ทำไม ‘งบ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์’ ของโจ ไบเดน ถึงโดน?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คงไม่มีข่าวใดดังเท่ากับการเปิดตัวของงบด้านสาธารณูปโภค มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 10 ปี จากโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ

หลังจากการเปิดตัวของงบประมาณด้านสาธารณูปโภคที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ก็มีเม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งที่เน้นทางด้านความช่วยเหลือทางสังคมมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์ที่จะประกาศในปลายเดือนนี้ โดยเสียงส่วนใหญ่ค่อนข้างชื่นชมกับโครงการนี้ ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ขออนุญาตเล่ารายละเอียดของโครงการนี้ให้ฟังกันโดยสังเขปก่อน

ทำไม ‘งบ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์’ ของโจ ไบเดน ถึงโดน?

หากพิจารณาในภาพใหญ่ จะพบว่าเซกเตอร์ที่ได้รับเม็ดเงินมากที่สุด จะพบว่าใกล้เคียงกันอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ ภาคครัวเรือน และ ภาคธุรกิจ โดยหากจะเลือกผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจริง ๆ ในรอบนี้ คงต้องมอบตำแหน่งให้กับภาคธุรกิจเนื่องจากมีขนาดของเซกเตอร์ที่เล็กกว่าภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ในส่วนของงบ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่ไบเดนสามารถผ่านสภาคองเกรสไปก่อนหน้านี้ ภาคครัวเรือนได้เม็ดเงินไปถึงร้อยละ 60 ของทั้งหมด ในขณะที่ภาคธุรกิจได้ไปเพียงร้อยละ 15 จึงทำให้สามารถสรุปได้ว่า หากพิจารณาโดยรวมทั้งหมด ภาคครัวเรือนได้เม็ดเงินไปมากที่สุดจากการกระตุ้นทั้ง 2 รอบ

ทำไม ‘งบ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์’ ของโจ ไบเดน ถึงโดน?

หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม จะพบว่า ภาคขนส่งได้ไปมากที่สุด ด้วยมูลค่า 6.21 แสนล้านดอลลาร์ หรือ ร้อยละ 28 ของทั้งหมด โดยที่ไฮไลต์อยู่ที่โครงการยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่โครงการการสร้างทางด่วน ถนน และสะพาน ได้ไป 1.15 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนที่เป็นโครงการขนส่งสาธารณะและโครงการทางรถไฟกับขนส่งมวลชน ได้ไปโครงการละประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนภาคโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยก็ได้รับไปด้วยมูลค่าใกล้เคียงกัน โดยงบราว 2.13 แสนล้านดอลลาร์ แจกให้กับโครงการสไตล์บ้านเอื้ออาทร ในขณะที่โครงการด้านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและโครงการด้านสายส่งไฟฟ้าระหว่างรัฐได้ไปโครงการละ 1 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนที่เป็นโครงการด้านน้ำดื่มสะอาดได้ไป 1.1 แสนล้านดอลลาร์

ท้ายสุด งบวิจัยและพัฒนาและงบด้านอุตสาหกรรมกับ SME ได้ไปประมาณโครงการละ 3 แสนล้านดอลลาร์ และส่วนที่ไว้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอีก 4 แสนล้านดอลลาร์

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนการเกลี่ยความช่วยเหลือระหว่างการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของสหรัฐ กับ การช่วยเหลือประชาชนและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ถือว่าสมดุลมาก รวมถึงหัวใจของงบครั้งนี้ คือการมองไปในระยะยาวมากกว่าการช่วยเหลือแบบระยะสั้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายฝ่ายชื่นชมกับโครงการนี้ แม้ว่าจะมีเสียงบ่นจากกลุ่มหัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตที่มองว่าเม็ดเงินต่อปี ดูจะน้อยไปหน่อยเนื่องจากโครงการนี้กินเวลาถึง 10 ปีก็ตาม

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หากพิจารณาในส่วนของการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้ ก็ยิ่งจะเห็นได้ว่าน่าสนใจ โดยไบเดนวางแผนไว้ว่าจะใช้เวลา 15 ปีในการจ่ายภาระหนี้ทั้งหมดของโครงการดังกล่าว ด้วยการขึ้นภาษีนิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28 นอกจากนี้ ยังมีการขึ้นภาษีจากกำไรที่ทำได้นอกประเทศแล้วโอนกลับมาในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐ รวมถึงการที่จะให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีขั้นต่ำอย่างน้อยร้อยละ 15 ของกำไร โดยที่จะเข้มงวดกับหมวดการลดหย่อนภาษีของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และผู้ที่มีรายได้สูง

จะเห็นได้ว่าการขึ้นภาษีของไบเดน ภาระโดยส่วนใหญ่ไปตกกับคนรวยมากกว่าชนชั้นกลาง นอกจากนี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เตรียมที่จะเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ (Minimum  Global Corporate Tax Rate) เพื่อไม่ให้มีการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือหรืออาวุธทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาแข่งขันหรือแย่งชิงความได้เปรียบจากการทำธุรกิจระหว่างกันและกัน

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังมองว่าภาคการเงินของสหรัฐดูจะเสียเปรียบภาคเศรษฐกิจจริง ในมิติของการได้รับความช่วยเหลือจากทางการ ณ นาทีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐเพิ่งจะหยุดการปล่อยกู้จากโครงการสินเชื่อสู้โควิดเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ซึ่งงบของไบเดนที่ประกาศออกมา ก็ไม่มีในส่วนของสถาบันการเงินแต่อย่างใด รวมถึงบรรษัทขนาดกลางและย่อมหรือ SME ก็ถือว่าได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ เพียง 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 5 ของงบทั้งหมด ซี่งถือว่าน้อยกว่าเพื่อน อีกทั้งงบ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ถึงมือ SME น้อยมากเช่นกัน ซึ่งจุดนี้ น่าจะเป็นข้อด้อยเพียงอย่างเดียวที่ผมเห็นในผลงานที่ถือว่าดีมากของโจ ไบเดน ในครั้งนี้

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/652351

TSF2024