Starbucks เป็นเชนร้านอาหารที่มีมูลค่าอันดับที่ 2 ของโลก รองจาก McDonald ปัจจุบัน starbucks มี 25,000 สาขา บริษัทบริหารครึ่งนึง และให้ license คนอื่นบริหารอีกครึ่งนึง
ในประเทศไทยมี starbucks ทั้งหมด 273 ร้าน เป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศที่บริษัทแม่ลงมาบริหารเองทั้งหมดและ 1 ใน 2 ประเทศที่ starbucks มีศูนย์กระจายสินค้าตั้งอยู่นอกอเมริกา
ที่น่าสนใจคือ starbucks มีอัตรากำไรสุทธิเพียง 13% ถ้ากาแฟ starbucks มีราคาต่อแก้วเฉลี่ย 130 บาท แปลว่า จะมีกำไรต่อแก้วเพียง 17 บาท
เปรียบเทียบกับกาแฟรถเข็น ราคาขาย 30 บาทต่อแก้ว ต้นทุนประมาณ 10 บาท คิดแล้วมีกำไรต่อแก้ว 20 บาท มากกว่ากาแฟ starbucks
ทำไม starbucks ที่ขายราคาแพง มีกำไรน้อยกว่ากาแฟรถเข็น?
เพราะว่ากาแฟรถเข็นสามารถประหยัดต้นทุนหลายอย่างที่ไม่ต้องเสียเหมือน starbucks โดยค่าเช่าพื้นที่คือต้นทุนที่มากที่สุดของ starbucks เฉลี่ยแล้วคิดเป็น 31 บาทต่อ 1 แก้ว เพราะต้องเช่าห้างดังทำเลดีที่มีค่าเช่าแพง แค่ค่าเช่าที่ starbucks ต้องเสียต่อแก้ว ก็มากกว่าราคาขายของกาแฟรถเข็นแล้ว
โดยเฉลี่ยแล้วใน 1 วัน 100 แก้วแรกที่ starbucks ขายจะนำมาจ่ายเป็นค่าเช่า อีก 200 แก้วถัดมาจะจ่ายเป็นค่าภาษีเงินได้ ค่าตกแต่งร้าน ค่าบริหารจัดการร้าน หมายความว่าถ้าวันหนึ่ง starbucks ขายได้น้อยกว่า 300 แก้ว starbucks จะขาดทุน นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ starbucks ไม่ลงทุนเองในสาขาทั้งหมด ส่วนใหญ่จะให้ license คนอื่นในประเทศนั้นๆลงทุน และ มีเพียงแค่ 12 ประเทศที่ starbucks เลือกลงทุนเองโดยตรง
ต่างจากรถเข็นถ้าขายไม่ดี อย่างมากก็เปลี่ยนที่ขายใหม่ ต้นทุนค่าเช่า ค่าตกแต่งร้าน ภาษี คือ 0 บาท เริ่มกำไรตั้งแต่แก้วแรกที่ขาย และอาจจะได้ทำเลดีไม่แพ้กันถ้าเข็นไปตั้งหน้าตึกที่มีคนทำงานหนาแน่น
จะเห็นได้ว่ากาแฟรถเข็นมีอัตรากำไรที่ดีกว่า และเสี่ยงน้อยกว่า starbucks ถ้ารถเข็นคันหนึ่งไปขายที่ทำเลดีมีคนซื้อตลอดก็อาจจะได้กำไรเหมือนกับการเป็นเจ้าของ starbucks 1 สาขา หรือเจ้าของร้านกาแฟทั่วไปที่มีต้นทุนค่าเช่าค่าพนักงาน
สิ่งที่รถเข็นจ่าย คือแค่ค่าวัตถุดิบ อุปกรณ์เล็กน้อย และ แรงตัวเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกวันนี้เราไม่อยากออกแรงตัวเอง