บริษัทพฤกษา บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในแง่ของยอดขาย กำลังเข้าสู่ธุรกิจใหม่คือ “โรงพยาบาล” จากรายละเอียดที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าการลงทุนในโครงการแรกนี้มากถึง 4,900 ล้านบาท
ชื่อของโรงพยาบาลคือ วิมุตติ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งถ้าดูจากชื่อ และมูลค่าโครงการแล้ว ก็คาดว่าจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รับผู้ป่วยต่างชาติด้วย และดูจากการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาพร้อมกัน น่าจะหมายความว่าเป้าหมายของพฤกษาคงไม่ได้สร้างแค่โรงพยาบาลเดียว แต่น่าจะเป็นเชนโรงพยาบาลทั่วประเทศ
แหล่งเงินสนับสนุนก็น่าจะมาจากธุรกิจอสังหาของพฤกษาที่ผลิตเงินสดได้ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าถ้าพฤกษาจะสร้างโรงพยาบาลปีละ 1 โรงก็ยังได้ ที่น่าสนใจคือกำไรต่อปีของพฤกษาตอนนี้ก็ใกล้เคียงกับกำไรของ BDMS ที่มีเครือข่ายทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ พญาไท สมิติเวช เปาโล ทุกสาขารวมกัน จึงเรียกได้ว่าเบอร์หนึ่งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีศักยภาพทางการเงินที่ไม่ด้อยไปกว่าเบอร์หนึ่งของธุรกิจโรงพยาบาล
เรื่องนี้เป็นการพลิกธุรกิจที่น่าศึกษา เพราะใครๆก็บอกว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง เป็นวัฏจักร พร้อมจะล้มทุกเมื่อถ้าฟองสบู่แตก ตัวอย่างคือมีบริษัทอสังหามากมายล้มในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผลก็เลยทำให้ถึงแม้บริษัทจะมีกำไรมากแค่ไหน ตลาดก็ให้มูลค่าบริษัทโดยเฉลี่ยก็แค่ PE 6-8 เท่าของกำไร
แต่ในทางกลับกันตลาดชื่นชอบกลุ่มโรงพยาบาลมาก ทุกคนคิดว่าเป็นกลุ่มที่รายได้สม่ำเสมอไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีเพราะการป่วยมีตลอดเวลา ลูกค้าต่อรองราคาไม่ได้ อัตรากำไรดีมาก และดีมากขึ้นถ้าเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ตลาดเลยให้ PE 40-50 ของกำไร
พอตรรกะเป็นอย่างนี้ ก็เลยเกิดเรื่องแปลกๆในตลาดหลักทรัพย์ ทุกวันนี้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำไรต่อปี 1,000 ล้านบาท จะมีมูลค่าบริษัทใกล้เคียงกับโรงพยาบาลที่มีกำไรต่อปีแค่ 100 ล้านบาท ทั้งที่ความจริงแล้วกว่าที่โรงพยาบาลนั้นจะมีกำไรเป็น 1,000 ล้านบาท ต้องใช้เวลาเป็นสิบปีในการเติบโต
บริษัทพฤกษาเลยบอกว่าไม่เป็นไร งั้นเราชะลอการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว มาทำโรงพยาบาลแทนดีกว่า ได้มูลค่าเพิ่มมากกว่าตั้งเยอะ ลงเงินทุนสร้างโรงพยาบาลไป 4,900 ล้านบาท ต่อให้โครงการ 10 ปีคืนทุน หรือกำไรปีละ 490 ล้านบาท แต่มูลค่าที่เกิดขึ้นก็ยังได้มากถึง 24,500 ล้านบาท เพราะตลาดให้ PE 50 เท่า ยังดีกว่าเอาเงินไปสร้างทาวน์เฮ้าส์ขายถึงแม้ว่าจะคืนทุนบวกด้วยกำไรในไม่กี่เดือน แต่ตลาดไม่ให้คุณค่าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพราะกลัวว่าปีต่อๆไปจะขายไม่ได้เหมือนปีนี้
ก็น่าติดตามว่าเมื่อพฤกษามีโรงพยาบาลหลายแห่งผสมกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว การเกลี่ย PE ระหว่าง PE8 เท่า กับ PE50 เท่า จะเป็นอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นส่วนผสมที่ท้าทายการให้มูลค่าของตลาดอยู่เหมือนกัน
แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อทุกคนเห็นว่าธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ดี ทุกคนก็อาจจะแห่กันมาทำธุรกิจนี้ และธุรกิจโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วจะถอนตัวยาก เพราะมีต้นทุนสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลที่ลงไปแล้ว และใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ถึงแม้ขาดทุนก็คงต้องอยู่ฝืนแข่งขันไปเรื่อย จนสุดท้ายธุรกิจนี้อาจจะกลายเป็น Red Ocean ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ระยะยาวโรงพยาบาลเดิมก็คงถูกผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย จากการโดนผู้เล่นรายใหม่แย่งหมอ ผู้บริหาร คนไข้ และการแข่งขันเรื่องราคา