ธนาคารกลาง ไม่ใช่พระเอกที่สู้ ‘วิกฤตโควิค-19’

ณ วันนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก ในมุมมองเชิงมหภาค หากเปรียบเทียบกับวิกฤติที่หนักๆ ในอดีตของโลกที่ผ่านมา 2 ครั้ง ได้แก่

Great Depression ปี 1930 และ วิกฤติซับไพร์มปี 2008 ปรากฎว่าครั้งนี้ มีความแตกต่างจากครั้งก่อนหน้า

เนื่องจาก Great Depression ปี 1930 เป็นวิกฤติที่เกิดจากการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านการตกต่ำเป็นอย่างมากในส่วนอุปสงค์ของเศรษฐกิจ ซึ่งมีการตกต่ำของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้ามาผสมโรงในบางส่วน โดยในครั้งนั้น ความก้าวหน้าของวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคยังไม่ได้อยู่ในจุดที่บอกกับธนาคารกลางว่า การลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ จะเป็นยาแก้วิกฤตดังกล่าวได้ โดยในความเป็นจริง ทางการสหรัฐในช่วงเวลานั้น ไมได้ใช้นโยบายที่ถูกทางในการแก้วิกฤตดังกล่าว จึงมีส่วนส่งผลให้วิกฤตในครั้งนั้นลากยาวกว่าที่ควรจะเป็น

สำหรับวิกฤติซับไพร์มปี 2008 นั้น เป็นเหตุการณ์ที่มาจากการที่เกือบจะพังลงของตลาดการเงินทั่วโลก ด้วยการที่ตราสาร Securitizationในสหรัฐฯ ซึ่งใช้หลักทรัพย์อ้างอิงอย่างสินเชื่อบ้านประเภทซับไพร์ม ที่แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้จ่ายเงินงวดให้กับสถาบันการเงิน ทว่าบรรดาสถาบันจัดอันดับเครดิตกลับให้อันดับเครดิตกับตราสารดังกล่าวเป็นอันดับ AAA ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ทางผู้ถือตราสารทางการเงินดังกล่าว จะมาไถ่ถอนรับเงินต้นคืน ธนาคารกลางขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ กลับไม่สามารถหาเงินมาจ่ายต่อผู้ถือตราสารดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีเงินจากหลักทรัพย์อ้างอิงเข้ามาจริง จึงทำให้สถาบันการเงินดังกล่าวไม่มีสภาพคล่อง จนเมื่อตนเองถึงคิวต้องเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินให้กับคู่ค้าของสัญญา Swap ก็ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ โดยเป็นแบบนี้ เรื่อยไปกับสถาบันการเงินอื่นๆจนเกือบทั้งระบบ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงเข้ามาเป็นผู้หาสภาพคล่องให้ด้วยเม็ดเงินกู้ว่าจะเป็นโครงการ TALF หรือ การทำ QE1 ถึง 3 จนสามารถหลุดจากวิกฤตสภาพคล่องในตลาดเงินดังกล่าวออกมาได้ ทว่าก็ต้องใช้เวลากว่า 5 ปีในการทำ QE เพื่อให้เศรษฐกิจมีความแข็งแรงที่พอจะยืนด้วยขาตนเองได้

มาถึงในครั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 ถือว่าเป็นส่วนผสมของวิกฤติ 2 ครั้งก่อนคือ วิกฤติที่มาจากความตกต่ำเป็นอย่างมากในส่วนอุปสงค์ของเศรษฐกิจ กับ วิกฤตสภาพคล่องอย่างหนักในตลาดเงิน พร้อมกับปัจจัยเสี่ยงใหม่เอี่ยม ซึ่งได้แก่ การตกต่ำในส่วนของอุปทานหรือ Supply Shock เนื่องจากรากปัญหามาจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนมีน้อยลงด้วยความกังวลถึงอันตรายต่อชีวิตของตนเองซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบถึงอุปสงค์ของสินค้าและบริการที่น้อยลง รวมถึงตลาดการเงินที่ผู้ออกตราสารทางการเงินจะถูกลดอันดับเครดิต อีกทั้งบริษัทขนาดกลางและเล็กจะมีแนวโน้มขาดสภาพคล่องจากการที่มีสายป่านไม่ยาว ยังมีผลต่อ Supply Chain ในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งในยุคปัจจุบัน ต้องใช้ระบบ Logistics ที่หากจุดใดจุดหนึ่งของห่วงโซ่ดังกล่าวขาดหายไป จะทำให้เกิดการขาดแคลนของสินค้าและบริการดังกล่าวในเกือบจะทันทีด้วยการที่ระบบการค้าในปัจจุบันเป็นแบบ Made-to-Order มากขึ้น หรือ เกิด Supply Shock ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งงานนี้ ธนาคารกลางไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาในจุดที่เป็นเศรษฐกิจจริงนี้ได้ ซึ่งต้องอาศัยวิธีทางการแพทย์ที่จะหาทางเอาชนะไวรัสโควิด-19 เท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จ

โดยไฮไลต์ของวิกฤติรอบนี้ มีลักษณะเด่นๆ ดังนี้

1. สถาบันการเงินนับต่อจากนี้ จะมีบทบาทมากขึ้นในการ Funding กิจกรรมของภาคเอกชนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและเล็กโดยในช่วงของการเกิดการระบาดโควิด-19 ผลประกอบการของบริษัทโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและเล็กจะย่ำแย่ลง ส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทเหล่านี้ยิ่งถูกลดอันดับให้แย่ลง จนกลายเป็นอันดับที่ไม่น่าลงทุน ซึ่งเนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นแหล่งการจ้างงานให้กับตลาดแรงงานค่อนข้างมาก ทำให้รัฐบาลต้องมอบหมายให้กับสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินใหม่แทนที่การหาแหล่งเงินทุนจากตลาดเงิน ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่เชื่อถือต่อบริษัทเหล่านี้อีกต่อไป โดยผมขอยกตัวอย่างจีน ที่ในวันนี้ นอกจากมาตรการลดต้นทุนทางการเงินและเสริมสภาพคล่อง ได้เน้นในการหาแหล่งเงินให้กับภาคธุรกิจและพื้นที่ซึ่งถูกกระทบจากโควิด-19

ธนาคารกลาง ไม่ใช่พระเอกที่สู้ ‘วิกฤตโควิค-19’

ที่มา: Mckinsey

2. ความรุนแรงและบายปลายของเหตุการณ์นี้ จะเป็นเช่นไร? โดยทาง CBO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ป้อนข้อมูลสำคัญให้กับการออกนโยบายด้านการคลังให้กับสหรัฐฯ ได้ใช้เหตุการณ์ของการระบาดของโรคครั้งรุนแรงในอดีตมาเป็นตุ๊กตา โดยแบ่งความรุนแรงออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีปานกลาง จะคล้ายกับช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดระหว่างปี 1957 ถึง 1968 ที่มีผู้ติดเชื้อโรคนี้ 75 ล้านคนในสหรัฐฯ และเสียชีวิต 1 แสนคน ซึ่งในครั้งนี้ คาดว่าจีดีพีของโลกจะลดลง 1% ทว่าการระบาดครั้งนี้ มิได้ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย

กรณีรุนแรง จะคล้ายกับโรคไข้หวัดสเปนในปี 1918 โดยมีผู้ติดเชื้อโรคนี้ 90 ล้านคน และเสียชีวิต 2 ล้านคน ซึ่งในครั้งนี้ หากเป็นไปในแนวนี้ คาดว่าจีดีพีของโลกจะลดลง 4.25% ในปีนี้และการระบาดครั้งนี้ จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ ทาง OECD ได้ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ น่าจะลดลงจากอัตราการเติบโตที่ 2.9% เหลือเพียงราว 1.5% จากโควิค-19

สำหรับในฝั่งธุรกิจควรจะเตรียมการแค่ไหนและอย่างไร? 

ทาง Mckinsey ได้แบ่งความรุนแรงของสถานการณ์ออกเป็น 3 ระดับ ดังรูป ได้แก่ หนึ่ง กรณีฟื้นตัวเร็ว (โอกาสน้อย) โดยโควิด-19 จะอยู่ในจุดสูงสุดช่วงท้ายไตรมาส 2 ปีนี้ โดยไม่ลุกลามไปยังแถบตะวันออกกลาง สอง กรณีฐาน โควิด-19 จะอยู่ในจุดสูงสุดช่วงท้ายไตรมาส 3 ปีนี้ โดยลุกลามไปยังแทบทุกภูมิภาค และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ทว่าการบินพาณิชย์จะเริ่มกลับมาได้ในช่วงดังกล่าว กรณีสาม กรณีแย่สุด ทุกอย่างเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างในช่วงปลายปี

ท้ายสุด ผมยังมองในแง่ดีว่าวงการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งของจีน อาจจะหายาที่นำมาใช้รักษาได้เร็วกว่าที่หลายคนคาด โดยผมมองว่าโคโรน่าไวรัส มีความน่ากลัวกว่าไวรัสในอดีต เพราะความที่เป็น RNA ซึ่งรหัสพันธุกรรมของมันมีความเป็นพลวัตมากกว่า DNA จึงยากต่อการจับทาง ทว่าด้วยความที่เป็นไวรัสที่มาในสไตล์หรือสายพันธุ์ที่เป็นการอัพเดตเวอร์ชั่น จึงน่าจะทำให้ทางการแพทย์มีองค์ความรู้เดิมในการนำมาต่อยอดหาทางในการเอาชนะมันได้ โดยที่อาจจะไม่ต้องใช้เวลามากเท่าไหร่นักอย่างที่คาดในการหาต้นตอและกำจัดมันครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649623

TSF2024