กำไรของบริษัทอิชิตันย้อนหลังเป็นดังนี้
ปี 2557 อิชิตันมีกำไร 1,078 ล้านบาท
ปี 2558 อิชิตันมีกำไร 813 ล้านบาท
ปี 2559 อิชิตันมีกำไร 369 ล้านบาท
ปี 2560 ไตรมาสแรก อิชิตันมีกำไรลดลง -75% จากปี 2559
ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของอิชิตัน โดยบริษัทให้เหตุผลไว้ว่าตลาดชาไม่เติบโต และมีการแข่งขันทางด้านราคาคู่แข่งคนสำคัญของอิชิตัน คือบริษัทโออิชิ ที่คุณตันได้สร้างมากับมือ และขายให้เสี่ยเจริญไป
เรามาดูกำไรของบริษัทโออิชิย้อนหลังกัน
ปี 2557 โออิชิมีกำไร 525 ล้านบาท
ปี 2558 โออิชิมีกำไร 712 ล้านบาท
ปี 2559 โออิชิมีกำไร 887 ล้านบาท
ปี 2560 งวด 6 เดือนแรก (รอบปีของโออิชิจบที่เดือน 9) โออิชิ มีกำไรเพิ่มขึ้น 29% จากปี 2559
ถ้าได้เห็นอย่างนี้ ก็ดูเหมือนว่าการแข่งขันทางด้านราคานี้โออิชิจะเป็นผู้ชนะ ใน 4 ปีที่ผ่านมา โออิชิกำลังบีบกำไรของอิชิตันไปเรื่อยๆ
จนอิชิตันต้องหันไปหาตลาดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งตอนนี้ก็ยังขาดทุนที่ตลาดนี้อยู่
อิชิตันไปซื้อ Bireley มา ก็ดูเหมือนจะเหนื่อยกับแบรนด์นี้เช่นกัน
ล่าสุดอิชิตันออกเครื่องดื่มชูกำลัง T247 ก็คงต้องเอาใจช่วยว่าเครื่องดื่มนี้จะมีคนดื่มกัน
ที่น่าสนใจคือ ราคาหุ้นของอิชิตันลดลงเรื่อยมาจากจุดสูงสุดที่ 29.75 บาทเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ตอนนี้ราคาหุ้นเหลือ 8.75 บาท ใครซื้อที่จุดสูงสุดตอนนี้เขาจะขาดทุนมากถึง -70%
หมายความว่าถ้าเราเริ่มลงทุนหุ้นนี้ด้วยเงิน 1,000,000 บาท เราจะเหลือเงินเพียง 300,000 บาท
เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นโหดร้ายอยู่เสมอกับบริษัทที่ถดถอย
และเรื่องนี้ทำให้คิดได้ว่า ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว..
การที่คุณตันขายโออิชิเพื่อเอาเงินก้อนแล้วมาเปิดอิชิตันแข่ง กับ การที่คุณตันเลือกที่จะไม่ขายโออิชิตั้งแต่แรก อย่างไหนจะดีกว่ากัน กันแน่?
ที่มาบทความ : http://longtunman.com/693