ล่าสุด Aramco ได้ออก IPO หุ้นกู้ใหม่มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ปรากฎว่าตลาดมีความต้องการหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ 1 แสนล้านดอลลาร์
คำถามคือเหตุใด Aramco จึงดูน่าสนใจขนาดนั้น จึงขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ Aramco แห่งซาอุดิอาระเบีย
Aramco เป็นบริษัทที่ทำกำไรมากที่สุดในบรรดาบริษัทน้ำมันในโลก โดยทำกำไรมากสุด 111 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2018 และมีแผนที่จะ IPO เข้าตลาดหุ้น คาดว่าจะเป็นสหรัฐและฮ่องกงในปี 2021
แต่เดิมตั้งแต่ปี 1930 Aramco เป็นบริษัทของอเมริกัน ที่รับงานด้านวิศวกรรมและโครงการต่างๆให้กับรัฐบาลซาอุฯ โดยที่ไม่ได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน ทว่าได้สิทธิ์ในหลุมน้ำมันดิบบางส่วน โดยการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ ทำต่อเนื่องกันมาจนถึงกลางทศวรรษ 1980 ที่ Aramco กลายมาเป็นบริษัทสัญชาติซาอุฯเต็มรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ จะแลกในส่วนเครดิตด้านภาษีเป็นการตอบแทนต่อ Aramco แม้กระทั่ง จนถึงทุกวันนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายระหว่าง Aramco และรัฐบาลซาอุฯในหลายๆส่วน ก็ไม่ได้มีการบันทึกในงบการเงินของ Aramco แม้จะมีธุรกรรมระหว่างกัน นอกจากนี้ Aramco ยังทำหน้าที่บริหารศูนย์วิจัย และมหาวิทยาลัยให้กับรัฐบาล
อย่างไรก็ดี หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า Aramco ของซาอุฯ มีกำไรจากน้ำมันดิบต่อบาร์เรลสูงกว่าคู่แข่งในความเป็นจริงแล้ว Shell และ Total ทำกำไรต่อหนึ่งหน่วยน้ำมันดิบมากกว่า เนื่องจากค่าธรรมเนียมและภาษีที่รัฐบาลซาอุฯเก็บจาก Aramco มากกว่าคู่แข่ง ดังรูปที่ 1 แม้ว่า Aramco จะเป็นบริษัทน้ำมัน ที่ทำกำไรสูงสุดก็ตาม
คราวนี้ มาทำความรู้จักกับแหล่งน้ำมันตามธรรมชาติที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก ของซาอุฯกันบ้าง หลุมน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า Ghawar ที่ถือเป็นแหล่งหลักของซาอุฯ นับตั้งแต่ที่นำขึ้นมาใช้เป็นกำลังการผลิตจริงในปี 1951 โดย ณ ปี 2003 มีการประมาณการว่าสามารถผลิตได้ถึงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตรวมของซาอุฯ หรือ 7% ของกำลังการผลิตของทั้งโลก
แม้ว่าทางซาอุฯจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังให้ข้อมูลว่า Aramco สามารถผลิตได้ถึง 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี แหล่ง Ghawar ดูเหมือนว่าจะมีกำลังการผลิตลดลงเหลือ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยรายงานไว้ว่าผลิตได้ 5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2004 ทว่าแหล่งน้ำมันดิบหลุมอื่นๆได้เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น โดยหลุมน้ำมัน Shaybah ทางใต้ของซาอุฯใกลักับชายแดนของ ประเทศ UAE และ หลุมน้ำมัน Safaniyah ในอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนี้ หลุมน้ำมัน Khurais ซึ่งใกล้กับแหล่ง Ghawar ที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศ มีการสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มทำการผลิตในปี 2009 ด้วยกำลังการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยล่าสุด Aramco ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับอุปสงค์ของน้ำมันดิบ ว่าจะมีปริมาณสูงสุดในปี 2030 ทว่าการบริโภคจะเติบโตเฉลี่ย 0.5% ต่อปี ลดลงเป็นอย่างมากจาก 0.9% ระหว่างปี 2000-2017 โดยการขึ้นมาของยานยนต์ไฟฟ้าจะมาลดอัตราการเติบโตอุปสงค์ของน้ำมันแต่ไม่ได้หยุด การเติบโต
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นมาของกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุม CO2 ที่ปล่อยออกมาจากเชื้อเพลิงอย่างน้ำมัน จะนำมาซึ่งการลดการใช้น้ำมัน ทว่า Aramco จะได้รับผลกระทบค่อนข้างช้ากว่าคู่แข่ง เนื่องจากมีรายงานว่า Aramco ปล่อยของเสียสู่อากาศน้อยกว่าบริษัทน้ำมันแห่งอื่น โดยซาอุฯ ปล่อยของเสียจากเชื้อเพลิงน้อยกว่าเวเนซุเอล่าถึง 3 เท่าตัว
ทั้งนี้ มีเกร็ดที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับ Aramco ดังนี้
ความสำเร็จของ Aramco เป็นผลงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกษัตริย์ของซาอุฯ ด้วยการตัดสินใจของ Aramco ที่จะเปลี่ยนโฟกัสออกจากผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบ น่าจะส่งผลให้รัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบของนโยบายการคลัง นั่นคือรัฐบาลซาอุฯ จะตัดสินใจนำเอาเงินทุนออกจากบริษัท ณ เวลาใดก็ได้ โดยระบบการปกครองของซาอุฯ ทั้งกษัตริย์และรัฐบาลอยู่เหนือกฎหมาย
แม้ว่า Aramco จะมีสิทธิ์ต่อการขุดเจาะหลุมน้ำมันต่างๆ ผ่านการทำสัญญากับรัฐบาล ทว่ารัฐบาลยังมีสิทธิ์เหนือ Aramco ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามในอนาคต
Aramco เป็นกลไกหลักที่ทำให้ซาอุฯ ยังเดินต่อไปได้ โดยเซกเตอร์น้ำมัน คิดเป็น 63% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาลในปี 2017 สิ่งนี้ ทำให้รัฐบาลซาอุฯ ต้องการให้ Aramco มีความเข้มแข็ง
แม้ Aramco จะสามารถทำกำไรได้มากที่สุดในบรรดาบริษัทน้ำมันทั่วโลก ทว่าก็ต้องจ่ายเงินให้กับรัฐบาลเยอะเช่นกัน ในปี 2018 Aramco ต้องจ่ายถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ให้รัฐบาลซาอุฯในรูปแบบของภาษีเงินได้ นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายค่า royalty ให้กับรัฐบาลสำหรับน้ำมันทุกบาร์เรลที่ขายได้ ซึ่งในปัจจุบันต้องนำมาเข้ามาบันทึกในบัญชีด้วย รวมถึงจ่ายเงินปันผลมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในรูปแบบของเงินปันผลที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีที่จ่ายได้
ทั้งนี้ Aramco ขายน้ำมันให้กับตลาดในประเทศด้วยราคาที่ถูกมากตามนโยบายของรัฐบาล โดยเมื่อก่อน ไม่สามารถมาชดเชยค่าเสียโอกาสดังกล่าวจากรัฐบาล แต่เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว Aramco สามารถรับเงินค่าชดเชยจากรัฐบาลมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ราว 11% ของรายได้รวม
ท้ายสุด Aramco เป็นผู้ขายวัตถุดิบให้กับ SABIC บริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของซาอุฯ ด้วยราคาที่รัฐบาลกำหนด ซึ่ง Aramco กำลังจะเข้าซื้อกิจการของบริษัท SABIC ในสัดส่วน 70% จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งประเทศซาอุฯในขณะนี้ ซึ่งไม่ปรากฎชัดเจนว่ามีการจ่ายค่าเสียโอกาสด้านราคาของวัตถุดิบข้างต้นต่อ Aramco โดยรัฐบาลซาอุฯหรือไม่
โดยสรุป Aramco เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่น่าจับตามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่จะคาดว่าเข้าเทรดครั้งแรก หรือ IPO ในตลาดหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่ที่สุดในโลกในปีหน้า นั่นก็หมายความว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงนั้นจะเป็นขาขึ้นเช่นกัน
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647030