macroview-boj-2017

หากจะถามว่าธนาคารกลางหลักแห่งใดในตอนนี้ ที่อยู่ในภาวะที่ไม่รู้จะไปทางไหนต่อดีมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ ที่นับตั้งแต่เดือนก.ย. ปีที่แล้ว ที่ออกแพ็คเกจนโยบายการเงินด้วยการผสมเครื่องมือระหว่าง QE กับ Operation Twists ของธนาคารกลางสหรัฐ ภายใต้ชื่อใหม่ว่า การควบคุมเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ย (Yield curve control) โดยจะเน้นการลดลงของทั้งอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว และอีกหลายมาตรการทางการเงินข้างเคียง ก็ได้หยุดออกมาตรการรอบใหม่มาหลายเดือน ล่าสุดเซียนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมือหนึ่งของโลกอย่าง เบน เบอร์นันเก้ เลยออกโรงมาแนะนำธนาคารกลางญี่ปุ่นไว้ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. BOJ ไม่ควรจะหยุดโฟกัสวัตถุประสงค์ที่จะรักษาอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย เนื่องจากการที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงขึ้นจะส่งเสริมให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นและเพิ่มภูมิต้านทานในการต่อสู้กับการถดถอยของเศรษฐกิจในอนาคต
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะต้องยอมรับว่าสิ่งที่ฉุดรั้งความสามารถของรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ไม่สามารถต่อสู้กับความเสี่ยง จากการถดถอยทางเศรษฐกิจในอนาคต ได้ดีเหมือนกับประเทศหลักอื่นๆ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่มีสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทำให้ภาระการจ่ายดอกเบี้ยต่อผู้ถือพันธบัตรกัดกินความสามารถ และความคล่องตัวในการใช้นโยบายการคลังให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ด้วยการยึดมั่นกับนโยบายอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย หาก BOJ สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% เริ่มตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป จะสามารถลดภาระหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประมาณ 21% ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสถานะการคลังของญี่ปุ่นเป็นอันมาก ซึ่งในขณะนี้ อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีของรัฐบาลญี่ปุ่นมีอยู่กว่า 200%

2. หากสังเกตให้ดี เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเศรษฐกิจญี่ปุ่นกับสหรัฐ จะพบว่าธนาคารกลางสหรัฐใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ร่วมกับอัตราดอกเบี้ยที่ 0% หรือ Zero Bound Interest Rate ราวๆ 4-5 ปีก็สามารถกระชากเศรษฐกิจสหรัฐให้ออกจากจุดต่ำสุดได้ดีในระดับหนึ่ง ผิดกับฝั่งญี่ปุ่นที่ BOJ ซึ่งใช้มาตรการสารพัดอย่างไม่ว่าจะเป็น QE ก็ดี อัตราดอกเบี้ยติดลบ หรือ Yield curve control ก็ยังไม่มีท่าทีว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหลุดออกจากหุบเหวได้เสียที จึงเป็นไปได้ว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองหรืออาจจะเป็นเพราะมาตรการเดิมของ BOJ ที่เคยทำมากลับมาส่งผลกระทบต่อมาตรการในปัจจุบัน ที่ทำให้ BOJ ไม่สามารถกล่อมเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้อยู่หมัดได้เสียที ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของ BOJ

นักวิชาการฝั่งตะวันตก มองว่าอาจจะมีอย่างน้อย 2 สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นเช่นนั้น หนึ่ง สิ่งที่นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เรียกว่า secular stagnation ที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีค่าติดลบอยู่เยอะพอควรอาจจะถึง -4% ด้วยซ้ำ ทำให้ลดดอกเบี้ยหรือกระตุ้นทางการเงินอย่างไรก็ไม่ได้ผล รวมถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสินค้าทุนก็อยู่ในระดับต่ำมากๆ สาเหตุที่สองคือ การที่ระดับการออมที่ต้องการสูงมาก ในขณะที่ระดับความต้องการการลงทุนต่ำ ส่งผลให้ไปกดให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง เกิดสิ่งที่เรียกว่า global savings glut จนมีบางประเทศสะสมสำรองงินตราระหว่างประเทศไว้เยอะจนเกินไป โดยทั้งสองสาเหตุดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจาการที่ญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั่นเอง ทำให้ไปลดความต้องการของสินค้าและบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทุนซึ่งเป็นสินค้าถาวร

โดยหากเกิดเฉพาะ secular stagnation เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะแก้ไขโดยการสนับสนุนให้ชาวญี่ปุ่นไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงตลาดเกิดใหม่ เพื่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกและการเกินดุลทางการค้า ทว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ง่ายในยุคนี้ เนื่องจาก หนึ่งประเทศอื่นๆก็มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเช่นกัน และ สอง เทรนด์ของมาตรการกีดกันทางการค้าหรือ Protectionism ในโลกช่วงนี้ ทำให้การสนับสนุนให้เกิดการส่งออกสินค้าและบริการเพื่อผลักให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นทำได้ยาก ท้ายสุด การที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นชอบที่จะลงทุนในประเทศเพราะคุ้นเคยดีหรือมีลักษณะที่เรียกว่า home-bias ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นมีลิมิตในการอ่อนตัวเพื่อช่วยการส่งออก

อย่างไรก็ดี ใช่ว่า BOJ จะไม่มีทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ซื้อตราสาร ETF ของตราสารทุนหรือแทรกแซงด้วยการขายเงินเยนโดยตรง หรือการเพิ่มความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อของตลาด ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ BOJ สามารถทำได้ ทว่าสิ่งที่ยากสำหรับ BOJ ในตอนนี้ คือการเปลี่ยนความเชื่อของประชาชนชาวญี่ปุ่นว่าเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อได้เปลี่ยนโหมดไปจากเดิมแล้ว

3. ถามว่ายังมีมุกใหม่ๆที่ไม่เคยใช้ให้ BOJ เล่นอีกไหมในการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุกอัตราเงินเฟ้อ ในมุมนี้ นายเบอร์นันเก้ มองว่าการให้เกิดความผสมผสานระหว่างนโยบายการเงินและการคลังยังพอจะมาใช้เล่นได้ โดยให้ BOJ เพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายเป็นการชั่วคราวให้สูงแบบเว่อร์ อาทิ ที่ 3-4% เป็นการชั่วคราว เฉพาะในช่วงที่มีการกระตุ้นผ่านนโยบายการคลัง ทั้งลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ มุกใหม่นี้ จะทำให้เกิดอุปสงค์เพิ่มเติมที่ BOJ ต้องการ โดยที่ไม่กระเทือนสถาะการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่นและความเป็นอิสระของธนาคารกลางแต่อย่างใด

ผมคิดว่าลักษณะเฉพาะของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ทำให้เกิด Lost Decade มีมากกว่ามิติทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะทางมิติวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ส่วนมาตรการใหม่ที่เบอร์นันเก้แนะนำให้ BOJ ทำเพิ่มนั้น ก็อาจจะยังไม่ดีพอที่จะสามารถเอาเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มาไกลเหลือเกินแล้วให้อดหมักครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641455