นับถอยหลัง ‘เบร็กซิท’ ยุค Bojo

เมื่อสัปดาห์ก่อน บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ยื่นข้อเสนอ ‘เบรกซิท’ ฉบับใหม่ ต่อทางสหภาพยุโรป ให้ไปพิจารณา โดยให้ 2 ทางเลือก ดังนี้

1.ให้อังกฤษออกจากยุโรป โดยยกเลิก Backstop กับไอร์แลนด์เหนือ แล้วตั้งไอร์แลนด์เหนือให้เป็นพื้นที่ all-island regulatory zone ซึ่งส่งผลให้ไอร์แลนด์เหนือยังอยู่กับยุโรปต่อแบบถาวร ผ่านการโหวตของชาวไอร์แลนด์เหนือทุก 4 ปี ทั้งนี้ ภายใต้ข้อเสนอนี้ ไอร์แลนด์เหนือยังเป็นส่วนหนึ่งในแง่ของศุลกากรของอังกฤษ โดยหลังจากนี้ สภาไอร์แลนด์เหนือจะลงมติข้อเสนอของบอริส จอห์นสันนี้ต่อไป หรือ

2.เกิด ‘เบรกซิทแบบ No deal

ผมมองว่าจากนี้ เบรกซิทยุคบอริส จอห์นสัน หรือ Bojo จะดำเนินต่อไป ด้วยเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

หนึ่ง สุดสัปดาห์นี้ จะมีการประชุม Summit ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป เพื่อพิจารณาแพ็คเกจเบรกซิทของบอริส จอห์นสันดังกล่าวข้างต้น ว่าจะมีข้อใดที่ขัดแย้งกับระเบียบของสหภาพยุโรปปัจจุบันหรือไม่ ผมมองว่าท้ายสุดแล้ว สหภาพยุโรปน่าจะต่อรองให้อังกฤษยังต้องมีด่านตรวจศุลกากร ณ ชายแดนระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์ ทว่าอาจอนุโลมให้สามารถตั้งเป็นศูนย์กลางในอาคารที่เป็นการตรวจก่อนถึงชายแดน โดยให้มีกระบวนการที่ค่อนข้างกระชับเพื่อให้มีความยุ่งยากในการตรวจสอบน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของนายจอห์นสันในส่วนของไอร์แลนด์เหนือ ผมมองว่าทางสหภาพยุโรปก็มิได้ขัดข้องประการใด ทว่าให้เป็นหน้าที่ของศาลในการตีความทางกฎหมายว่าด้วย Irish Backstop ต่อ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างทั้งคู่

สอง ช่วงท้ายสัปดาห์นี้ ประเด็นหลักที่จะเป็นที่ถกเถียงระหว่างรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจอห์นสันกับฝ่ายค้าน คือกฎหมายที่ได้ผ่านสภาเมื่อเดือนที่แล้วหรือ Benn Act ซึ่งระบุให้ต้องมีการตกลงเบรกซิทระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปให้ได้ก่อนวันที่ 19 ต.ค. หากไม่เป็นเช่นนั้น รัฐบาลอังกฤษต้องเสนอให้มีการขยายเวลาเส้นตายเบรกซิทออกไปจากวันที่ 31 ต.ค.นี้ ในทันที ตรงนี้ ผมมองว่าทางรัฐบาลอังกฤษจะต้องขอเสนอสภาให้อะลุ้มอล่วยต่อเส้นตายนี้ โดยจะให้มีการเจรจาระหว่างอังกฤษกับยุโรปจนถึงวันที่ 29-30 ต.ค.นี้ ก่อนที่จะนำข้อตกลงดังกล่าวมาให้สภาอังกฤษโหวตผ่านอีกครั้ง ซึ่งจุดนี้ น่าจะสามารถทำได้

สาม ผลลัพธ์ของเบรกซิทยุค Bojo น่าจะออกมาได้ 2 หน้า คือ ทางสหภาพยุโรปยอมให้ข้อเสนอของนายจอห์นสันผ่านแบบที่เติมความยุ่งยากในส่วนของชายแดนไอร์แลนด์เหนือ รวมถึงโยนความเสี่ยงในการตีความทางกฎหมายของ Irish Backstop ให้ทางศาลไปพิจารณา ซึ่งตรงนี้ ก็ถึงเวลาที่จะวัดใจว่าสภาอังกฤษจะเล่นด้วยกับข้อตกลงที่อังกฤษต้องรับความเสี่ยงนี้ไหม ผมมองว่า โอกาสจะออกแบบหน้าที่สภาอังกฤษไม่โหวตให้ผ่าน มีมากกว่าหน้าที่จะยอมให้โหวตผ่านอยู่เล็กน้อย

สี่ ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก คือ จะมีสมาชิกสภาที่จะเสนอวาระการชะลอเส้นตายเบรกซิทอีกรอบไหม ในนาทีสุดท้ายก่อนวันที่ 31 ตุลาคมนี้หรือไม่? หากไม่มี นั่นหมายถึงการเกิด No deal ของเบรกซิท หรือหากมีการโหวตให้ยืดเส้นตายเบรกซิทออกไป นายจอห์นสันจะโหวตให้ผ่านหรือไม่ เพราะหากไม่ คำถามต่อไป คือใครจะเป็นผู้ที่จะเจรจากับยุโรปต่อหลังจากนี้ ตรงนี้ จะกลายเป็นเกิด ‘ทางตัน’ ของเบรกซิทโดยทันที ซึ่งหนีไม่พ้นต้องมีการเลือกตั้งใหญ่ในทันทีเช่นกัน

ห้า ใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากสถานการณ์ทั้งสองหน้านี้ โดยหากเกิดเบรกซิทแบบ No deal แน่นอนว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะเติบโตช้าลงจากความติดขัดในการส่งออกและนำเข้าสินค้า เนื่องจากความโดดเดี่ยวของอังกฤษที่ออกจากยุโรปและประชาคมโลก ทว่านายจอห์นสันก็จะโยนความผิดนี้ให้กับฝ่ายค้านที่ไม่ยอมผ่านข้อเสนอที่เขาไปตกลงกับยุโรปไว้แล้ว ในทางกลับกัน ฝ่ายค้านก็จะโจมตีว่าข้อตกลงที่นายจอห์นสันไปตกลงกับยุโรปมานั้น มีแต่จะทำให้อังกฤษต้องรับความเสี่ยงจากการตีความของศาลในประเด็น Irish Backstop ต่อไป ซึ่งผมมองว่า แม้ทั้งคู่ไม่ได้มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบต่อกันมากสักเท่าไหร่ ทว่านายจอห์นสันน่าจะได้คะแนนจากชาวอังกฤษมากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากนายจอห์นสันจะสามารถเคลมว่าเขาได้เอาข้อเสนอที่ดีที่สุดมาให้สภาอังกฤษ ทว่าสภากลับไม่ยอมรับเอง

ในทางกลับกัน หากเบรกซิทจบด้วยการยืดเส้นตายเบรกซิท และเกิดการเลือกตั้งทันทีจากการเกิดทางตันของเบรกซิทดังที่ว่า ผมมองว่านายจอห์นสันน่าจะเสียเปรียบเล็กน้อย เนื่องจากแม้จะถือว่านายจอห์นสันได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว ในขณะที่เขาก็ไม่ยอมให้เกิดการขยายเวลาการออกจากอังกฤษจากยุโรปตามที่ได้ประกาศก่อนหน้านั้น ทว่าฝ่ายค้านที่เสนอวาระการยืดเส้นตายเบรกซิท ถือเป็นผู้ช่วยให้เศรษฐกิจอังกฤษไม่ต้องเติบโตช้าลงและสูญเสียความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกด้วย

เหลืออีกเพียง 2 สัปดาห์สำหรับเส้นตายเบรกซิทในรอบนี้ ลองดูว่า ’เบรกซิท’ จะเป็นไปตามที่ผมคาดหรือไม่ประการใด ทั้งนี้ ผมมองว่าเราน่าจะได้เห็นการเลือกตั้งใหญ่อังกฤษเกิดขึ้นในเร็ววัน ไม่ว่าผลลัพธ์ของเบรกซิทจะออกมาในรูปแบบใดก็ตามครับ

ณ ตอนนี้ ผมมองว่าเบรกซิทน่าจะจบด้วยการประชุมสภาของอังกฤษว่าจะเอาด้วยกับข้อตกลงที่บอริส น่าจะตกลงกับทางอียูได้ทันก่อนวันที่ 31 ต.ค.นี้

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648506

TSF2024