brexit-is-not-lehman01

หลายคนบอกว่า ยังโชคดีที่การออกจากยูโรของอังกฤษหรือ Brexit นั้นไม่สยองเท่ากับเหตุการณ์การล้มลงของเลห์แมน บราเดอร์สในช่วงวิกฤตซับไพร์ม ทว่าเมื่อพิจารณาให้ละเอียดแล้ว Brexit อาจจะถือว่าร้าวลึกกว่าเลห์แมน บราเดอร์ส ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.) ณ วันนี้ ยังไม่มีใครสามารถประเมินระดับความเสียหายสูงสุดของ Brexit

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การแยกตัวของประเทศในยุโรปอีกสักกี่ประเทศ หรือจะนำไปสู่การสลายตัวของยูโรหรือไม่ กระแสการกลัวคนต่างชาติมาแย่งงานทำจะนำไปสู่ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ไหม กระแสดังกล่าวจะทำให้นางมารีน เลอ เพน ที่หนุนการแยกตัวออกจากยูโรของฝรั่งเศส ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งฝรั่งเศสในปีหน้าหรือไม่ ยังไม่รวมถึงพรรคการเมืองในอีกหลายประเทศทั้งยุโรปและทวีปอื่นๆ ที่มีแนวคิดแยกตัวเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับต่างชาติที่จะได้รับอานิสงก์ของ Brexit ในครั้งนี้ ทำให้ระดับความเสียหายทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในครั้งนี้ถือได้ว่าประเมินยากมาก

2.) เหตุการณ์ Brexit จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลกไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี

ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าวิกฤตซับไพร์ม ที่ส่งผลกระทบต่อเฉพาะเศรษฐกิจ ทว่าทำให้ในมิติทางการเมืองระดับโลกมีความเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องช่วยกันป้องกันการล่มสลายของระบบการเงินโลก ทว่า Brexit ทำให้ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลงแบบยาวนานมากกว่า เริ่มจากการใช้เวลาที่อังกฤษกว่าจะแยกตัวจากยูโรจริงๆ ไปจนถึงการติดเชื้อการแยกตัวไปยังประเทศและภูมิภาคอื่นๆอีกที่น่าจะได้ผู้นำแนว Populist ขึ้นมาอีกหลายท่าน ซึ่งน่าจะใช้เวลานาน เนื่องจากการแก้ปัญหาทางการเมืองใช้เวลานานกว่าเศรษฐกิจ ดังตัวอย่างทั้งในและนอกประเทศของเรา ซ้ำร้าย รัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ยิ่งจะสามารถเข้ายึดครองประเทศที่อ่อนแอในยุโรปได้ง่ายกว่าเดิมอีก เนื่องจากอำนาจต่อรองที่ลดลงของยูโร

3.) เหตุการณ์ Brexit สร้างความปั่นป่วนเป็นระยะเวลายาวนานต่อสกุลเงินต่างๆของโลก

จะเห็นได้ว่าทั้งค่าเงินปอนด์ ยูโร และ เยน ผันผวนหนักมากในช่วงเวลา 1 สัปดาห์หลังจากเหตุการณ์ Brexit เราจะเห็นความผันผวนในลักษณะนี้ไปอีกนาน และระดับของความผันผวนจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นครั้งคราว เหตุผลคือวิกฤตในครั้งนี้ เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นต่อระบบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเงินระหว่างประเทศที่ได้รับการกระทบกระเทือนเข้าอย่างจัง โดยที่กว่าจะเรียกความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง ต้องใช้เวลายาวนานกว่าปัญหาอื่น

4.) ไม่มียาดีเหมือนช่วงวิกฤตซับไพร์ม

จะเห็นได้ว่าในรอบที่แล้ว มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE เสมือนยาดีที่ช่วงผ่อนคลายการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี จนข้ามมาถึงการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบซึ่งก็สามารถดันให้เศรษฐกิจยุโรปกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ทว่ารอบนี้ สำหรับ Brexit จะใช้ยาเดิมมาแก้คงจะไม่ได้ และคาดว่าคงไม่มียาตัวไหนมาแก้ได้แบบเบ็ดเสร็จด้วย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะปัญหาหรือผลกระทบที่ต่อเนื่องจาก Brexit มีความเป็นพลวัตมากกว่าวิกฤตรอบที่แล้ว

5.) Brexit ในครั้งนี้ ถือเป็น Zero Sum Game สำหรับเศรษฐกิจโลก

เนื่องจากเมื่ออังกฤษเสียผลประโยชน์ ก็จะมีผู้ได้รับประโยชน์แทน อาทิ ในวงการการเงิน เมืองดับลิน ของไอร์แลนด์ และ ลักเซมเบอร์ก จะมาแทนที่ลอนดอนในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน หรือว่า เยอรมันก็จะกลายเป็นประตูการค้าของจีนสู่ยุโรปแทนที่อังกฤษไป ดังนั้น มาตรการในการแก้วิกฤต Brexit จึงน่าจะไม่มีการร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจัง เหมือนช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นเกมที่ Win-Win ทุกคนได้รับประโยชน์หากรอดพ้นจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ สิ่งนี้ จะทำให้ Brexit ยิ่งฟื้นตัวจากไข้ได้ช้ากว่าวิกฤตเที่ยวก่อน นอกจากนี้ การเมืองในประเทศอังกฤษก็จะมีความไร้เสถียรภาพไปอีกยาวนาน

ท้ายสุด ไม่เหมือนวิกฤตรอบที่แล้วที่ธนาคารกลางเป็นพระเอก ในรอบนี้ ธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรปจะทำงานได้ยากขึ้น เนื่องจากเสถียรภาพของรัฐบาลอังกฤษและคณะกรรมการยูโรที่จะสั่นคลอนเป็นระยะๆ จนมีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่ต่อเนื่องของตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลาง ซึ่งหมายรวมถึงประธานธนาคารกลางสหรัฐที่จะทำงานได้ยากขึ้นหรืออาจไม่ได้ทำงานต่อ หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เกิดชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ ที่ตัวนายทรัมป์มีโอกาสมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากกระแส Brexit ในตอนนี้นี่เองครับ

ที่มาบทความ  : “มุมคิดมหภาค” : https://www.facebook.com/macroview/photos/a.148792935171409.39317.112992245418145/1186550078062351/?type=3&theater