ในการประชุม World Economic Forum เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เมืองดาวอส หรือ Davos 2020 ได้เกิดการปะทะคารมของคู่กัดต่างวัย
ระหว่าง รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเฟน มนูชิน กับ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัย 17 ปี นามว่า เกรธา ธันเบิร์ก โดยนายมนูชินได้ให้ความเห็นว่าการที่ธันเบิร์กพยายามรณรงค์ให้ชาวโลกลดการปล่อยควันพิษเข้าสู่บรรยากาศนั้น แท้จริงแล้ว เธอยังไม่เข้าใจถึงวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริง โดยแนะนำให้เธอเลิกทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมแล้วกลับไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในโรงเรียนน่าจะดีกว่า โดยเขามองว่าอนาคตในระยะยาวการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศยังมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังอาจมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ดีขึ้น การที่เริ่มมาตรการอย่างการตั้งราคาคาร์บอนหรือ Carbon pricing ในวันนี้ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
โดยนายมนูชินมองว่า เทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นสามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้
ก่อนที่ผมจะให้ความเห็นว่าความเชื่อของเขาถูกหรือไม่ จะขอพาท่านผู้อ่านมารู้จักแนวคิดล่าสุด กับการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ดังนี้
เริ่มจากคำว่าความเสี่ยงด้านกายภาพ หรือ Physical Risks หมายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอันตรายจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงกับสภาพที่อ่อนแอของมนุษย์และระบบธรรมชาติโดยใช้ความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน เป็นมาตรวัดจากความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ที่อากาศมีสภาพความแปรปรวนมากขึ้น
รวมถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของระดับปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งมูลค่าของตราสารทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์
คาดกันว่า ยังมีความเสี่ยงและความเสียหายดังกล่าว ที่ยังไม่ได้มีการทำประกันไว้ถึง 70% อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยภายใต้บรรยากาศที่ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดิน อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ได้ถูกต่อต้านจากกลุ่ม Green ไม่ให้ถูกนำขึ้นมาใช้ เนื่องด้วยจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จึงเกิดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้นี้ ที่เรียกกันว่า Stranded Asset ซึ่งส่วนของสินทรัพย์นี้ แม้จะเป็นสินทรัพย์ในงบดุลของบริษัทที่เป็นเจ้าของสัมปทาน ทว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ จนบางส่วนจะด้อยค่าลง รวมถึงอาจกลายเป็นส่วน Liabilities ในที่สุดเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลาย
โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว คาดว่าอาจมีมูลค่าถึง 1-15 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว โดยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือ Transition Risks คือความเสี่ยงที่เกิดจากการความเสียหายของเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรมจาก Stranded Asset ดังกล่าว
ทั้งนี้ หากเราไม่สนใจประเด็นปัญหาสภาวะโลกร้อนหรือ Climate Change ในตอนนี้ โดยเห็นว่าจะสามารถมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในอนาคตอันใกล้ในการจัดการปัญหาโลกร้อน โดยยอมให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 4 °C หรือกรณี Business-as-usual ดังเช่นกรณีด้านขวาดังรูป ในกรณีนี้ จะมีระดับความเสี่ยง Physical Risk อยู่สูง ขณะที่จะมีระดับความเสี่ยง Transition Risk ที่ต่ำ
ในทางกลับกัน หากเราเข้มกับปัญหาภาวะโลกร้อน จนยอมให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเพียง 1.5 °C หรือกรณี Rapid Transition ในกรณีนี้ จะมีระดับความเสี่ยง Physical Risk อยู่ต่ำ ในขณะที่จะมีระดับความเสี่ยง Transition Risk ที่สูง
ทั้งนี้ ความคิดของนายมนูชินตรงกับกรณี Business-as-usual ที่จะไม่จำกัดวงจำกัดของปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตโลกเราจะมีสิ่งแวดล้อมที่จะค่อยๆ แย่ลงไป และจะมีความเสี่ยงด้านกายภาพที่มีระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ งานศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ได้ศึกษาผลกระทบของภาวะที่โลกเราร้อนขึ้น 4 °C จะส่งผลต่อจีดีพีสหรัฐในเชิงลบระหว่าง 1.5% ถึง 5.6% ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
โดยแม้ว่างานศึกษาดังกล่าว จะกล่าวว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าวันนั้นจะมาถึง ทว่าความเห็นของนายมนูชินที่จะปล่อยให้เป็นปัญหาในอนาคตแล้วค่อยแก้ไขในตอนนั้น ก็ถือว่าน่าจะไม่ถูกต้อง
แล้วก็มาถึงศัพท์คำใหม่ที่ชื่อ Green Swan ซึ่งหมายถึง Black Swan หรือ เหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นแต่มาเกิดแบบฉับพลันและรุนแรง ซึ่งเรารู้จักกันดีจากหนังสือปี 2007 ของ นาซิม นิโคลัส ทาเลปในยุคที่เกิดจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ ดังนี้
1. ปฏิกิริยาระหว่าง Physical Risk และ Transition Risk ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดๆ หรือ Extreme Events แบบไม่เป็นเชิงเส้นหรือ Non-linearity โดยที่ข้อมูลในอดีตไม่สามารถนำมาคาดการณ์ Green Swan ได้
2. ระดับความเสียหาย อยู่ในระดับที่มากกว่าความเสียหายทางการเงินโดยอาจทำให้ถึงกับสูญเสียซึ่งมนุษยชาติได้
3. ความซับซ้อนของ Climate Change อยู่ในระดับที่เป็นทวีคูณทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ
โดยสรุป ผมมองว่า ปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนที่ประเด็นสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ครับ
MacroView
ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649386