จีนกับสหรัฐ กรณีไต้หวัน: สู้กันแบบไหนและจบไหม?

หลังจากที่ข่าว แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมาเยือนไต้หวัน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นที่ฮือฮาไปพักหนึ่ง ล่าสุด โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐก็ออกโรงมาว่าจะขายอาวุธทางทหารมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ ให้ไต้หวันเพื่อปกป้องตนเอง

บทความนี้ จะขอตอบคำถามว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ กรณีไต้หวัน จะสู้กันแบบไหน ผลกระทบต่อบ้านเราและลงเอยอย่างไร

ขอเริ่มจากสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐในอนาคตจะมีเรื่องใดบ้าง? จะขอแบ่งการแข่งขันสงครามของทั้งคู่ออกเป็น 4 สนาม ดังนี้

1. สนามสงครามการค้าและเศรษฐกิจ

สงครามการค้าถูกแบ่งออกเป็นโลกของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วของสหรัฐ และประเทศ Frontier Market ของจีน โดยที่สหรัฐมี Digital Dollar ส่วนจีนมี Digital Yuan และกำลังพัฒนาค่อย ๆ เข้าสู่ยุคที่บริหารโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน Inflation Targeting

2. สนามสงครามเทคโนโลยี

ในปี 2022 โจ ไบเดน ได้หันมาโฟกัสสนามเทคโนโลยี War มากขึ้นโดยออกกฎหมาย Chip and Science มูลค่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ และ กฎหมาย Inflation-Reduction มูลค่า 4.4 แสนล้านดอลลาร์ ให้เงินทุนสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสีเขียว และ Healthcare เพื่อมาคานกับกลยุทธ์ Dual Circulation ของจีน ที่ให้เงินทุนสนับสนุนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงจัดตั้งกองทุนในการสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าว

โดยสหรัฐจะพยายามไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ตนเองได้เปรียบให้กับจีน เพื่อชะลอการขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีจีนได้เจริญก้าวหน้า ไปไกลกว่าที่สหรัฐจะฉุดรั้งการพุ่งทะยานเป็นผู้นำโลกได้ คาดหมายกันว่าในอีก 5-10 ปี จีนจะเป็นเจ้าแห่งโลกเทคโนโลยีอย่างชัดเจนมากกว่านี้

3. สนามสงครามตลาดทุน

ในสนามนี้ ถือเป็นสนามเดียวที่จีนยอมถอยให้กับสหรัฐ โดยล่าสุด ได้ยินยอมให้กลต. สหรัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลบัญชีการเงินของบริษัทจีนที่ไปจดทะเบียนเข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐ

4. สนามการทหาร และภูมิรัฐศาสตร์

โดยทั้งคู่ใช้เครือข่ายของตนเองในการแผ่ขยายอิทธิพล โดยสหรัฐจับกับขั้วอำนาจเก่าอย่างยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนจีนจับขั้วกับกลุ่มประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลางหลายประเทศ ในขณะที่สงครามภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐปกป้องประเทศที่ให้ประโยชน์ต่าง ๆ กับตนเอง ส่วนจีนให้ความสำคัญกับพันธมิตรเป็น 3 ระดับ คือ ชั้นหนึ่ง คือ ธิเบต ไต้หวัน และฮ่องกง ชั้นสอง คือ พื้นที่ในแถบทะเลจีนใต้ ส่วนชั้นสาม ได้แก่ ประเทศที่ตนเองให้ความช่วยเหลือทางการเงิน อย่างประเทศในแอฟริกา

สำหรับประเด็นเผชิญหน้าดังกล่าว มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางใดนั้น

ทิศทางที่จีนได้เปรียบขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เปรียบสหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า ยกเว้นในสนามตลาดทุนที่จีนยังเสียเปรียบสหรัฐ อย่างไรก็ดี ความสำคัญของดอลลาร์จะถูกลดลงเรื่อย ๆ จากความไม่เป็นกลางของ นโยบายรัฐบาลสหรัฐในการใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งนี้ คงจะไม่มีเงินสกุลใดจะมาแทนที่ดอลลาร์ในเร็ววันนี้

หันมาพิจารณาผลกระทบด้านเศรษฐกิจการค้า และ Supply Chain ของไทยจากเรื่องดังกล่าวกันบ้าง

ในมิติผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการค้าต่อไทยนั้น จีนและสหรัฐไม่ได้มีความแตกต่างสำหรับการส่งผลกระทบต่อบ้านเรามากนัก โดยผลกระทบต่อจีดีพีราว 3-4% ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกราว 6-7% ด้าน Supply Chain จีนมีความสำคัญต่อไทยมากกว่าสหรัฐมาก โดยการนำเข้าของไทยจะได้รับผลกระทบจากจีนมากกว่าเยอะ

ต่อคำถามที่ว่ากรณีวิกฤตไต้หวันจะคลี่คลายหรือไม่ อย่างไรนั้น?

คำตอบ คือคลี่คลายที่จะไม่เกิดสงครามในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาว คาดหมายกันว่าจีนโดยผู้นำ สี จิ้น ผิง จะทำการยึดไต้หวัน อย่างเร็วสุดในปี 2027 และช้าที่สุดภายในปี 2049

ในประเด็นความขัดแย้งของไต้หวันระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น ต่างคนรู้ว่าหมากต่อไปจะทำอะไรต่อ โดยทางการจีนมองไว้อยู่แล้วว่า “การต่อสู้กับสหรัฐ” อย่างไรเสีย วันนั้นคงจะต้องมาถึง

โดยกลยุทธ์ของทั้งคู่เกี่ยวกับไต้หวันและประเด็นหลักอื่น ๆ มีดังนี้

สำหรับสหรัฐ จะเน้นการลงทุนในด้านไฮเทคและพลังงานสีเขียว เพื่อไล่ตามจีนให้ทัน จากนั้นจะทำการหาพวกพ้องกับชาติที่ตนเองเป็นพันธมิตรและที่มีแนวโน้มว่าอยากจะเป็นพันธมิตรด้วย อาทิ กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) หรือกลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ การสนทนาจตุรภาคีว่าด้วยความมั่นคง ประกอบด้วยสี่ชาติ คือ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, อินเดีย และญี่ปุ่น จากนั้นทำการแข่งขันกับคู่แข่ง ด้วยการปิดกั้นเข้าถึงเทคโนโลยี อาทิ การปิดกั้นข้อมูลของสหรัฐจากแอป Tiktok

ด้านจีนก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผู้นำจีนมองว่าขณะนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจชาติตะวันตกกำลังย่ำแย่ ถือเป็นโอกาสของเรา โดยมองว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสแห่งประวัติศาสตร์ หรือ 历史机遇 ที่ต้องฉกฉวยเพื่อให้ได้มาซึ่งการครองเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2049 หรือ 复兴之年 โดยยิ่งเวลาเนิ่นนานไป จีนก็จะได้เปรียบสหรัฐ มากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี ภาพในระยะสั้นจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ทางการจีนต้องพยายามทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมีเสถียรภาพมากที่สุดผ่านนโยบายต่าง ๆ เพื่อต้อนรับการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ซึ่งจะมีวาระต่ออายุการเป็นผู้นำของสี จิ้น ผิง เป็นวาระที่ 3 ดังนั้น ภาพการลงทุนของตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้ ดูแล้วค่อนข้างน่าสนใจระดับหนึ่งเลยทีเดียว

แล้วก็อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการลงทุน

MacroView