brexit-boris-johnson

อย่างที่ผมเขียนไว้ในบทความ “6 Macro Moment” ปี 2016 ในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 มกราคม 2559

ว่าการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit จะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของ Macro Moment สำหรับปีนี้ โดยหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจให้วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันที่ประชาชนชาวอังกฤษจะลงประชามติว่าจะ Brexit หรือไม่ ทางนายบอริส จอห์นสัน ผู้ว่าราชการเมืองลอนดอน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนุรักษ์ที่เป็นรัฐบาลอยู่ในตอนนี้ ก็ประกาศสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแทบจะในทันที สวนทางกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษนายเดวิด คาเมรอน “เก่งใหญ่” ที่ประกาศมาแต่ไหนแต่ไรว่าต้องการสหราชอาณาจักรยังอยู่ในสหภาพยุโรป

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะสงสัยว่านายจอห์นสันจะหาเหตุผลใดมาจูงใจให้เกิด Brexit ได้ เมื่อผลประโยชน์ทางการค้าจากยุโรปที่มีมูลค่าสูงมากรออยู่ตรงหน้า แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักนายจอห์นสันให้มากกว่านี้กันสักหน่อย

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปเยือนประเทศอังกฤษ คงจะได้เห็นรถเมล์สีแดงสองชั้นและรถจักรยานสีฟ้ามากมายที่ล็อคอยู่ตามสวนสาธารณะต่างๆ โดยทั้งคู่เป็นผลงานของนายจอห์นสัน จนจักรยานสีฟ้าตามสวนสาธารณะได้มีชื่อเล่นที่เรียกกันว่า “Boris Bike” สิ่งที่ทำให้นายจอห์นสันกลายเป็นสีสันในวงการเมืองอังกฤษ ได้แก่ รูปร่างที่ออกจะอ้วนถ้วนและผมทอง แถมบุคลิกที่ดูเฟอะฟะ สังเกตได้จากการสะพายเป้ทว่าสวมสูทแล้วขับจักรยานคันจิ๋วไปทำงานทุกวัน

การเติบโตในเส้นทางการเมืองของนายจอห์นสัน ถือว่ามาแปลกกว่าท่านอื่นๆ โดยนายจอห์นสันเป็นนักข่าวและนักเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ The Times และ The Telegraph มากว่า 20 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ไต่เต้าจนได้เลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองลอนดอนเมื่อกว่า 6 ปีก่อน รวมทั้งยังเป็นนักเขียนให้กับนิตยสาร Spectator ที่หลายคนยังข้องใจว่าไปรับค่าจ้างกับสำนักพิมพ์นี้ในขณะที่เป็นผู้ว่าฯอยู่ด้วย สิ่งที่เป็นสีสันของนายจอห์นสันมีให้เห็นกันบ่อยมากไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือวัยรุ่นที่ขับจักรยานอยู่แล้วถูกรังแก หรือว่าจะเป็นการอัดเข้าใส่นักฟุตบอลชื่อดังของเยอรมันในแมทช์การแข่งขันรักบี้การกุศล ถ้าจะเปรียบง่ายๆ อาจจะมองได้ว่าบุคลิกของเขาคล้ายกับนักการเมืองบางท่านในบ้านเราที่เป็นสีสันของวงการเมือง ทำให้ประชาชนชาวอังกฤษคุ้นเคยกับนายจอห์นสันเป็นอย่างดี

โดยเหตุผลบางประการที่นายจอห์นสันใช้จูงใจชาวอังกฤษให้คล้อยตามการเกิด Brexit มีดังนี้

  1. การสูญเสียความเป็นอิสรภาพของอังกฤษในเชิงนโยบายต่างๆ โดยนายจอห์นสันชี้ให้เห็นถึงวิกฤติยูโรที่ผ่านมาว่าหากอังกฤษเข้าร่วมกับยูโรปแบบแนบแน่นกว่านี้ ก็จะต้องใช้เงินภาษีในการช่วยเหลือประเทศที่ทำตัวเป็นภาระ นอกจากนี้ ยังต้องมาแบกรับปัญหาการอพยพจากนอกประเทศอีกต่างหาก
  2. ประชาธิปไตยที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอังกฤษ จะต้องสูญเสียไป โดยนายจอห์นสันชี้ให้เห็นถึงกรีซที่ต้องทำตามสหภาพยุโรปทุกอย่าง ทั้งยังบอกว่าจะมีการรวมศูนย์ของสหภาพยุโรปไปสู่ศูนย์กลางไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง ทางสังคมและทางงบประมาณ ที่สหราชอาณาจักรจะต้องสูญความเป็นตัวของตัวเองไป
  3. ความมีอิทธิพลของสหราชอาณาจักรต่อนโยบายของตนเองและต่างชาติจะลดลงจากการที่อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรป เนื่องจากในคณะกรรมการสูงสุดของสหภาพยุโรปมีเสียงของชาวอังกฤษเพียงร้อยละ 4 ในขณะที่ประชาชนชาวอังกฤษมีอยู่ถึงร้อยละ 12 ซึ่งตรงนี้นายจอห์นสันใช้เป็นเหตุผลของการยืนยันว่าคนอังกฤษจะไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่
  4. ท้ายสุด การปลุกเลือดรักชาติ โดยนายจอห์นสันย้ำว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่สหภาพราชอาณาจักรจะเลือกทางที่ตนเองเป็นเอกราชจากยุโรป ขออนุญาตอ้างอิงประโยคจากนายจอห์นสันโดยตรง “This is a moment for Britain to be brave, to reach out – not to hug the skirts of Nurse in Brussels, and refer all decisions to someone else”

ต้องไม่ลืมว่า นายจอห์นสันเป็นนักหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนาน การพูดจาโน้มน้าวแนวรักชาติถือเป็นของชอบของเขาอยู่แล้ว แม้ว่าตลาดจะมองว่าสหราชอาณาจักรท้ายสุดแล้ว คงจะไม่ออกจากยุโรปในการทำประชามติในกลางปีนี้ แต่เมื่อนายจอห์นสันทุ่มทั้งตัวเพื่องานนี้แบบได้เสียเช่นนี้ ผมคิดว่าโอกาสที่ชาวอังกฤษจะหลงคารมของ “เก่งเล็ก” อย่างนายจอห์นสันมีอยู่ไม่น้อย แม้ว่าบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายสิบแห่งจะลงขันช่วย “เก่งใหญ่” ทำให้คะแนนเสียงของประชามติกลางปีนี้ คงจะไม่ห่างเหมือนตอนสก็อตแลนด์ขอประกาศตัวเป็นอิสระเมื่อปีกว่าๆ ที่แล้วเป็นแน่แท้ครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637082