วิกฤติจีน จะย้อนรอย ‘ซับไพร์มสหรัฐ’?

หากจะถามว่า เพราะเหตุใดเมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลงเหลือเพียง 6.4% ในไตรมาส 4 ปี 2018 ซึ่งถือว่าช้าที่สุด นับตั้งแต่หลังวิกฤติซับไพร์ม สหรัฐ ปี 2008 แล้ว ทางการจีนจึงเอาแต่กระตุ้นแบบไม่เต็มที่นัก ทำเพียงลดอัตราส่วน RRR ของแบงก์หรือมีแผนว่าจะลดภาษีในบางส่วนเท่านั้น ทว่าไม่ทำแบบสุดๆ อย่างที่ชาติตะวันตก ได้เคยทำกันบ้าง

คำตอบคือ หากทำเช่นนั้น ระบบ Shadow Banking ของจีน ก็จะย้อนรอยวิกฤติตราสารหนี้ซับไพร์มของสหรัฐ เมื่อ 10 ปีก่อน ดังนี้

วิกฤติจีน จะย้อนรอย ‘ซับไพร์มสหรัฐ’?

รูปที่ 1 การเติบโตของปริมาณหนี้จีนต่อจีดีพี แยกตามประเภทของผู้ออกตราสารหนี้

หนึ่ง จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าสินเชื่อของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อภาคเอกชนเติบโตขึ้นแบบขึ้นมาเรื่อยๆ นับจาก 10 ปีก่อน หากสังเกตให้ดี จะพบว่าการเติบโตดังกล่าวคล้ายคลึงกับการเติบโตของสินเชื่อบ้านและรถยนต์ในสหรัฐ ในช่วงเวลา 10 ปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตซับไพร์มเมื่อปี 2008 ซึ่งเมื่อสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจมีอยู่ในปริมาณที่สูง ผู้ถือครองสินเชื่อดังกล่าวในพอร์ต มักจะได้ผลตอบแทนที่ไม่จูงใจมากนัก จึงมักที่จะนำสินเชื่อดังกล่าวมาแปลงเป็นหลักทรัพย์เพื่อขายให้กับประชาชนหรือนักลงทุนทั่วไป โดยเมื่อกว่า 10 ปีก่อน สหรัฐเคยเกิดเป็นตราสารซับไพร์มที่สถาบันจัดอันดับเครดิตให้อันดับ AAA แม้ว่าสินเชื่อที่หนุนหลังตราสารดังกล่าว จะเป็นสินเชื่อที่ไร้คุณภาพก็ตาม

ข้ามมาในปี 2018 ต่อถึง 2019 จีนเองก็กำลังเดินตามรอยที่มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย โดย Shadow Banking ของจีน ซึ่งถือครองผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่นำสินเชื่อทั้งภาครัฐและเอกชนมาแปลงเป็นหลักทรัพย์เช่นกัน โดยที่มีการถือครองข้ามกันระหว่างผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์ดังกล่าวหลายๆตัวกับสินเชื่อดังกล่าว ในลักษณะที่ข้ามกันไปๆ มาๆ อีกต่างหาก เราเรียกผลิตภัณฑ์การเงินดังกล่าว ว่าเป็น Shadow Banking โดยที่ยังมีหนี้ที่นำมา financing หลักทรัพย์เหล่านี้ซ้อนเข้าไปอีกต่างหาก เพื่อเพิ่มตัวทวีคูณของผลตอบแทนที่ได้อีกให้เพิ่มขึ้น

จุดนี้ ทางการจีนทราบดี ว่าหากไม่ดูแลและบริหารจัดการให้ดี ก็จะเป็นความเสี่ยงที่จีนจะเดินตามรอยวิกฤติซับไพร์มสหรัฐเมื่อ 10 ปีก่อน ทางการจีน จึงเริ่มเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้แบบที่ไม่ส่งผลกระทบที่จะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาก่อน

ด้วยการห้ามบริษัทขนาดใหญ่ของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม BAT ที่ประกอบไปด้วย Baidu Alibaba และ Tencent รวมถึง JD.com โดยห้ามไม่ให้ โรบิน ลี แจ็ค หม่า โพนี ม่า และ ริชาร์ด หลิว ทำดีลเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ด้วยการกู้หรือมี Exposure ด้านการเงินกับต่างประเทศเป็นอันขาด เนื่องจากอยากที่จะจำกัดขอบเขตของปัญหา Shadow Banking ให้อยู่ภายในเมืองจีน เพื่อที่จะได้ไม่ให้แก้ไขยากไปกว่านี้

ในขณะที่การแก้ปัญหา Shadow Banking ในจีน ก็จำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อมิให้กระทบต่อปริมาณสินเชื่อมากเกินไป ซึ่งจะไปซ้ำเติมการเติบโตของจีดีพีจีนที่ก็โตช้ากว่าในอดีตพอสมควรอยู่แล้ว

วิกฤติจีน จะย้อนรอย ‘ซับไพร์มสหรัฐ’?

รูปที่ 2 สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องคิดเป็นสัดดส่วนร้อยละต่อสินทรัพย์ธนาคาร

โดย Shadow Banking ของจีน มีความน่ากังวล ใน 2 มิติ ได้แก่ หนึ่ง โครงสร้างของ Shadow Banking ที่ถือสินทรัพย์ต่างๆ ที่นำมาหนุนให้ออกเป็นหลักทรัพย์มาขายให้นักลงทุนนั้น ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มากในสายตาทางการและตลาด

มิติที่สอง คือ มูลค่าของ Shadow Banking ณ วันนี้ ประมาณกันว่ามีอยู่ถึง 1 ใน 4 ของมูลค่ารวมของตราสารทางการเงินทั้งหมดในระบบการเงินของจีน หรือ กว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่าขนาดที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับจีดีพีจีน ซ้ำร้าย ในขณะที่สถาบันการเงินของจีนกลับถือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยลงกว่าเดิม ดังรูปที่ 2 นั่นหมายความว่าแบงก์และ shadow banking มีความเสี่ยงเชิงสภาพคล่องสูงขึ้นนั่นเอง แม้จะมีความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์อันตรายดังกล่าว

คำถามสำคัญที่ยังไม่มีใครกล้ายืนยัน คือทางการจีนที่ได้เปิดเผยตัวเลขจีดีพีออกมานั้น ตรงกับความจริงไหมและมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ น่ากังวลว่า หากถ้าไม่จริง จะเหมือนกับเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ที่สหรัฐเคยเกิดวิกฤต เนื่องจากตราสารซับไพร์มที่สถาบันจัดอันดับเครดิตให้อันดับ AAA แม้ว่าคุณภาพของไส้ในสินเชื่อจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646413

TSF2024