอนนั้น มาตรการกระตุ้นด้านการคลัง ในช่วงวิกฤติซับไพร์มปี 2008 เริ่มหมดอานิสงส์ลง หากพิจารณาในประวัติศาสตร์ของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศดาวรุ่งที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ มีอยู่น้อยรายที่จะประสบความสำเร็จแบบที่ไม่ต้องผ่านวิกฤติครั้งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งทางเศรษฐกิจของโลกก็ต้องผ่าน Great Depression ในทศวรรษ 1930 ก่อนที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ก้าวขึ้นมาอย่างเช่นในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งจีนเอง ที่ใช้เวลาในช่วงทศวรรษที่ 1980 ในการบ่มเพาะจนเกิดการตกผลึกทางความคิดจากท่านผู้นำ เติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 1992 เมื่อใช้เมืองเซินเจิ้น เป็นแม่แบบในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเมืองใหญ่อื่นๆ ของประเทศจีน

แล้วเศรษฐกิจจีน จากนี้ไปอีก 10 ปี จะมีรูปแบบการพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อก้าวมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ท่ามกลางอุปสรรคจากทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ และ โดนัลด์ ทัสก์ จากสภายุโรป ที่ตามมาสกัดดาวรุ่งอย่างมังกรจีนนับต่อจากนี้

ผมมองว่ามีอยู่ 3 แนวทางที่เศรษฐกิจจีน จะก้าวต่อไปจากจุดนี้ ดังนี้

หนึ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สามารถที่จะสามารถใช้ขุมพลังด้านการเมืองที่สามารถจะถ่ายเทความมั่งคั่งจากภาคราชการและรัฐวิสาหกิจไปสู่ประชาชนภาคครัวเรือน ผ่าน 3 ลูกศรการเงินของ Xi-nomics ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อให้สามารถใช้ในการทำธุรกิจได้ รวมถึงผ่านการใช้วลีขนาดความยาวอักษร 8 ตัวที่ชาวจีนจากอดีตถึงปัจจุบันจะใช้ เพื่อทำความเข้าใจในปรัชญาทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ของผู้นำสูงสุดยุคต่างๆ ที่จะชี้นำไปในการมุ่งกระจายความมั่งคั่งไปสู่ภาคครัวเรือน

โดยหากทำได้จริง สัดส่วนของจีดีพีจีนจะสามารถขยับขึ้นมาจาก 16-17% ของมูลค่าจีดีพีทั้งโลก ไปสู่ระดับ 20% ได้ โดยที่การเติบโตของภาคครัวเรือนจะเติบโตได้ดี แม้จะไปลดสัดส่วนของภาครัฐบาลต่อจีดีพีในปัจจุบันก็ตาม ด้วยการพัฒนาในรูปแบบนี้ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่ดีที่สุด สำหรับเศรษฐกิจจีนหากมองไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี เป้าหมายข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสามารถบรรลุได้ โดยในอดีต มีเพียง เติ้ง เสี่ยวผิง ท่านเดียวเท่านั้นที่สามารถทำสิ่งที่เป็นงานยากมากๆ ที่ใกล้เคียงกับสิ่งนี้จนประสบความสำเร็จได้

แนวทางที่สอง เป็น Scenario ที่ถือว่าเป็น Baseline ซึ่งเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันดูจะเดินทางไปในแนวทางนี้มากที่สุด นั่นคือทางการจีนสามารถที่จะทำให้มูลค่าหนี้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ไม่ให้เกิดการหลุดเป็นวิกฤติหนี้อย่างที่ประเทศในตลาดเกิดใหม่มักจะประสบกันในอดีต นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากภาครัฐบาลสู่ภาคเอกชน ทว่าทำได้ค่อนข้างน้อย โดยที่โครงการการลงทุนของภาครัฐยังคงมีเยอะอยู่ ทว่ามีสัดส่วนไม่น้อยที่ไปลงทุนในโครงการที่ไม่มีผลตอบแทนเพียงพอต่อต้นทุนทางการเงิน สำหรับในกรณีนี้ อัตราการเติบโตของจีดีพีของจีนจะชะลอลง แม้ว่าจะไม่รุนแรงเหมือนกับดาวรุ่งทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ในอดีต อย่างไรก็ดี ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเป็นวิกฤติหนี้ลากยาวไปจนกลายเป็นภาวะที่เศรษฐกิจหยุดนิ่งและเกิดเงินฝืดหรือ Stagflation

แนวทางที่สาม ถือเป็นกรณีที่เสี่ยงที่สุดสำหรับเศรษฐกิจจีน ทว่าโอกาสเกิดขึ้นก็ต่ำสุดเช่นกัน นั่นคือ การเกิดวิกฤติการเงินขนาดย่อมๆ หรือผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อให้เกิดเงินเฟ้อในการลดมูลหนี้ ผมมองว่าโอกาสในการเกิดวิกฤติของจีนน่าจะค่อนข้างน้อย เนื่องจากระบบการเงินของจีนที่มีปัญหาอย่าง Shadow Banking น่าจะไม่บานปลายไปกว่าในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจในกรณีนี้จะลดลงเร็วมากจากระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนอาจลงสู่ในระดับศูนย์เลยก็เป็นได้

ทั้งนี้ รูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคตจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐและยุโรป การเติบโตของเศรษฐกิจโลกว่าจะเป็นเช่นไร รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทศวรรษหน้า โดยผมมองว่าไม่ง่ายทว่าก็ไม่ยากเกินไปเช่นกัน ที่เศรษฐกิจจีนจะไปสู่จุดที่เท่าเทียมกับสหรัฐ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647019

TSF2024