บอริส จอห์นสัน: ฝ่าดง ‘เบรกซิท’?

เหมือนฟ้าจะได้ลิขิตไว้ ใครจะคิดว่าคนที่ครั้งหนึ่งถูกผู้ใหญ่ในพรรคอนุรักษ์นิยมเชิญให้หลบไปอยู่หลังฉาก จากข่าวคราวชู้สาว เมื่อ 10 ปีก่อน

จะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ของอังกฤษ มารู้จัก ‘บอริส จอห์นสัน’ นายกฯใหม่ถอดด้ามของอังกฤษ เพิ่มเติมกันสักนิดกันก่อน

หนุ่มร่างท้วมผมกระเซิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของเมืองผู้ดี เขามีนามว่า บอริส จอหน์สัน

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปเยือนประเทศอังกฤษ คงจะได้เห็นรถเมล์สีแดง 2 ชั้น และรถจักรยานสีฟ้ามากมายที่ล็อคอยู่ตามสวนสาธารณะต่างๆ โดยทั้งคู่เป็นผลงานของนายจอห์นสัน จนจักรยานสีฟ้าตามสวนสาธารณะได้มีชื่อเล่นที่เรียกกันว่า “Boris Bike”

สิ่งที่ทำให้นายจอห์นสันกลายเป็นสีสันในวงการเมืองอังกฤษ ได้แก่ รูปร่างที่ออกจะอ้วนถ้วนและผมทอง แถมบุคลิกที่ดูเฟอะฟะ สังเกตได้จากการสะพายเป้ ทว่าสวมสูทแล้วปั่นจักรยานคันจิ๋วไปทำงานทุกวัน

ทั้งนี้ การเติบโตในเส้นทางการเมืองของนายจอห์นสัน ถือว่ามาแปลกกว่าท่านอื่นๆ แม้ตัวบอริสจะจบ High school ที่อีตัน และจบปริญญาตรีที่ออกซ์ฟอร์ด ตามเส้นทางของนายกฯ อังกฤษท่านก่อนๆ นับสิบท่านก็ตาม

โดยตั้งต้นการทำงาน นายจอห์นสันเป็นนักข่าวและนักเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ The Times และ The Telegraph มากว่า 20 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ไต่เต้าจนได้เลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองลอนดอนเมื่อกว่า 6 ปีก่อน รวมทั้งยังเป็นนักเขียนให้กับนิตยสาร Spectator ที่หลายคนยังข้องใจว่าไปรับค่าจ้างกับสำนักพิมพ์นี้ในขณะที่เป็นผู้ว่าฯ อยู่ด้วย

สิ่งที่เป็นสีสันของนายจอห์นสันมีให้เห็นกันบ่อยมากไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือวัยรุ่นที่ปั่นจักรยานอยู่แล้วถูกรังแก หรือว่าจะเป็นการอัดเข้าใส่นักฟุตบอลชื่อดังของเยอรมันในแมทช์การแข่งขันรักบี้การกุศล

ถ้าจะเปรียบง่ายๆ อาจจะมองได้ว่าบุคลิกของเขาคล้ายกับนักการเมืองบางท่านในบ้านเราที่เป็นสีสันของวงการเมือง ทำให้ประชาชนชาวอังกฤษคุ้นเคยกับนายจอห์นสันเป็นอย่างดี

แม้การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสัปดาห์นี้ จะมีเสียงในสภาที่มากกว่าฝ่ายค้านแค่ปริ่มน้ำเพียง 2 เสียง และถูกคาดหวังไว้ค่อนข้างต่ำในการนำพาอังกฤษฝ่าเส้นตายออกจากยุโรปหรือ Brexit ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ทว่านายกฯ ใหม่อย่าง บอริส จอห์นสัน เมื่อเทียบฟอร์มกับอดีตนายกฯ  เทเรซ่า เมย์ ก็พบจุดที่แตกต่างที่น่าสนใจ และดูแล้วน่าจะเป็นผลดีในบางมิติต่อนายจอหันสัน ดังนี้

1.นายจอห์นสัน ดูกล้าที่จะเล่นเกมบลัฟฟ์กับอียูมากกว่านางเมย์ ด้วยออปชั่นขู่ด้วยสถานการณ์ No deal ถึงขนาดที่ไมเคิล โกฟ หัวหน้าผู้ดูแลการเจรจาด้าน Brexit กับอียู บอกให้ทำใจไปก่อนว่าอังกฤษต้องเจอ No deal เป็นกรณีฐานหรือ Base case ด้วยความที่จอห์นสันและโกฟเป็นแนวพรรคมาร อียูคงจะคาดว่าทั้งคู่กล้าพอที่จะให้ No deal เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่ล้อเล่น รวมถึงน่าจะมีโอกาสไม่น้อยที่จะใช้แทคติคจอมพลิ้วผ่านร่าง Brexit ฉบับที่ไม่แตกต่างจากนางเมย์นัก ต่อสภา Commons อังกฤษได้

ที่สำคัญ การแต่งตั้งโดมินิค คัมมินส์ เป็นที่ปรึกษานายกฯ จะช่วยให้การเจรจาในระดับปฏิบัติการกับอียูทำได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากในการทำประชามติ Brexit ปี 2016 เขาร่วมกับนายโกฟสามารถพาฝั่ง Leave จากอียูชนะฝั่ง Remain ด้วยการรณรงค์ภายใต้สโลแกน take back control ทำให้เกิด Brexit จริงๆ

2.นายจอห์นสัน อาจดูเฟอะฟะ แต่เขาเป็นนักรณรงค์การเลือกตั้งตัวยง ไม่เคยแพ้ในศึกชิงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองลอนดอนถึง 2 ครั้ง ดังนั้น หากอียูเกิดคุย Brexit กับรัฐบาลอังกฤษไม่ลงตัว จอห์นสันอาจจะตัดสินใจประกาศการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนเส้นตาย 31 ต.ค.2019 เพื่อให้อำนาจการต่อรองจากเสียงสมาชิกที่มีมากขึ้น ที่สำคัญ เขามองว่าจะสามารถชนะเจเรมี โคบิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ได้แน่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

3.นายโกฟ ดูจะเป็นผู้เจรจาที่มีชั่วโมงบินสูง น่าจะทำให้ไม่เสียเปรียบฝั่งยุโรป อีกทั้ง โดมินิค แรบ และพริทิ พาเทล ในฐานะ รมว.ต่างประเทศและมหาดไทย ตามลำดับ รวมกันทั้งทีมดูแล้วน่าจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแนวทาง hardliner ในเชิง Brexit มากกว่าสมัยนางเมย์

4.แรงหนุนต่างประเทศอยู่ในระดับที่ดีกว่ายุคเมย์ ทั้งจากโดนัลด์ ทรัมป์ ที่การใช้นโยบาย tariff ต่ออังกฤษมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำ อย่างน้อยก็ในช่วงต้นๆ นอกจากนี้ จอห์นสันก็ถือว่ามีความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีต่อจีนมิใช่น้อย ยักษ์ใหญ่แดนมังกรก็เป็นแรงช่วยอีกทางหนึ่ง โดยหากอังกฤษจะออกจากยุโรปแบบ No deal ในยุคจอห์นสัน สถานการณ์ตอนนี้ดูแล้วน่าจะถือว่าซีเรียสน้อยกว่าสมัยนางเมย์ เพราะสหรัฐและจีนดูมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจอห์นสันมากกว่าเมย์ในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่าภาพลักษณ์ความเป็น Globalist ของจอห์นสันในบางมุม อีกทั้งทรัมป์ยังเสนอให้เงื่อนไขทางการค้าที่ดีต่ออังกฤษ แต่ต้องบอกว่า เป็นเพียงแค่พูดคุยกันก่อนที่จอห์นสันจะได้เป็นนายกฯ อังกฤษ

ท้ายสุด จอห์นสันต้องวางตำแหน่งของท่าทีต่อกรณี Brexit ให้เหมาะสม โดยต้องไม่ฝืนหรือดื้อดึงต่ออียูตามที่เคยประกาศไว้ต่อสภาในวันเข้ารับตำแหน่งว่า ‘no ifs and buts’ ต่อการเจรจา Brexit เนื่องจากสมาชิกสายกระแสหลักเดิมของพรรค Tory ของตนเองไม่เอาด้วยแน่ ในขณะที่จะยอมให้อียูเยอะๆ ก็ไม่ดีเช่นกัน เนื่องจากคงไม่ถูกใจฝั่งพรรค Brexit ของไนเจล ฟาราจ ที่ถือว่ามาแรงในช่วงหลัง รวมถึงพรรคทางเลือกอย่าง Lib Dem ซึ่งตรงนี้นายจอห์นสันเองคงต้องหาสมดุลให้เหมาะเจาะ ซึ่งที่ผ่านมา นางเมย์ถือว่าทำได้ไม่ดีมากนัก

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ตัดสถานการณ์ที่นายจอห์นสันล้มไม่เป็นท่าจาก Brexit เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเด็น Irish Backstop ที่คาใจชาวอังกฤษส่วนใหญ่ ซึ่งมีความเห็นต่างจากยุโรปค่อนข้างมาก (อ่านเพิ่มเติมใน ‘มุมคิดธนกิจ’ ฉบับ 18 มกราคม 2562)

โดยสรุป ด้วยเงื่อนไขที่ล่อแหลมของนายจอห์นสันต่อการล้มกระดาน Brexit จึงมีโอกาสมากกว่าครึ่ง ที่จะเกิดเลือกตั้งใหญ่ในอังกฤษก่อนสิ้นปีนี้ครับ

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647880

TSF2024