หากใครยังจำการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1982 และ 1986 ได้
ทีมชาติบราซิลที่เป็นเต็งหนึ่ง ต้องร่วงตกรอบในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ด้วยฝีมือของทีมอิตาลีและฝรั่งเศส ด้วยการเล่นเกมแบบอินดี้บุกแหลกสไตล์แซมบ้า โดยทรัพยากรผู้เล่นของทีมบราซิลนั้น มีแบบที่เหนือชั้นกว่าทั้งอิตาลีและฝรั่งเศสแบบทิ้งห่าง ทว่าการที่เล่นแบบเอาใจตัวเอง มิได้มุ่งเอาผลการแข่งขัน จึงทำให้ตกรอบแบบน่าเสียดาย
ย้อนมาดูเศรษฐกิจบราซิลในวันนี้ แทบไม่ต่างจากทีมชาติฟุตบอลบราซิลในยุค 80 จะเห็นได้ว่าประเทศบราซิลที่มีขนาดพื้นที่และประชากรที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาใต้นั้น อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้อย่างไรก็ไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซ สินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นอ้อยและถั่วเหลืองที่ติดระดับท็อปของโลก ป่าอะเมซอน หรือแม้แต่เหมืองแร่ต่างๆ ทว่าเศรษฐกิจบราซิลก็ยังไม่สามารถที่จะพัฒนาไปได้ในระดับที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ลองมาย้อนดูกันว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ก่อนอื่นต้องมาเข้าใจว่าบราซิลนั้น มีวัฒนธรรมที่ชอบความสบายๆ ไม่ได้มีวินัยอย่างเคร่งครัดในการทำอะไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีจะเห็นได้จากทีมชาติฟุตบอลบราซิลจะออกมาทางอินดี้ ซึ่งแตกต่างจากทีมชาติเยอรมันที่มีระเบียบวินัยและความไม่ยอมแพ้ โดยคล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่บราซิลมีปัญหาคอร์รัปชั่น อาชญากรรม ความขัดแย้งอย่างฝังลึกในทางการเมือง และการขาดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศให้มีทิศทางการพัฒนาที่เป็นรูปแบบในระยะยาว
แจร์ บอร์ซาเนโร่ ประธานาธิบดีบราซิล ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเมื่อต้นปีนี้ หลังจากรัฐบาลชุดที่แล้วภายใต้การนำของอดีตผู้นำมิเชล เทเมอร์ ที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นแบบโจ่งครึ่ม จนถูกโค่นอำนาจจากพลังประชาชน นายบอร์ซาเนโร่ เริ่มต้นเหมือนกับว่าจะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เข้าสู่การถดถอยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว รวมถึงมีการโยกย้ายเงินทุนออกจากบราซิลของต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแต่งตั้งนายเปาโล กุยเดส นักเศรษฐศาสตร์ที่จบจากม.ชิคาโก ให้เป็น รมว.คลัง และ นายโรเบิร์ตโต คัมโปส เนโต้ ขึ้นเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางบราซิล ทั้งนี้ นโยบายหลักที่ทั้งคู่ประกาศว่าจะทำ คือการลดภาระหนี้ของประเทศที่รัฐบาลต้องแบกรับจากภาระเงินประกันสังคม งบประมาณที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ จะแก้ปัญหาที่จีดีพีของบราซิลที่เติบโตต่ำมากจนถึงหดตัวในบางไตรมาส และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ทว่าเมื่อนายบอร์ซาเนโร่ทำการบริหารประเทศผ่านไปเกือบ 1 ปี กลับพบว่าแทนที่จะมุ่งเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ นายบอร์ซาเนโร่กลับสร้างแต่เรื่องที่ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของประเทศ
เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี ที่ผู้นำบราซิลสนับสนุนการแก้กฎหมายให้ประชาชนสามารถมีอาวุธปืนอยู่ในครอบครองง่ายขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการป้องกันตัวของประชาชนที่ต้องประสบกับปัญหาอาชญากรรม ถัดมาช่วงกลางปี ก็ได้กล่าวเหน็บแนมภรรยาของนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ว่ามีหน้าตาขี้เหร่ เพื่อตอบโต้กับการที่ผู้นำฝรั่งเศสโจมตีบราซิลว่าไม่ดูแลการเผาทำลายป่าอเมซอนได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ล่าสุด นายบอร์ซาเนโร่เพิ่งออกอาการเบรกแตกในการให้สัมภาษณ์สื่อผ่านโซเชียลมีเดีย
แม้รัฐบาลบราซิลจะสามารถผ่านกฎหมายบำนาญหรือ Pension Reform เมื่อเดือนที่แล้ว โดยสามารถลดภาระงบประมาณการคลังของรัฐบาลที่ต้องจ่ายให้กับกองทุนประกันสังคมถึงร้อยละ 60 ของงบประมาณประจำปีทั้งหมด ทว่ารายจ่ายที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจก็ยังเป็นจุดถ่วงของภาระงบประมาณ ที่เริ่มเกิดการประท้วงต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจดังกล่าวในกรุงริโอ เดอ จาร์เนโร ในบางจุด
รูปที่ 1 อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อของบราซิล
รูปที่ 2: ค่าเงินริโอของบราซิลเทียบกับดอลลาร์
แม้ว่า นายเนโต้ ผู้ว่าแบงก์ชาติบราซิล ที่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่องจากระดับร้อยละ 14 มาอยู่ที่ร้อยละ 5 จะสามารถลดค่าเงินเฮอัลให้อ่อนค่าลงมากว่าร้อยละ 40 ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ดังรูปที่ 1 และ 2 ส่งผลให้จีดีพีบราซิลยังสามารถเติบโตเป็นบวก 1% ในปีนี้ และ 2% ในปีหน้า และเงินทุนต่างประเทศกลับมาไหลเข้าอีกครั้ง รวมถึงตลาดหุ้น Bovespa ขึ้นมาถึงร้อยละ 20 นับจากต้นปี ส่งผลให้จีดีพีบราซิลยังสามารถเติบโตเป็นบวก 1% ในปีนี้ และ 2% ในปีหน้า และเงินทุนต่างประเทศกลับมาไหลเข้าอีกครั้ง รวมถึงตลาดหุ้น Bovespa ขึ้นมาถึงร้อยละ 20 นับจากต้นปี
ทว่าเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศเก็บ tariff เหล็กและอลูมิเนียมต่ออาร์เจนตินาและบราซิลเพิ่มแบบสายฟ้าแลบ ด้วยข้อหาทำค่าเงินอ่อนตัวเองอ่อนเกินทำเกษตรกรสหรัฐเสียประโยชน์
จะเห็นได้ว่านายบอร์ซาเนโร่ เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเกือบปี เมื่อทีมงานของเขาเริ่มที่จะมาถูกทางกับการแก้ปัญหาของเศรษฐกิจ ก็ดูเหมือนว่าอาจจะสายเกินไป เมื่อทรัมป์เริ่มที่จะหันหัวการเล่นงานจากจีน เบนเข็มเปลี่ยนเป้าหมายมาที่ประเทศที่เล็กกว่า เพื่อประวิงเวลากับศึกใหญ่กับจีนไปจนถึงจังหวะที่เหมาะสม
รูปที่ 3: ภาระหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีของบราซิล
ซ้ำร้าย ศาลบราซิลยังตัดสินให้ปล่อยตัวอดีตประธานาธิบดีบราซิล ลูลาร์ ดา ซิลวา จากคดีคอร์รัปชั่น ที่ครองอำนาจกว่า 8 ปี ยิ่งจะทำให้การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นทั่วประเทศในปีหน้า จะต้องพบกับพรรค PT หัวฝ่ายซ้ายของนายซิลวาเพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดภาระหนี้ของภาครัฐดังรูปที่ 3 ต้องชะลอออกไปเนื่องจากจะกระทบต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีหน้า
โดยภาพรวม แม้บราซิลดูแล้วมีทรัพยากรและศักยภาพการเติบโตอีกมาก ทว่าในปีหน้า ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงในแง่ของการลงทุนด้วยความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีสูงขึ้นครับ
MacroView
ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648925